สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท |
รายงานการศึกษาภาคสนามของกลุ่มที่ 7 เรื่อง "วิถีชีวิตของชาวบ้านโนนเขวา" ในการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นของชาวชนบท และเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชนบทนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการออกสำรวจพื้นที่เพื่อพบเจอปัญหาอย่าแท้จริง ในการออกภาคสนามของรายวิชา สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท ในวันที่ 15-17 มีนาคม 2541 พบว่า ในปัจจุบันมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 22 ครัวเรือน เป็น 52 ครัวเรือน ทำให้ยอดจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 241 คน แบ่งเป็น เพศชาย 121 คน และเพศหญิง 120 คน จากตัวเลขดังกล่าวได้ทำให้เกิดความสนใจในการพัฒนาของชุมชนที่เกิดขึ้น การเจริญเติบโตของแหล่งชุมชน ย่อมทำให้เกิดการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในชุมชนตามไปด้วย และสิ่งที่เห็นได้ชัดในการเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งของการเลือกประกอบอาชีพ และแหล่งรายได้ของประชากรในชุมชน จากเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันมีอาชีพ และแหล่งรายได้ที่น่าสนใจมากมาย เกิดขึ้นในหมู่บ้านทั้งในลักษระของอาชีพหลัก และอาชีพเสริม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะศึกษาว่าอาชีพ และแหล่งรายได้เหล่านี้ เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในชนบทได้หรือไม่ และมีปัญหาใดเกิดขึ้นในการเลือกอาชีพ และแหล่งรายได้นั้น ๆ รวมถึงปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับชีวิตชาวชนบทในการดำรงชีพ โดยการศึกษาในครั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชนบท อันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ 7.1 วัติถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาข้อมูลของอาชีพ และแหล่งรายได้ของประชากร ในชุมชนหมู่บ้านโนน เขวา 2. เพื่อศึกษาวิธีประกอบการ และปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกอาชีพ และแหล่งรายได้ของชุมชนหมู่บ้านโนนเขวา 7.2 ขอบเขตของการศึกษา 1. สำรวจอาชีพ และแหล่งรายได้ในชุมชนรูปแบบปริมาณ 2. สำรวจอาชีพ และแหล่งรายได้ของประชากรในหมู่บ้านโนนเขวา เลือกศึกษาแหล่งรายได้ที่น่าสนใจ 3. สำรวจภาคสนาม ระหว่างวันที่ 14-19 มีนาคม 2541 7.3 วิธีการศึกษา 1. สำรวจอาชีพ และแหล่งรายได้ในชุมชนในรูปแบบเชิงประมาณ 2. เลือกแหล่งรายได้ที่น่าสนใจ และทำการศึกษาเชิงคุณภาพ 3. สัมภาษณ์บุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่น่าสนใจ 4. รวบรวมข้อมูลจากการออกภาคสนามจัดทำเป็นรูปเล่ม 7.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 1. ทราบข้อมูล และแหล่งรายได้ของประชากรในหมู่บ้านโนนเขวา 2. ทราบวิธีการ และปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกอาชีพ และแหล่งรายได้ของชุมชนหมู่บ้านโนนเขวา 3. ทราบวิถีชีวิตของประชากรในหมู่บ้านโนนเขวา 4. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในชนบท เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา 7.4.1 แหล่งรายได้จากภาคเกษตรกรรม ก) การทำนา การทำนา เป็นอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันมาก จากการสอบถามชาวบ้านหมู่บ้านโนนเขวา ถึงเหตุผลที่เลือกประกอบอาชีพการทำนา ส่วนใหญ่ให้คำตอบว่า เป็นเพราะมีที่ดินเป็นของตนเอง และมีชาวกินไม่อดอยาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่หมู่บ้านโนนเขวา มักประกอบอาชีพการทำนา การทำนาของชาวบ้านในเขตนี้ ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ คือ การทำนาต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ถ้าปีใดฝนตกต้องตามฤดูกาลก็ได้ผลผลิตดี ถ้าปีใดประสบกับแห้งแล้งก็ไม่มีผลผลิตเหลือขายมากนัก ปัญหาในการทำนาของหมู่บ้านก็คือ ปัญหาด้านการผลิต (Production Problem) อันได้แก่ 1. การขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร ทั้ง ๆ ที่ปริมาณน้ำฝนของหมู่บ้านต่อปีอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ปัญหาคือ ดินไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ 2. ดินเค็ม ในภาคอีสานส่วนใหญ่มีปัญหาดินเค็ม ระดับความเค็มจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ บางที่หลังจากขุดสระ น้ำในสระระดับความเค็มสูงกว่าน้ำทะเล ไม่สามารถใช้เพื่อทำการเกษตรได้ ระดับความเค็มของดิน และน้ำจะมีผลกระทบต่อระดับผลผลิตโดยตรง 3. ประสิทธิภาพในการผลิตต่ำ เพราะใช้วิธีการผลิตแบบโบราณ ไม่มีการวางแผนด้านการผลิต 4. เกษตรกรไม่สามารถหาตลาดรองรับผลผลิตได้ ข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านหมู่บ้านโนนเขวา ทราบว่าชาวบ้านนิยมปลูกข้าวเหนียวมากกว่าข้าวจ้าว เพราะชาวบ้านมักจะรับประทานข้าวเหนียว มีแต่เพียงบางบ้านเท่านั้นที่อาจรับประทานข้าวจ้าว สำหรับพันธุ์ข้าวเหนียวที่ชาวบ้านโนนเขวามักนำมาปลูกคือ พันธุ์ กข.6 และจากการสอบถามมีบางครัวเรือนเท่านั้น ที่มีการเพาะปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข.8 (ซึ่งได้รับเมล็ดพันธุ์มาจากอำเภอเกษตรสมบูรณ์) สำหรับพันธุ์าข้าวจ้าวที่ชาวบ้านนิยมปลูกก็คือ พันธุ์หอมมะลิ และพันธุ์ข้าวแดง จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นว่า การที่ชาวบ้านจะได้รายได้จากการทำนานั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก ตลอดทั้งมีค่าใช้จ่ายในระหว่างการเพาะปลูกด้วยนั่นคือ รายจ่ายในการซื้อปุ๋ยเพื่อใช้ในการเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งชาวบ้านจะใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 สูตร 16-20-0 และสูตร 16-8-8 แล้ว แต่ความเหมาะสมของพื้นที่ว่ามีลักษณะดินเป็นเช่นไร รวมทั้งการเลือกซื้อปุ๋ยนั้นยังขึ้นอยู่กับฐานะของเกษตรกรด้วย รายจ่ายอีกส่วนหนึ่งก็คือ ค่าขนส่งปุ๋ยจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส.ไปยังหมู่บ้าน ซึ่งมีค่าจ้างดังนี้ ราคาค่าขนส่งปุ๋ย 10 บาท/ปุ๋ย 1 กระสอบ และค่าขนส่งข้าวเปลือกไปขายที่ตลาด โดยเกษตรกรรายใดที่ไม่มีรถสำหรับขนส่งข้าวเป็นของตนเอง จะต้องจ้างรถโดยสารรับจ้างซึ่งมีอัตราจ้าง 300 บาท/การขนส่ง 1 ครั้ง แนวทางการแก้ไขปัญหาการทำนาในหมู่บ้านโนนเขวา อาจทำได้โดยการจัดหาแหล่งน้ำ ด้วยการสร้างสระน้ำเอนกประสงค์เพื่อการเกษตร สำหรับเป็นที่รองรับน้ำในฤดูฝน ไว้ใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนใช้เลี้ยงปลาเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว ทั้งนี้ เกษตรกรจะต้องปรับและวางแผนในการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น เดิมเน้นการผลิตข้าวเพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนมาเป็นการทำไร่นาสวนผสม เป็นต้น ข) การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่งของสังคมเกษตรกรรมอย่างสังคมไทย จากการที่ได้สำรวจหมู่บ้านโนนเขวา ต.บ้านเหล่า อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ทั้ง 52 ครัวเรือน พบว่าครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ ทั้งเพื่อเป็นรายได้หลักหรือรายเสริม มีทั้งสิ้น 39 ครัวเรือนด้วยกัน จากทั้ง 52 ครัวเรือนนี้ แบ่งเป็นครัวเรือนที่เลี้ยงโค 2 ครัวเรือน ครัวเรือนที่เลี้ยงสุกร 1 ครัวเรือน ครัวเรือนที่เลี้ยงไก่ 38 ครัวเรือน สำหรับครัวเรือนที่เลี้ยงปลาไม่สามารถทำเป็นสถิติได้ เนื่องจากการเลี้ยงปลาจะเลี้ยงเฉพาะช่วงทำนา ระยะนี้ยังอยู่ในช่วงหน้าแล้ง จึงไม่มีครัวเรือนใดเลี้ยงปลา จากการสอบถามชาวบ้านพบว่า สัตว์สำคัญที่ทำรายได้ให้กับชาวบ้านโนนเขวา มี 4 ชนิด คือ ไก่ ปลา โค แะสุกร มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ การเลี้ยงไก่ ชาวบ้านโนนเขวาเลี้ยงไก่เป็นอาชีพเสริมเกือบทุกครัวเรือน โดยปกติแล้วชาวบ้านจะเลี้ยงไก่เพื่อรับประทานเอง เพื่อเป็นการประหยัดรายจ่ายของครอบครัว มิได้มีจุดประสงค์เพื่อขาย ถ้าหากมีใครมาขอซื้อก็จะแบ่งขายเป็นตัว ๆ ไป ไม่ได้คิดจะได้กำไรจากการเลี้ยงไก่อย่างจริงจัง จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่า สาเหตุที่ชาวบ้านเลือกเลี้ยงไก่เพราะต้นทุนในการเลี้ยงไม่แพง สามารถนำข้าวเปลือกที่ได้จากการทำนามาเลี้ยงไก่ได้ เป็นการประหยัดค่าอาหารสัตว์ อีกทั้งราคาแม่ไก่ที่จะซื้อมาทำพันธุ์ หรือลูกไก่ที่จะซื้อมาเลี้ยงก็ไม่แพง สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินใคร ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งจากการเลี้ยงไก่ คือ ขี้ไก่ สามารถนำไปใส่เป็นปุ๋ยต้นไม้อย่างดี จากการสังเกตพบว่า ทุกครัวเรือนมีการเลี้ยงไก่เพียงบ้านละไม่กี่ตัวเท่านั้น สาเหตุสำคัญที่ชาวบ้านไม่เลี้ยงไก่เป็นจำนวนมาก ๆ เนื่องมาจากการเกิดโรคระบาด คือ โรคอหิวาต์ไก่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรคขี้ขาว ซึ่งจะเป็นกันทุกปีในช่วงฤดูร้อน ดังนั้น ชาวบ้านโนนเขวาจึงเลี้ยงไก่ไว้เพื่อรับประทานเป็นหลัก ไม่ได้เลี้ยงไว้เพื่อขาย นอกจากจะมีคนมาขอซื้อเท่านั้น เพราะฉะนั้น รายได้จากการเลี้ยงไก่ จึงเป็นเพียงรายได้เสริม และทำกำไรให้แก่ชาวบ้านเป็นครั้งคราวไป การเลี้ยงปลา เป็นอาชีพที่ทำรายได้เสริมให้กับชาวบ้านโนนเขวา การเลี้ยงปลามักจะทำควบคู่ไปกับการทำนา ครัวเรือนใดที่ทำนาก็มักจะเลี้ยงปลาไปด้วย ปลาที่เลี้ยงมักจะเป็นปลานิล ปลาไน ปลาดุก ปลาช่อน และปลาตะเพียน จะขายในราคาร้อยละ 10-20 บาท ในขณะที่ปลาดุก และปลาช่อนจะขายเป็นตัว ราคาตัวละ 2-3 บาท ชาวบ้านจะเริ่มซื้อปลามาเลี้ยงในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงดำนา และจะขายในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเกี่ยวข้าว ราคาขายจะขายกิโลกรัมละ 40-50 บาท สำหรับปลานิล ปลาไน และปลาตะเพียน และกิโลกรัมละ 60-70 บาท สำหรับปลาดุก และปลาช่อน จากการสอบถาม "นายหนูจันทน์ มาจุฬา" ได้ความว่า ชาวบ้านจะเลี้ยงปลาใน 2 บริเวณ คือ 1. เลี้ยงบริเวณในที่นาปลูกข้าว 2. เลี้ยงในบ่อที่ขุดขึ้นข้างที่นา เป็นบ่อมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร และลึก 3 เมตร การขุดบ่อนี้มักจะประสพปัญหาในเรื่องการลงทุน เนื่องจากชาวบ้านต้องจ้างรถมาขุดบ่อ เมื่อลงทุนขุดบ่อแล้ว บางครั้งฝนก็ทิ้งช่วง ไม่มีน้ำ ไม่สามารถเลี้ยงปลาได้ จึงไม่คุ้มทุน ดังนั้น การเลี้ยงปลาในหมู่บ้านโนนเขวาขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ มีบริเวณเลี้ยงที่เหมาะสม และมีน้ำเพียงพอในการเลี้ยง การเลี้ยงโค เดิมเกษตรกรมักเลี้ยงโคไว้เพื่อใช้แรงงานเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันนี้จุดประสงค์การเลี้ยงโคได้เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเลี้ยงไว้ใช้งานเปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร จากการสำรวจหมู่บ้านโนนเขวาพบว่ามี 2 ครัวเรือน ที่เลี้ยงโคไว้เพื่อขายทำรายได้ให้แก่ครอบครัว โคที่ชาวบ้านเลี้ยงจะเป็นโคเนื้อพันธุ์บราห์มัน ซึ่งเป็นโคพันธุ์เนื้อที่นิยมเลี้ยงกันมาก สามารถทนอากาศร้อนได้ดี เหมาะสมกับภูมิอากาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถต้านทานเห็บได้ดี มีความต้านทานโรคบางอย่างของเมืองร้อนได้ และมีน้ำหนักเมื่อฆ่าแล้วสูงกว่าโคพันธุ์อื่น ๆ ลักษณะเด่นของโคพันธุ์นี้คือ มีตะโหนกใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าตะโหนกเป็นที่สะสมพลังงาน และน้ำเพื่อเอาไว้ในระยะที่ขาดแคลนพลังงาน อาหารและน้ำ แล่งยาวใหญ่และหนังค่อนข้างหลวม หนังใต้ท้องหย่อนยาน หูใหญ่ปรก และหน้าค่อนข้างยาว จุดอ่อนของโคพันธุ์บราห์มันคือขี้อาย ไม่ค่อยผสมพันธุ์ในเวลากลางวัน และขนาดใหญ่เมื่อผสมตามธรรมชาติจะเป็นอันตรายแก่แม่โคพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีขนาดเล็ก การเลี้ยโคนอกจากจะทำกำไรให้ผู้เลี้ยงแล้ว ยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายประการ ได้แก่ 1. ใช้เศษอาหารในไร่นาให้เกิดประโยชน์ เศษอาหารในไร่นาที่สูญเปล่า เช่น ฟางข้าว หญ้า ต้นข้าวโพด จะใช้เป็นอาหารโคได้เป็นอย่างดี และโคจะเปลี่ยนเศษอาหารเหล่านี้เป็นแรงงาน เนื้อและนม ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ 2. มูลโคจะเป็นปุ๋ยที่ดีช่วยบำรุงดินเป็นการเพิ่มปุ๋ยให้แก่ดิน และพืช ทำให้เจริญงอกงาม ตามปกติแล้วแม่โคซึ่งเฉลี่ยน้ำหนัก 1,000 ปอนด์ ในปีหนึ่งจะถ่ายออกมาเป็นมูลโค 15 ตัน 3. ใช้ที่ดินว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ ตามปกติพื้นที่ในไร่นาบางแห่งไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ถ้าหากเลี้ยงโคแล้ว ที่ดินเหล่านี้จะมีประโยชน์ไม่น้อย ในหมู่บ้านโนนเขวา บ้านใดที่เลี้ยงโคก็จะเลี้ยงกันเพียงบ้านละ 2-3 ตัวเท่านั้น เนื่องจากปัญหาเรื่องเงินทุน ชาวบ้านไม่ต้องการไปกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่งต้องเสียอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี นอกจากนี้แล้ว ยังมีสาเหตุมาจากขาดแรงงานในการเลี้ยงโค เพราะคนที่เลี้ยงโคส่วนใหญ่จะเป็นคนชรา ไม่สามารถเลี้ยงโคเป็นจำนวนมากได้ เพราะวัยรุ่นมักไปทำงานในโรงงาน ชาวบ้านจะเริ่มเลี้ยงโค โดยซื้อแม่พันธุ์มาผสมให้ตกลูก หลังจากนั้นจะเลี้ยงลูกโคไว้ประมาณ 1 ปี และขายไปในราคาตัวละประมาณ 11,000 บาท นอกจากชาวบ้านจะเลี้ยงโคไว้ขายโดยตรงแล้ว โคยังสามารถทำรายได้ทางอื่นให้กับชาวบ้านอีกด้วย เช่น บ้านใดที่มีโคตัวผู้ ถ้ามีคนนำโคตัวเมียมาขอผสม ก็จะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 300 บาท นอกจากนี้แล้ว ประการหนึ่งคือ รายได้จากการให้เช่าโค กล่าวคือ ครั้งหนึ่งได้มีนายทุนให้เงินกู้แก่ชาวบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้ระยะเวลา 3 ปี เป็นช่วงปลอดหนี้ หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 แต่ต้องชำระคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยงโค เมื่อให้เงินชาวบ้านกู้ยืมแล้ว ชาวบ้านที่ส่งเงินไม่ครบก็ต้องเสียค่าปรับ บางคนนำเงินไปใช้อย่างอื่น เมื่อนายทุนมาตรวจก็ต้องไปเช่าโคจากคนในหมู่บ้านเพื่อมาให้นายทุนตรวจ โดยจ่ายครั้งละ 200 บาท/วัน และท้ายสุด เมื่อโคที่เลี้ยงไว้แก่ลง สามารถขายให้พ่อค้าคนกลางซึ่งจะนำไปขายต่อให้กับโรงฆ่าสัตว์อีกทอดหนึ่ง ในราคาตัวละ 4,000-5,000 บาท การเลี้ยงสุกร สุกร เป็นสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันมาก เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย และขายได้ราคาดี อีกทั้งประเทศไทยก็เป็นประเทศทีทำนาเป็นหลัก ย่อมมีรำมาก จึงเป็นถิ่นการเลี้ยงสุกรที่สำคัญ จากการสำรวจหมู่บ้านโนนเขวาพบว่า มีเพียงครัวเรือนเดียวที่เลี้ยงสุกร ซึ่งมีโรงสีข้าวด้วย ทั้งนี้เพื่อนำรำที่ได้จากการสีข้าวไปเป็นอาหารสุกร เป็นเกษตรแบบครบวงจร นอกจากนี้แล้วยังรับสีข้าวให้แก่คนในหมู่บ้าน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย ปัญหาที่สำคัญของการเลี้ยงสุกร คือ เรื่องราคาอาหารสุกร จากการสอบถามจาก "นายลาย อุ่นผาง" ได้ความว่า สูตรอาหารที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงหมูในหมู่บ้านโนนเขวา คือ สูตร 3:2:1 นั่นก็คือ รำ 3 ส่วน ปลายข้าว 2 ส่วน และหัวอาหาร 1 ส่วน รำได้มาจากการสีข้าว หากปีใดไม่ได้ข้าวก็ต้องหาซื้อรำในราคาปี๊บละ 20 บาท ปลายข้าวราคาปี๊บละ 60 บาท และหัวอาหารราคาปี๊บละ 50 บาท วันหนึ่ง ๆ สุกรกินอาหาร 2 มื้อ สุกร 5 ตัว จะกินรำ 1 ปี๊บ ปลายข้าว 3 กิโลกรัม และหัวอาหาร 2 กิโลกรัมต่ออาหาร 1 มื้อ ซึ่งนับว่าเป็นภาระที่หนักสำหรับผู้เลี้ยง ปัญหาประการต่อมา คือ เรื่องการขนส่ง ชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวาจะต้องจ้ารถขนสุกรไปขายในเมือง โดยคิดจากน้ำหนักของสุกร 1 กิโลกรัมต่อ 1 บาท ถ้าขนสุกร 3 ตัว ซึ่งหนักตัวละ 100 กิโลกรัม ก็จะเสียค่าขนส่งถึง 300 บาท ทั้งปัญหาเรื่องอาหาร และค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรมีราคาสูงขึ้น กำไรลดลง กำไรจากการเลี้ยงสุกรนั้นขึ้นอยู่กับราคาขาย ถ้าขายได้มากกว่ากิโลกรัมละ 28 บาท ผู้เลี้ยงจะได้กำไร ถ้าต่ำกว่าผู้เลี้ยงจะขาดทุน การสุกรจะชั่งแล้วคิดราคาตามน้ำหนักของสุกร ถ้าสุกรหนัก 80 กิโลกรัม จะขายได้กิโลกรัม 28 บาท ถ้าสุกรหนัก 100 กิโลกรัม จะขายได้กิโลกรัมละ 30 บาท ถ้าสุกรหนัก 120 กิโลกรัม จะขายได้กิโลกรัมละ 28 บาท ราคาจะถูกลงเพราะมีไขมันมาก แม้ว่าการเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพที่ได้กำไรดี แต่ก็มีราคาต้นทุนการเลี้ยงสูงมากจากค่าอาหารและค่าขนส่ง กำไรจากการเลี้ยงสุกรขึ้นอยู่กับราคาเนื้อสุกรตามท้องตลาด ถ้าสุกรราคาดี ผู้เลี้ยงได้กำไรดี หากสุกรราคาตกผู้เลี้ยงจะขาดทุนมาก บางรายอาจต้องเลิกเลี้ยง และหันประกอบอาชีพอื่นก็มี จากข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เห็นได้ว่ารายได้จากการเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้ที่ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ที่เลี้ยง ราคาตามท้องตลาด และต้นทุนการเลี้ยง ซึ่งกำไรที่เกษตรกรได้รับจริงนั้นอาจไม่คุ้มทุน เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงที่ยาวนาน โดยอาจแก้ปัญหาได้โดยเลี้ยงสัตว์หลายชนิดควบคู่ไปกับการปลูกพืช เพื่อเป็นเกษตรแบบผสมผสาน ค) อาชีพรับจ้างด้านเกษตร อาชีพทำนา ถือเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านโนนเขวา หลังจากว่างเว้นจากการทำนา ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้าง เพื่อเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัวไว้ใช้จ่ายได้ตลอดทั้งปี การรับจ้างทำนา การทำนากถือเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านโนนเขวา ชาวบ้านบางคนอาจมีที่นาเป็นของตัวเอง แต่ส่วนหนึ่งที่ไม่มีที่นาเป็นของตัวเองก็ต้องไปรับจ้างทำนา เพื่อจะได้มีรายได้ไว้เลี้ยงครอบครัว คนส่วนใหญ่ที่รับจ้างทำนาจะเป็นคนเก่า ๆ อาจเป็นเพราะคนหนุ่ม ๆ สาว ๆ นิยมไปรับจ้างทำงานในโรงงานมากกว่า - ค่าจ้าง วันละประมาณ 100 บาท โดยเจ้าของที่นาจะเลี้ยงอาหารกลางวันด้วย - ระยะเวลาในการทำงาน เริ่มทำงาน 2 โมงเช้า พักเที่ยง 1 ชั่วโมง เลิกงานบ่าย 3 โมง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงเสร็จ - ช่วงเวลาที่จะจ้างทำนา จ้าดำนา เดือนสิงหาคม จ้างเกี่ยวข้าว เดือนธันวาคม การรับจ้างตัดอ้อย หลังจากเสร็จงานเกี่ยวข้าวในเดือนธันวาคมของทุกปี ชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งว่างจากการทำนา จะไปรับจ้างตัดอ้อยตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น สุพรรณบุรี อุทัยธานี กาญจนบุรี ฯลฯ โดยได้รับการชักชวนจากผู้ที่เคยไปทำงานมาแล้ว ผู้รับเหมาจะรับลูกจ้างทั้งชายและหญิง โดยจะส่งรถมารับและมีที่พักให้ ส่วนอาหารนั้นลูกจ้างจะเตรียมไปเองเพื่อเป็นการประหยัด - อัตราค่าจ้าง คิดเป็นมัด มัดละ 60 บาท มัดหนึ่งมี 10 ลำ วันหนึ่งจะตัดได้ประมาณ 250 มัด - ระยะเวลาในการทำงาน เริ่มทำงาน 9 โมงเช้า พักเที่ยง 1 ชั่วโมง เลิกงานบ่าย 4-5 โมงเย็น - จำนวนลูกจ้าง ประมาณ 40-50 คน เป็นเวลาถึง 20 กว่าปีมาแล้ว ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวา รับจ้างตัดอ้อย เพื่อหารายได้เสริมมาไว้ใช้จ่ายในครอบครัวตลอดฤดูแล้ง ก่อนที่จะถึงฤดูการทำนาในปีต่อไป การรับจ้างตัดไม้ยูคาริปตัส กว่าปีมาแล้ว ที่มีชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวา ไปรับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัส ชาวบ้านเล่าว่าผู้ชักชวนไปทำงานคือ หมอลำ ซึ่งรู้จักกันดี บริษัทรับเหมาจะรับซื้อไร่ยูคาลิปตัสจากชาวบ้านทั้งในจังหวัดขอนแก่นเอง และในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เพื่อที่จะนำไม้ยูคาลิปตัสเข้าไปโรงงานทำกระดาษ ทางบริษัทจะจ้างลูกจ้างไม่มาก ประมาณ 5-6 คน โดยลูกจ้างทั้งหมดจะเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะไปทำอาหารเท่านั้น ต้นยูคาลิปตัสที่เลือกตัดจะมีอายุประมาณ 3-4 ปี ลูกจ้างต้องลิดกิ่งให้เรียบร้อยด้วย ซึ่งกิ่งเล็ก ๆ อาจเอากลับบ้านมาทำฟืนได้ - อัตราค่าจ้าง ติดเป็นตัน ตันละ 130 บาท - ระยะเวลาในการทำงาน ไม่มีกำหนดต้องตัดให้เต็มรถจึงเสร็จงาน การทอผ้า จากการสำรวจ และสอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวาพบว่า แทบทุกบ้านจะมีการทอผ้า ซึ่งจะมีการทอผ้ากันหลายรูปแบบ ทั้งผ้าไหม ผ้าถุง ผ้าขาวม้า โสร่ง ผ้าห่ม ทั้งไว้ใช้กันในครัวเรือน และไว้ขายด้วย ซึ่งถ้าสวยก็จะได้ราคาดี บางคนก็รับจ้างทอผ้า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นคนวัยกลางคนขึ้นไป วัยรุ่นส่วนมากจะทอไม่เป็น ค่าจ้างในการทอผ้าไหม ตั้งแต่ 700-1,500 บาท ขึ้นอยู่กับความสวยของผ้า การทอผ้าถุง ผ้าขาวม้า โสร่ง ชาวบ้านซื้อด้ายมาขีดละ 70 บาท สีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีสด ๆ ชาวบ้านบางคนจะย้อมสีเอง โดยไปซื้อสีย้อมมาจากตลาดซองละ 5 บาท ผ้าผืนหนึ่ง ๆ จะใช้เวลาทอประมาณ 3 วัน - ค่าจ้างในการทอผ้าขาวม้า ถ้าย้อมสีให้แล้ว 100 บาท/ผืน ถ้าไม่ย้อมสีให้ 200 บาท/ผืน การทอผ้าห่ม ชาวบ้านจะซื้อไหมพรมราคากิโลกรัมละ 50 บาท โดยกิโลกรัมหนึ่ง จะทอได้ 4-5 ผืน ผ้าห่มความยาว 2 เมตร จะใช้เวลาทอ 2 วัน - ค่าจ้างในการผอผ้าห่ม 150 บาท/ผืน 7.4.2 แหล่งรายได้นอกภาคเกษตรกรรม ก) รายได้จากอาชีพรับจ้างในระบบอุตสาหกรรม จากการออกสำรวจสอบถามทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านโนนเขวาพบว่า จำนวนกว่า 40 หลังคาเรือน จาก 52 ครัวเรือน ประกอบอาชีพรับจ้าง ในโรงเรียนอุตสาหกรรมแต่จากการสอบถามสัมภาษณ์ยังพบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่ทิ้งอาชีพในการเกษตรกรรม หรือการทำนา ซึ่งเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าศึกษาถึงสาเหตุ แห่งความเปลี่ยนแปลงจากการหารายได้จากเกษตรกรรมสู่ระบบอุตสาหกรรม จากการศึกษาข้อมูลในภาคสนาม โดยการสอบถามจากชาวบ้านที่เป็นพนักงานในโรงงานพบว่า รายได้จากการทำงานในโรงงานเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีรายได้ที่แน่นอน และมีเงินล่วงเวลา จึงเพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถซื้อสิ่งของต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และอื่น ๆ ในระบบผ่อนได้ และคนทำงานส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่กับครอบครัว จึงไม่ต้องเก็บเงินเพื่อมาซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย รายได้พอใช้จ่ายส่วนตัว และบางครอบครัวทั้งพ่อและแม่ทำงานโรงงาน ก็สามารถเลี้ยงลูกได้พอ แต่ส่วนใหญ่รายได้จะเพียงพอแค่ในแต่ละเดือนเท่านั้น ไม่ค่อยมีเงินออมนัก และพบว่ามีจำนวนหนึ่งที่นำรายได้จากโรงงานมาเป็นค่าจ้างแรงงานในการทำนา ที่เป็นมรดกจากพ่อแม่ ซึ่งยังไม่ทิ้งอาชีพเกษตรกรรม และสามารถเพิ่มรายได้จากผืนแผ่นดินของตัวเองอีกด้วย ข) รายได้จากอาชีพค้าขาย และการบริการ ในชนบทที่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายภายในหมู่บ้านเล็ก ๆ อย่างหมู่บ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น นั้น มีอาชีพที่เป็นแหล่งรายได้ของประชากร ในชุมชนที่น่าสนใจนั่นคือ อาชีพค้าขายและการบริการ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมในระบบอุตสาหกรรม และความเจริญของเทคโนโลยี่อยู่มาก อาชีพค้าขาย ในหมู่บ้านโนนเขวา มีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าเครื่องอุปโภค และบริโภคในหมู่บ้านจำนวน 2 ครัวเรือน โดยใช้บ้านที่อยู่อาศัยเป็นที่ประกอบการ ในลักษณะร้านขายของชำร้านที่หนึ่งเนบ้านของชาวบ้าน 2 ตายาย ขายสินค้าจำพวกขนมต่าง ๆ น้ำดื่ม สุรา บุหรี่ และของใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ น้ำปลา ยาสระผม แต่มีจำนวนสินค้าไม่มากนัก เพราะมีกิจการโรงสี และทำนาอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งบรรดาลูก ๆ ก็โตและแยกครอบครัวแล้ว ร้านค้าจึงเป็นอาชีพเสริมของครอบครัว โดยเปิดมาประมาณ 6-7 ปี โดยนำเงินที่ได้จากการทำนามาลงทุนขายสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีพ่อค้าคนกลางนำมาส่งให้ทั้งหมด ราคาจะแพงกว่าราคาขายส่งในตลาดของตัวเมืองอยู่บ้างเล็กน้อย ประมาณ 50 สตางค์ ถึง 1 บาท ทางผู้ขายเห็นว่าเป็นการดีกว่าต้องเดินทางเข้าไปซื้อของมาขายเอง เพราะต้องเสียค่าเดินทาง และในบางครั้งต้องเสียเงินซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย โดยไม่ใช่เหตุเพราะความอยากได้ สำหรับสินค้าที่ขายนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงร้านค้า และเด็กเล็กจะมีน้ำแดงใส่ถุงไว้ขาย ถุงละ 1 บาท ในบางครั้งจะตักน้ำฝนใส่ถุงพลาสติกไว้แล้วนำไปแช่แข็ง เพื่อให้เป็นก้อนน้ำแข็งไว้ขายแก่ลูกค้าที่ต้องการน้ำแข็ง ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตขายเองได้กำไรอย่างแน่นอน ในเรื่องของเวลาในการเปิด ปิด ร้านนี้ ไม่แน่นอน คือ ตื่นนอนเมื่อไรก็เปิดเมื่อนั้น และถ้ามีธุระ หรือนำควายไปเลี้ยงก็จะปิดร้าน กลับมาเมื่อไรก็เปิดร้านเรื่อยไปจนดึก และก็ปิดร้านแต่ถ้ามีลูกค้ามาเคาะประตูเรียก ก็จะขายจนกว่าจะเข้านอนถึงจะเปิดร้านอย่างจริงจัง และเปิดในเช้าวันต่อไป สำหรับร้านค้าที่ 2 เป็นร้านที่มีสินค้าหลายประเภท อีกทั้งมีการขายอาหารอีกด้วย โดยเริ่มขายมาประมาณ 2 ปี หลังจากเลิกอาชีพรับจ้างตัดอ้อยในการเปิดร้านค้าได้นั้น นำเงินลงทุนก้อนแรกจากการขายควายราคา 8,000 บาท และหน้าร้านได้จัดให้เป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว และส้มตำ ตลอดจนอาหารพื้นเมืองต่าง ๆ สินค้าที่ขายอยู่นั้น ในบางอย่างจะมีพ่อค้ามาส่ง เช่น เหล้า เบียร์ น้ำปลา ไอศกรีม น้ำแข็ง เป็นต้น ในขณะที่บางอย่างจะต้องเดินทางไปซื้อของยังตลาดในเมือง โดยจะเดินทางไปวันเว้นวัน รายการที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นของสด เช่น เนื้อหมู ผัก มะละกอ เป็นต้น สำหรับร้านค้าที่ 2 นี้ นับว่าเป็นอาชีพหลักของครอบครัวในการค้าขาย ลูกค้าเยอะมาก เพราะมีการขายอาหารด้วย ก็จะเป็นคนในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียงโดยเวลาเปิดปิดนั้น จะเปิดตั้งแต่เาช้าประมาณ 6-7 โมงเช้า หลังจากกลับมาจากตลาด และจัดของเรียบร้อย โดยจะเปิดขายทั้งวันจนกระทั่งตกเย็นก็จะปิดประตูร้าน แต่จะมีช่องประตูเล็ก ๆ เปิดไว้สำหรับลูกค้ายามวิกาล และจะปิดร้านก็ต่อเมื่อเข้านอน จากการสำรวจร้านค้าทั้ง 2 ร้าน จะเห็นว่าเป็นการประกอบอาชีพของชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยในร้านที่หนึ่งจะเป็นอาชีพเสริม ไม่ให้ความสำคัญมากนัก ซึ่งจะแตกต่างจากร้านที่สอง ที่จะมีการคิดถึงกำไร และความคุ้มทุนมากกว่าโดยในร้านที่สอง เมื่อสอบถามรายได้แต่ละเดือนจะได้รับคำตอบว่าอยู่ประมาณ 2,000-3,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ผู้ค้าพอใจ เพราะอยู่กับร้านก็ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อหาของอย่างอื่น ที่ร้านก็ขายอาหารอยู่แล้ว ในร้านที่สองนี้เมื่อสอบถามถึงเงินออม ก็จะพบว่ามีบ้างแต่ส่วนใหญ่จะนำเงินมาลงทุนในการซื้อของต่อไป อาชีพรับซ่อมไฟฟ้า เป็นร้านเดียวในหมู่บ้าน โดยผู้ประกอบการเป็นผู้ชำนาญจากการศึกษา จบหลักสูตรของ ปวช. เทคโนโลยี่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ปี หลังจากนั้นจึงมาเปิดกิจการในที่ดินของตนเอง โดยเงินลงทุนเริ่มแรก 1,000 บาท ในส่วนของอุปกรณ์ส่วนที่ต้องซื้อเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม การให้บริการนั้นรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ พัดลม เครื่องกระจายเสียง โดยราคานั้นจะบวกเพิ่มเข้าไปกับอุปกรณ์ที่ต้องซื้อหาในตัวเมือง และความยากง่ายในการซ่อม ร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้า ในหมู่บ้านโนนเขวามีรายเดียว จึงทำให้ได้ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังได้ลูกค้าจากหมู่บ้านบึงสวางที่ใกล้เคียง ทำให้มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวจากการรับซ่อมเครื่องไฟฟ้าเดือนละประมาณ 5,000 บาท ในการประกอบอาชีพตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเป็นไปได้สวย แต่ในระยะหลังตนเองมีครอบครัวทำให้รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำค่าอะไหล่ปรับราคาขึ้นเกือบเท่าตัว เช่น เคยซื้อได้ในราคา 40 บาท ก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นราคา 70 บาท อีกทั้งยังต้องมีรายจ่ายต่อวันอีกประมาณ 100-200 บาท จึงไม่มีเงินเหลือเก้บถึงมีก็เพียงน้อยนิด แต่ยังดีที่ตนเองไม่ชอบการพนัน จึงไม่มีหนี้สิน และสามารถสร้างครอบครัวได้ อาชีพตัดผม ร้านตัดผม "คุณโต้ง" เป็นร้านตัดผมร้านเดียวในหมู่บ้านโนนเขวา ที่เปิดบริการผู้คนในหมู่บ้าน โดยอาศัยจากการสังเกต และเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อน ๆ ต่างหมู่บ้าน เงินลงทุนเริ่มแรกในเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ประมาณ 2,500 บาท ให้บริการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งหญิงและชาย ในราคาที่แตกต่างกัน จากประสบการณ์ในการเฝ้าสังเกตกลุ่มเพื่อน ที่มีความสามารถในการตัดผม ทำให้คุณโต้งสามารถเปิดร้านของตนเองได้ภายใน 2 ปี มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 3,000 บาท นอกจากนี้ ภายในร้านยังมีชุดไทยไว้สำหรับเช่าอีกประมาณ 2 ชุด และสามารถเพิ่มถ้ามีผู้ต้องการอีก โดยราคาในการเช็ดชุดนั้นต่อชุด 1,000 บาท ซึ่งจะมีรายได้เข้ามาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2541 มีรายได้จากการเช่าชุด 2,000 บาท และจากรายได้ดังกล่าวทำให้สามารถอยู่ได้อย่างไม่มีหนี้สิน อีกทั้งยังเป็นคนขยันช่วยทำนา ทำให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นอีก 10,000 บาท/ปี หมอลำ จากการสำรวจคณะหมอลำของ "นายสุรินทร์ จันทร์หอม" ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 ได้ศึกษามาตั้งแต่อายุ 17 ปี จากอาจารย์ที่บ้านเหล่านาดี ซึ่งเป็นคณะใหญ่ จากนั้น จึงมาบุกเบิกสร้างคณะของตนเอง ตั้งราคาการแสดงไว้ที่ 50,000-80,000 บาท ซึ่งหมอลำ (นักร้อง) จะได้ค่าตัวสูงสุด 1,000 บาท ขณะนี้ทางคณะมีหมอลำอยู่ 10 คน นักเต้นจะได้ค่าตัวประมาณ 250-300 บาทต่อครั้ง เด็กขนเครื่อง และนักดนตรี่จะได้ค่าตัวไม่แน่นอน แล้วแต่จะตกลงกันในแต่ละคราว นอกจากนี้ยังต้องเสียค่ารถอีกครั้งละ 1,000 บาท เพราะทางคณะไม่มีรถเป็นของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันสัมภาษณ์ คือวันที่ 17 มีนาคม 2541 มีงานเข้ามาแล้ว 30 งาน เมื่อสอบถามถึงปัญหาการประกอบอาชีพ นายสุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนเองมีหนี้กับ ธกส. ประกอบกับรายได้ขณะนี้ไม่ค่อยดี นักเต้นหายากที่จะมาฝึกซ้อม เพราะไปทำงานโรงงานกันหมด หมอลำก็ไม่มีใครร้องเก่ง ตลอดจนการกินอยู่ของนักเต้นเมื่อมาซ้อมก็ต้องใช้เงินทั้งสิ้น จึงทำให้ประสบปัญหาเรื่องการเงิน และคงต้องกู้ ธกส. เพิ่มอีกในคราวต่อไป และยังคงตัดพ้อต่อว่าตนเองเป็น เพราะความรู้น้อยจึงไม่มีปัญญาที่จะใช้เงินให้เกิดประโยชน์ จากข้อมูลข้างต้น ทำให้พบว่าปัญหาหลักของประชากรในชุมชนคือ ขาดความรู้ และความสามารถในการวางแผนงาน และจัดระบบงานให้เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ร้านค้า ยังไม่มีบัญชีรายรับจ่ายที่แน่นอน เพื่อสรุปผลกำไรแต่ละวัน หรือแต่ละเดือน หมอลำ ขาดการวางแผนงานการดำเนินการซ้อม และการจัดสรรรายได้ของตนเองให้เกิดประโยชน์ ค) รายได้จากสมาชิกในครอบครัวที่ไปทำงานต่างจังหวัด จากการที่ได้ไปสอบถามชาวบ้านหมู่บ้านโนนเขวาพบว่า แต่ละบ้านก็จะมีหลากหลายอาชีพด้วยกัน ทั้งอาชีพหลัก อาชีพเสริม เพื่อจะได้นำเงินมาจุนเจือครอบครัว เมื่อใดที่เงินรายได้จากอาชีพหลักไม่พอเพียง คนในครอบครัวจึงจำเป็นต้องประกอบอาชีพอีกอาชีพ หรือหลายอาชีพ เพื่อมาเสริมรายได้ในครอบครัวของตน ทั้งอาจทำงานอยู่ที่ขอนแก่นบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายได้จากสมาชิกในครอบครัวที่ไปทำงานต่างจังหวัด ซึ่งพวกเขาเชื่อกันว่ารายได้จะดีกว่าทำงานอยู่ขอนแก่น อุดมสมบูรณ์กว่าขอนแก่น โดยจะเกี่ยวกับลักษณะของคนที่ไปทำงานต่างจังหวัด อาชีพที่มักไปทำกันที่ต่างจังหวัด รายได้ดีจริงหรือไม่ พักอาศัยอย่างไรกับใครเกิดผลกระทบอะไรหรือเปล่า จากการที่ต้องออกเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด และทัศนคติกับการไปทำงานต่างจังหวัดของคนในครอบครัว เป็นต้น ลักษณะของคนที่ออกไปทำงานต่างจังหวัด 1. เพศ จะมีทั้งชายและหญิง แต่ส่วนมากจะเป็นผู้หญิง 2. อายุ ส่วนมากเป็นวัยรุ่น และวัยกลางคน อายุประมาณ 20-40 ปี 3. ระดับการศึกษา มีหลายระดับ แต่ไม่สูง เช่น ป.4 , ป.6 , ปวช. 4. สถานภาพในครอบครัว มักเป็นลูก ๆ โดยจะส่งเงินมาให้พ่อแม่ทุกเดือน และจะ กลับมาเยี่ยมบ้านก็ตอนช่วงวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ 5. ไปโดยสมัครใจ ไม่มีใครบังคับโดยพ่อแม่ก็ให้การสนับสนุน อาชีพที่นิยมไปทำที่ต่างจังหวัด ส่วนมากจะเป็นอาชีพที่ใช้แรงงาน ไม่ใช้วุฒิการศึกษา หรือใช้วุฒิที่ไม่สูงนัก เช่น 1. ทำงานในโรงงาน ส่วนมากผู้หญิงจะทำงานทางด้านนี้ ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน วันละ 200 บาท อย่างเช่นพวกโรงงานทำขนมปัง โรงงานทำตุ๊กตา เป็นต้น 2. ทำงานเย็บผ้า ทั้งใช้เครื่องจักร และใช้มือ ทำงานกันทั้งชายและหญิง มีรายได้เท่ากันคือ 2,000 บาท 3. ทำงานก่อสร้าง ทำงานกันทั้งชายและหญิง ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือนบ้าง รายวันบ้าง แล้วแต่ที่ แต่ผู้ชายจะได้เงินค่าจ้างมากกว่าผู้หญิง 4. ทำงานขายกับข้าว รายได้ต่อวันค่อนข้างดี 5. แม่บ้าน มีรายได้เป็นเงินเดือนประจำค่อนข้างดี คือประมาณ 2,500 บาท ง) รายได้เสริมที่ได้จากการเสี่ยงโชค การเสี่ยงโชค ในความหมายของผู้ทำรายได้หมายรวมถึง การพนันทุกชนิดที่มีอยู่ในหมู่บ้านโนนเขวา จากการสำรวจด้วยการถามจากชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวาจึงพบว่า ในหมู่บ้านมีการเสี่ยงโชคกันมาก และแพร่หลายรวมถึงเป็นที่ทำให้บางคนรวยขึ้น หรือจนลงได้เลยทีเดียว ผู้ทำรายงานได้สำรวจ และรวบรวมข้อมูลพบการเสี่ยงโชค หรือการพนัน 3 อย่าง ที่มีในหมู่บ้านโนนเขวาได้ คือ หวย (สลากินแบ่งรัฐบาล) ไพ่ ไฮโล และไก่ชน จากการสัมภาษณ์ และติดตามได้พบว่า การที่จะมีการเสี่ยงโชคกันนี้ ทำมากในหน้าที่ไม่มีการทำนา และว่างจากการทำอาชีพหลักทางการเกษตร และช่วงของวัย เพศก็มีผลมากในการเสี่ยงโชค จ) อาชีพข้าราชการ และผู้มีรายได้จากรัฐ จากการศึกษา และสอบถามจากชาวบ้านพบว่า ภายในหมู่บ้านโนนเขวานี้ มีผู้ประกอบอาชีพข้าราชการ และผู้มีรายได้จากรัฐอยู่ทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่ ข้าราชการครู 1 คน ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน 7.5 บทสรุป จากข้อมูลที่ได้กล่าวข้างต้นพบว่า ประชาชนในหมู่บ้านโนนเขวาประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม และนอกภาคเกษตรกรรมควบคู่กันไป ถึงแม้ว่าในแต่ละครัวเรือนจะประกอบอาชีพหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฐานะการเงินดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุประกับกันได้แก่ 1. ลักษณะนิสัยส่วนตัวของชาวบ้าน จะเป็นคนที่ไม่ค่อยกระตือรือล้น รักความสบาย จะเห็นได้จากบางครอบครัวเมื่อเว้นจากฤดูทำนาแล้ว ไม่ประกอบอาชีพใด ๆ หรือไม่คิดที่จะหารายได้เสริมให้แก่ครอบครัว 2. ประชาชนในหมู่บ้านโนนเขวา ไม่นิยมการออมทำให้บางครั้งต้องกู้หนี้ยืมสินจากนายทุน หรือธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์ (ธกส.) เพื่อนำมาซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกให้ทัดเทียมบ้านอื่น ๆ 3. ขาดการศึกษา เนื่องจากผู้ปกครองไม่ส่งเสริมให้บุตรหลานในด้านการศึกษา ทำให้แนวความคิดของคนในหมู่บ้าน ยังคงจมอยู่กับการทำงานแบบใช้แรงงาน ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาของหมู่บ้านโนนเขวา ควรเริ่มจากการให้การศึกษาแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ เพิ่มการศึกษาภาคบังคับให้มากขึ้น ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดี เช่น การขยันทำมาหากิน รู้จักประหยัดอดออมแก่ประชาชน และท้ายสุด นิสิตนักศึกษา รวมทั้งผู้ที่มีความรู้ในด้าน ต่าง ๆ ควรตระหนักถึงปัญหา และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชนบท และมุ่งที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย |