สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท |
รายงานการศึกษาภาคสนามของกลุ่มที่ 6 เรื่อง "อิทธิพลของสื่อสารมวลชนต่อชาวบ้านหมู่บ้านโนนเขวา และบึงสวาง" "สื่อสารมวลชน" เป็นคำที่มีการกล่าวถึงอยู่เสมอ เนื่องจากมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นสื่อกลางถ่ายทอดสาระ ความรู้ หรือความบันเทิงสู่ผู้บริโภค หรือประชากรของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรในชนบทที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมท้องถิ่น และรับวัฒนธรรมเมืองผ่านทางสื่อสารมวลชนไปพร้อมกัน ซึ่งผลของการสื่อสารมวลชนนี้มีทั้งด้านบวก และด้านลบ และผลทางด้านลบนั้น บ่อยครั้งที่มักเป็นตอของปัญหาสังคม อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวของเยาวชน ดังนั้น ในการศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งที่จะชี้ประเด็นให้เห็นความหลากหลาย และผลจากสื่อสารมวลชนประเภทต่าง ๆ ต่อชาวบ้านหมู่บ้านโนนเขวา และหมู่บ้านบึงสวาง จังหวัดขอนแก่น เพื่อนำเสนอทั้งสภาพเป็นจริงที่พบเห็น และวิเคราะห์ถึงสาเหตุของสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อที่จะกระตุ้นจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สื่อสารมวลชน และอิทธิพลของสื่อสารมวลชนต่อคนในสังคมในการที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป 6.1 วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอิทธิพลของสื่อสารมวลชนที่มีต่อชาวบ้านโนนเขวา และบึงสวาง ในแง่มุมต่าง ๆ 6.2 ขอบเขตของการศึกษา พื้นที่ของหมู่บ้านโนนเขวา และหมู่บ้านบึงสวาง 6.3 วิธีการศึกษา เก็บข้อมูลจากการซักถามในแง่มุมที่ทำการศึกษา, ประมวงเพื่อสรุป และหาข้อเสนอแนะ 6.4 ผลการศึกษาภาคสนาม 6.4.1 สื่อสารมวลชนที่พบในหมู่บ้าน จากการศึกษาพบว่า การสื่อสารมวลชนมีบทบาทต่อชาวบ้านค่อข้างมาก สื่อสารมวลชนที่พบในหมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านโนนเขวานั้นมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หอกระจายข่าว และที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ซึ่งจัดเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิงต่าง ๆ ของชาวบ้านให้หมู่บ้านทั้งสองแห่ง โทรทัศน์ จากการสำรวจโทรทัศน์ เป็นสื่อมวลชนที่ชาวบ้านนิยมบริโภคมากที่สุด ที่หมู่บ้านโนนเขวาทุกหลังคาเรือนจะมีโทรทัศน์ แต่ที่หมู่บ้านบึงสวางจะมีโทรทัศน์ประมาณ 90% เนื่องจากมีอาณาเขตกว้างกว่า บางบ้านไฟฟ้าจึงยังไม่เข้า ชาวบ้านส่วนใหญ่จะรายการบันเทิง มีเพียงชาวบ้านส่วนน้อยเท่านั้น ที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง สารคดี รายการเพื่อการศึกษา หรือรายการเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้โฆษณาทางโทรทัศน์ก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคของชาวบ้านอีกด้วย การที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมดูรายการบันเทิง อาจเป็นเพราะความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน การเรียน หรืออาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของครอบครัว หรือเพราะทั้งบ้านมีโทรทัศน์เครื่องเดียว จึงทำให้ไม่ค่อยสนใจรายการเพื่อการศึกษา สารคดี รายการเพื่อสุขภาพ วิทยุกระจายเสียง จากการศึกษาทราบว่า ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านนี้ไม่นิยมฟังวิทยุมากนัก ชาวบ้านที่ฟังข่าวสารความรู้มักเป็นผู้ใหญ่ หรือผู้ได้รับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูอาจารย์ ซึ่งมักจะนำข่าวสารเหล่านี้มาบอกมาสอนเด็กนักเรียนต่อไป หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์เป็นสื่อมวลชนอีกประเภทหนึ่งที่พบในหมู่บ้าน แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก หนังสือพิมพ์มีน้อยมาก โดยมากมักอ่านที่ศูนย์อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน หรือตามสถานศึกษา หนังสือพิมพ์ที่นิยมอ่าน คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ส่วนข่าวที่นิยมอ่าน ได้แก่ ข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง นอกจากนี้ยังพบว่า ในหมู่บ้านไม่มีร้านขายหนังสือ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ชาวบ้านไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ หอกระจายข่าว หอกระจายข่าว เป็นสื่อมีคุณสมบัติคล้ายกับวิทยุกระจ่ายเสียง ทุกหมู่บ้านในตำบลจะมีหอกระจายข่าว หอกระจายข่าวนี้จะมีคณะกรรมการคอยดูแลอยู่ และมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ เช่น รายงานการประชุมของคณะกรรมการของหมู่บ้าน ข่าวจากทางราชการ ข่าวสาธารณสุข ข่าวเกี่ยวกับการเกษตร การศึกษา สวัสดิการสังคม ฯลฯ ซึ่งหอกระจายข่าวนี้ ชาวบ้านสามารถรับฟังได้เกือบทุกหลังคาเรือน จึงนับว่าเป็นสื่อที่ค่อนข้างเข้าถึงชาวบ้านในชุมชนได้เป็นอย่างดี ที่อ่านหนังสือ เป็นเหมือนศูนย์กลางการอ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน เพราะตามบ้านทั่วไปจะไม่ค่อยมีหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือมากนัก หากใครต้องการอ่านก็ต้องไปอ่านที่นี่ มีคณะกรรมการดูแลเช่นเดียวกับหอกระจายข่าว ทำให้มีผู้ไปใช้บริการพอสมควร ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และบางครั้งก็ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์กันด้วย 6.4.2 สื่อสาธารณะที่มีในหมู่บ้าน ก) ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน 1. ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านโนนเขวา ที่ตั้ง : บ้านของผู้ใหญ่บ้านชาลี สีดาน้อย โดยจัดบริเวณใต้ถุนบ้านที่ยกพื้นสูง เป็นที่นั่งอ่านหนังสือ โดยมีร้านสำหรับจำหน่ายยาสามัญประจำบ้านด้วย ตั้งเมื่อ : ประมาณ 20 ปีมาแล้ว (พ.ศ.2521) สภาพโดยทั่วไป : ใช้พื้นที่บริเวณใต้ถุนบ้าน ซึ่งเป็นพื้นซีเมนต์ มีโต๊ะ และเก้าอี้หวาย 4 ตัว สำหรับเป็นที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ จัดเก็บไว้กับที่พาด โดยใช้ท่อพลาสติกพีวีซีมาสวมเป็นแกนหนังสือพิมพ์ใกล้ ๆ กัน มีตู้สำหรับใส่หนังสือประเภทอื่น ๆ อยู่ด้วย ประเภทของหนังสือพิมพ์ : เป็นหนังสือพิมพ์ประเภทรายงานเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไป คือ ไทยรัฐ และเดลินิวส์ ไม่มีหนังสือพิมพ์ชนิดอื่น ๆ หนังสืออื่น ๆ : มักจะเป็นหนังสือที่ส่วนราชการนำมาให้อ่าน เช่น หนังสือเกี่ยวกับการเกษตร หนังสือทางด้านสาธารณสุข เป็นต้น กฎระเบียบของการใช้บริการ : เนื่องจากมักมีชาวบ้านนำไปอ่านแล้ว ไม่ค่อยนำมาคืน จึงต้องมีการตั้งกฎระเบียบขึ้น เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงกัน โดย 1. สำหรับหนังสือพิมพ์ ถ้ายืมออกไปข้างนอกได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง 2. หนังสือพิมพ์ย้อนกลังนานเกิน 23 วัน อนุญาตให้ชาวบ้านนำไปได้ 3. หนังสืออื่น ๆ ให้อ่านได้ในที่ที่จัดไว้ให้ ผู้ใช้บริการ : ผู้ใช้บริการมีหลายประเภท ได้แก่ 1. เด็ก มักให้หาข่าว เพื่อจุดประสงค์ในการเล่าข่าวในโรงเรียน โดยจะหาข่าวทุกประเภท ทั้งเกษตร เศรษฐกิจ การเมือง กีฬา บันเทิง 2. ชาวบ้าน มักสนใจในข่าว เศรษฐกิจ การเมือง และข่าวอาชญากรรมมากกว่าข่าวการสาธารณสุข ข่าวการเกษตร 3. ครู อาจารย์ จากโรงเรียนไตรมิตรวิทยาคาร ซึ่งตั้งใกล้ ๆ กับบ้านของผู้ใหญ่บ้าน มาใช้บริการเช่นเดียวกัน โดยมักจะยืมไปอ่านที่โรงเรียน บางครั้งก็นำกลับไปที่บ้านด้วย แล้วนำมาคืนภายหลัง ความสดของข่าว : โดยปกติ ทางอำเภอจะจัดเตรียมหนังสือพิมพ์ไว้ให้วันละ 2 ฉบับ คือ ไทยรัฐ 1 ฉบับ และเดลินิวส์ 1 ฉบับ โดยผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ไปรับ และต้องเซ็นรับทุกครั้ง แต่เนื่องจากตัวอำเภอค่อนข้างไกล จึงไม่สะดวกที่จะไปรับเองทุกวัน ทำให้บางครั้งไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับของวันนั้น ๆ มาวางไว้ให้อ่าน จึงมีการฝากรับ คือ ใครเข้าอำเภอก็ให้รับหนังสือมาด้วย ปัญหา และอุปสรรค์ : ระยะทางระหว่างหมู่บ้าน และตัวอำเภอค่อนข้างไกล ทำให้เกิดความลำบากในการเดินทาง บางครั้ง 2-3 วัน จึงจะได้หนังสือพิมพ์มาสักครั้ง ทางอำเภอจะเก็บหนังสือไว้ให้ประมาณ 3 วัน ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าเกิน 3 วันไปแล้ว จะเก็บเข้าไปหมด ไม่นำออกมาให้แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ต้องเซ็นรับ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ ไม่มารับมิได้ โดยทางอำเภอจะหักภาษีตอนปลายปีของผู้ใหญ่บ้านไปเป็นค่าหนังสือพิมพ์ 2. ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านบึงสวาง ที่ตั้ง : ตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน โดยก่อสร้างเป็นห้องเล็ก ๆ ด้วยปูนซีเมนต์ ตั้งเมื่อ. : พ.ศ. 2525 วัตถุประสงค์ : เพื่อถ่ายทอดข่าวสารแก่ชาวบ้าน โดยมีคณะกรรมการร่วมดูแลรักษา ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านเนเจ้าหน้าที่ประจำในการดูแลการประชาสัมพันธ์ ปัจจุบัน : หอกระจายข่าวหมู่บ้านโนนเขวา ได้รับคัดเลือกให้เป็น หอกระจายข่าวดีเด่นระดับอำเภอบ้านฝาง ประกาศผลเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2541 โดยรับรางวัลในวันที่ 20 มี.ค. 2541 (ซึ่งตรงกับวัน อสม.) 2. หอกระจายข่าวหมู่บ้านบึงสวาง ที่ตั้ง : บ้านของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ชื่อ "นายเหลือ แดง" (เดิมตั้งอยู่ที่วัดนาฬิการาม ย้ายมาไว้ที่บ้านของนายเหลือ เมื่อเร่มเป็นผู้ช่วยเมื่อ พ.ศ. 2535) ตั้งเมื่อ : พ.ศ. 2531 ที่วัดนาฬิการาม การริเริ่มจัดตั้ง : โดยทาง ส.ส. เป็นผู้ซื้ออุปกรณ์มาให้ในครั้งแรก วัตถุประสงค์ : เพื่อเป็นสื่อกลางในการกระจายข่าวสารข้อมูลสู่ประชาชน ปัจจุบัน : - นำมาใช้เปิดเทปจากทางราชการเฉพาะที่ส่งมาให้ 1 ม้วน เปิดประมาณ 2-3วัน - นำมาให้ชาวบ้านเช่าไปใช้งานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานศพ งานแต่งงาน เป็นต้น โดยเงินที่ได้นำมาใช้ซ่อมแซมดูแลรักษาอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี - ซื้อวิทยุมาใช้ใหม่ 1 เครื่อง (1,300 บาท) ประมาณ 3 ปีแล้ว ตอนนี้เล่นได้แต่เทป ไม่สามารถรับคลื่นวิทยุได้ มาตั้งแต่ต้นปี 2541 นี้ ค) โรงเรียน ชื่อ : โรงเรียนไตรมิตรวิทยาคาร ที่ตั้ง : อยู่ในเขตหมู่บ้านโนนเขวา เป็นโรงเรียนสำหรับ 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านโนนเขวา หมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านหนองบัว ผู้ใช้บริการ : นักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโรงเรียนอยู่แล้ว การบริการ : 1. ห้องสมุด ส่วนใหญ่มักเป็นหนังสือเรียน โดยเปิดข่าวประจำวันให้นักเรียนฟัง 2. เปิดเสียงตายสายในโรงเรียน โดยเปิดข่าวประจำวันให้นักเรียนฟัง 3. มีการเล่าข่าวหลังจากเคารพธงชาติ ก่อนเข้าชั้นเรียน โดยครูและนักเรียน 6.4.3 สื่ออื่น ๆ ในหมู่บ้านบึงสว่าง จากการศึกษาพบว่า ยังมีการสื่อสารที่นอกเหนือจากการสื่อสารมวลชน และเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากชาวบ้าน ได้แก่ 1. การพูดคุย 2. ป้ายโฆษณา 3. รถขายของต่าง ๆ การพูดคุย เป็นการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่พบอยู่ทั่วไปที่เริ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีความเรียบง่าย และตรงต่อกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร สามารถที่จะมีการตอบสนองกลับโดยตรง ป้ายโฆษณา เป็นสื่ออีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความสนใจ เช่น โฆษณายา แชมพู สบู่ของใช้ต่าง ๆ เป็นต้น รถขายของต่าง ๆ เป็นการสื่อสารของคนที่เป็นกลุ่ม โดยมีแหล่งข้อมูลมาจากพื้นที่อื่น มีการเข้ามาขายของสัปดาห์ละประมาณ 1 ครั้ง เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกิดในการกระทำอื่น ๆ ไปพร้อมกัน โดยที่กลุ่มเป้าหมายสามารถรับรู้ข่าวสารได้เอง 6.4.4 สื่อสุขภาพนอกหมู่บ้าน จากการศึกษาพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพอนามัย จากโรงพยาบาลประจำอำเภอบ้านฝาง สถานีอนามัยประจำตำบลบ้านเหล่า การเรียนรู้จากทางโรงเรียน รวมทั้งการได้รับความรู้จากที่ทำงานของแต่ละบุคคล ตลอดจนได้รับจากบุคลากรด้านสาธารณสุขของรัฐ แต่ได้รับจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์เพียงเล็กน้อย 6.4.5 สื่อกับการศึกษาในระบบ การศึกษาในระบบนี้ มีโรงเรียนไตรมิตรวิทยาคาร เป็นโรงเรียนของเด็กใน 3 หมู่บ้านใกล้เคียงคือ หมู่บ้านโนนเขวา หมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านหนองบัว ปัจจุบันอยู่ในการบริหารของอาจารย์ใหญ่ คือ "นายสำลี นวดขุดดี" ในโรงเรียนมีอาจารย์ทั้งหมด 9 คน นักการภารโรง 1 คนมีนักเรียน 150 คน เป็นนักเรียนชาย 88 คน นักเรียนหญิง 62 คน แบ่งชั้นเรียนเป็นชั้นเด็กเล็กเทียบเท่าอนุบาล 2 และชั้น ป.1 - ป.6 ระดับอายุนักเรียน 5-12 ปี จากการสำรวจพบว่าสื่อการสอนส่วนใหญ่อยู่ในรูปประกอบด้วยรูปภาพ ภาพพลิกบัตรคำ และมีสื่ออื่น ๆ ที่พบคือ ชุดทดลองทางวิทยาศาสตร์ โทรทัศน์จะมี 1 เครื่อง เป็นอุปกรณ์การสอนเสริม ที่นำมาจากสำนักงานการประถมศึกษาประจำจังหวัด (สปจ.) เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กประถมศึกษาปีที่ 6 เกี่ยวกับดวงดาว ซึ่งจะเป็นที่สนใจ และชื่นชอบสำหรับเด็กนักเรียนมาก และเด็ก ๆ จะชอบดูพวกการ์ตูน หรือละครซึ่งบางครั้งอาจารย์จะเปิดให้ดูเมื่อมีคาบว่าง หรือเมื่ออาจารย์ประจำวิชานั้น ๆ ไม่มาสอน แต่โอกาสในการมาดูนั้นจะเป็นนาน ๆ ครั้ง เหตุเพราะว่าไม่ค่อยมีการนำ VDO มาเปิด เพราะไม่มี หาลำบาก หรือเครื่องเล่น VDO เสียบ้าง และในช่วงเปิดเทอมครูจะเร่งทำการสอนให้จบหลักสูตรให้ทัน จึงไม่ได้พาเด็ก ๆ มาดู และจะมีปัญหาสำหรับห้องดูโทรทัศน์ คือ ปัญหาด้านสถานที่ สถานที่คับแคบไป การจัดสถานที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดเสียงรบกวนกับห้องเรียนที่ทำการสอนอยู่ ปัญหาด้านการเคลื่อนย้ายนักเรียนมาดูโทรทัศน์ ซึ่งเดินผ่านักเรียนห้องอื่นที่ทำการเรียนอยู่ อาจทำหใเสียสมาธิได้ แต่จากการสำรวจความคิดเห็น ส่วนใหญ่ของเด็กนักเรียนพบว่า เด็กยังคงต้องการให้มีห้องโทรทัศน์อย่างนี้ไว้ เพื่อเป็นการผ่อนคลายในยามว่าง พร้อมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทักษะ และรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ โรงเรียนยังมีวิทยุสำหรับให้นักเรียนฟัง 3 เครื่อง เด็กนักเรียนจะรับรู้ข่าวสารผ่านทางหอกระจายเสียงของโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งทางโรงเรียนจะเปิดทุกเช้า ซึ่งจะเป็นที่สนใจของเด็กบางกลุ่ม เช่น นักเรียนชั้น ป.5 - ป.6 เท่านั้น สำหรับในด้านความต้องการสื่ออื่น ๆ หรือพัฒนาสื่อที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นพบว่า อาจารย์และนักเรียนมีความต้องการสื่อต่าง ๆ เพิ่มเติมอีก โรงเรียนมีความสนใจที่จะจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่ และให้ความรู้กับนักเรียน และบุคลากรทั่วไป แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดประกอบกับโรงเรียน ตั้งอยู่ในท้องถิ่นธุรกันดารจึงทำให้ขาดแคลนบุคลากร และวัสดุทางการศึกษา อีกทั้งยังขาดการจัดระบบบริหารสื่อที่แน่นอน แต่ทางนักเรียนก็มีความเข้าใจ และกระตือรือร้นที่จะรับสื่อข่าวสารจากภายนอกเป็นอย่างดี ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสื่อในการศึกษาในระบบมีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีผลต่อการศึกษาของเด็ก เป็นส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็ก เป็นทางสื่อสารของข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ช่วยยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก 6.4.6 ทัศนคติของชาวบ้านต่อสื่อมวลชน ก) ทัศนคติของคนในชุมชนที่มีต่อ PUBLIC MEDIA "PUBLIC MEDIA" ในที่นี้หมายถึง สื่อสาธารณะ บริการสังคมที่ถูกจัดหามาเพื่อเป็นการกระจายข่าวสารจากส่วนกลางสู่ชุมชน ในการออกสำรวจเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่บ้านบึงสวาง จากกลุ่มของราษฎร จำนวน 10 หลังคาเรือน มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ได้แก่ กรณีศึกษาที่ 1 ผู้หญิงอายุประมาณ 30 ปี อาชีพค้าขาย กรณีศึกษาที่ 1 นี้ มีพฤติกรรมที่ค่อนข้างปิดกั้นตนเองต่อสื่อจากภายนอก ดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมเดิมตั้งแต่เกิด และไม่มีการย้ายถิ่นฐาน สนใจสื่อโทรทัศน์มากที่สุด เนื่องจากเป็นสื่อที่ให้ความบันเทิง ทั้งภาพ และเสียงอีกทั้งจะมีการเคลื่อนไหว นิยมดูรายการละครช่วงที่ 3 และช่อง 7 หลังเวลา 21.00 น. ดูข่าวบ้างบางครั้ง ส่วนสื่ออื่น เช่น วิทยุ และสิ่งพิ่มพ์นั้นไม่สนใจโดยสิ้นเชิง เนื่องจากยังอ่านหนังสือไม่ค่อยแตก และไม่ให้ความสนใจกับวิทยุเท่าใดนัก ส่วนข่าวสารทั่วไปจะรู้มาจากสามี เพื่อนบ้าน หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร สรุป ในกรณีศึกษาที่ 1 นี้พบว่า เป็นผู้ที่มีการศึกษาน้อย และไม่สนใจต่อสื่อต่าง ๆ รอบตัวเท่าที่ควร มักจะหันเข้าหาสื่อเพื่อความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ กรณีศึกษาที่ 2 ผู้หญิงอายุ 20 ปี เป็นลูกสาวของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน การศึกษาระดับปวส. กรณีศึกษาที่ 2 นี้ มีสถานภาพทางสังคมในระดับชุมชนค่อนข้างดี มีความสนใจในสื่อแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ และวิทยุ โทรทัศน์ มีความสนใจในข่าวสารรอบตัวพอสมควร โดยเฉพาะข่าวบันเทิง ดารา นักร้อง รวมถึงความเป็นไปของคนในเมืองหลวง สรุป จะพบว่าเนื่องจากกรณีศึกษาที่ 2 เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และใช้ชีวิตในเมืองหลวง จึงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างกว่ากรณีศึกษารายอื่น กรณีศึกษาที่ 3 ผู้หญิงอายุ 36 ปี อาชีพรับจ้างในโรงงาน ในกรณีศึกษาที่ 3 นี้ เคยทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มาก่อน แต่เมื่อกลับเข้ามาประกอบอาชีพยังถิ่นฐานเดิม ไม่ได้รับสื่อจากภายนอกเท่าที่ควร สรุป กรณีศึกษารายนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในหลาย ๆ รายที่ไม่ได้รับสื่อ ทั้ง ๆ ที่มีความสนใจต่อข่าวสาร กล่าวโดยสรุป ในแต่ละกรณีก็ล้วนแล้วแต่มีพฤติกรรมที่หลากหลายน่าสนใจ และพบว่ากลุ่มแม่บ้าน หรือผู้มีอาชีพค้าขายทั่วไปนิยมบริโภคสื่อที่มุ่งให้ความบันเทิงเป็นหลัก โดยสื่อได้รับความนิยมมากที่สุด คือ โทรทัศน์ ส่วนทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ และการกระจายเสียงกลับมิได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร อาจมีสาเหตุมาจากการไม่รู้หนังสือ และความไม่สะดวกบางประการ ข) ทัศนคติของชาวบ้านต่อสื่อสารมวลชนประเภทโทรทัศน์ จากการสอบถามชาวบ้าน 15 กลุ่มตัวอย่าง โดยใช้เกณฑ์ด้านอาชีพเป็นตัวแบ่ง ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มนักเรียน และกลุ่มคนทำงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีมุมมอง หรือทัศนคติเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนประเภทโทรทัศน์แตกต่างกันออกไป ดังนี้ กลุ่มแม่บ้าน ส่วนใหญ่มักใช้เวลาว่างในการดูโทรทัศน์ รายการที่ชอบมากที่สุดได้แก่ ละคร ซึ่งเสนอทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และไทยทีวีสีช่อง 3 อสมท. รองลงมาคือ รายการข่าว สำหรับประเภทของช่าวที่อยู่ในความสนใจของกลุ่มแม่บ้าน คือ ข่าวการเมือง และอาชญากรรม ส่วนข่าวเศรษฐกิจ และการศึกษาไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร แม่บ้านส่วนใหญ่มีความคิดเห็นตรงกันว่า โทรทัศน์เป็นสื่อสารมวลชนที่สำคัญในการผ่อนคลายความเครียด และนำเสนอความบันเทิงได้หลากหลายรูปแบบ แม้แต่โฆษณาทางโทรทัศน์ก็มีส่วนในการให้ข่าวสารความรู้ได้เช่นเดียวกัน กลุ่มนักเรียน เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ของโรงเรียนไตรมิตรวิทยาคาร ในหมู่บ้านโนนเขวา จากการศึกษาพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ชอบดูรายการภาพยนต์การ์ตูน จากไทยทีวีสีช่อง 9 อสมท. และมักจะมีพฤติกรรมเลียนแบบในการ์ตูนแต่ละเรื่อง รองลงมาคือ สารคดีชีวิตสัตว์ 7 สีคอนเสิร์ต เป็นต้น กลุ่มทำงาน ทัศนคติของกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานในหมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านโนนเขวา ที่มีต่อสื่อประเภทโทรทัศน์ค่อนข้างน่าสนใจ และมุมมองไปในแนวเดียวกัน กล่าวคือ กลุ่มคนทำงานนิยมชมรายการโทรทัศน์ประเภทบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการละครหลังข่าว นอกจากนี้ ยังชอบดูฤรายการประเภทข่าวการเมือง และข่าวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการทำกิน รองลงมา ได้แก่ ข่าวกีฬา 6.5 บทสรุป จากการศึกษาพบว่า ทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อสื่อมวลชนนั้น ชาวบ้านนิยมดูโทรทัศน์มากที่สุด และโทรทัศน์ก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม รวมทั้งความคิด ความเชื่อของชาวบ้านพอสมควร ซึ่งการบริโภคสื่อมวลชนชนิดนี้ ชาวบ้านนิยมบริโภคแต่รายการบันเทิง ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร หากมีการปรับปรุงโดยสอดแทรกเนื้อหาสาระเข้าไว้ในรายการบันเทิงต่าง ๆ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์มากขึ้น สำหรับสือที่จัดว่าเข้าถึงชาวบ้านได้มากคือ หอกระจายข่าว ส่วนสื่อมวลชนที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม คือ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ข้อเสนอแนะ 1. หน่วยงานของภารรัฐ และเอกชนควรให้ความสำคัญในการผลิตสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ควรผลิตรายการที่มีทั้งสาระความรู้ และความบันเทิง รวมอยู่ในรายการเดียวกัน เพื่อทำให้ประชาชนสนใจที่จะรับสื่อมากขึ้น 2. ควรเพิ่มงบประมาณในการสร้าง และซ่อมบำรุงสื่อต่าง ๆในหมู่บ้าน เช่น หอกระจายข่าว , ที่อ่านหนังสือ ฯลฯ เพราะสื่อเหล่านี้สามารถเข้าถึงชาวบ้านมากที่สุด 3. ครู อาจารย์ และผู้ปกครองควรปลูกฝัง แนะนำให้เด็ก ๆ ดูรายการที่มีสาระประโยชน์ให้ความรู้ 4. หน่วยงานของรัฐ และเอกชน ควรจัดหาหนังสือใหม่ ๆ ที่มีความรู้ข่าวสารที่ทันสมัยเข้ามาไว้ในที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อโลก 5. รัฐควรส่งบุคลากรที่มีความรู้ไปแนะนำชาวบ้าน เกี่ยวกับการรับข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อตนเอง
|