สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท |
บทที่ 1 องค์กรในหมู่บ้านโนนสำราญ
บ้านโนนสำราญเป็นหมู่บ้านลำดับที่ 7 ในตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย 104 หลังคาเรือน มีประชากร 492 คน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำสูงสุด มีอำนาจในการควบคุมสั่งการและบริหารภายในหมู่บ้าน โดยอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารหมู่บ้าน มีการจัดตั้งองค์กรในหมู่บ้าน และแบ่งงานบริหารในการจัดการด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการด้านอนามัยและสาธารณสุข ด้านการบริหารและพัฒนาหมู่บ้าน ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ การศึกษาถึงรูปแบบและองค์ประกอบการบริหารของหมู่บ้านในที่นี้ ศึกษาถึง หน้าที่และบทบาทขององค์กรในหมู่บ้านที่มีต่อลูกบ้าน และปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของโครงการในแต่ละองค์กร ตลอดจนความเข้าใจทัศนคติของลูกบ้านต่อโครงการในแต่ละองค์กร อันเป็นส่วนที่จะช่วยในการจัดระบบและพัฒนาชุมชนให้เกิดความเจริญและสามารถดำรงอยู่ได้ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนาหมู่บ้านอื่น ๆ ที่มีโครงสร้างในลักษณะที่ใกล้เคียงกันต่อไป 1.1 ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเบื้องต้นภายในหมู่บ้าน ในการแก้ไขปัญหา และร่วมกันป้องกันปัญหา ตลอดทั้งรวมกันพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยนำเงินจากกองทุนไปช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาเดือดร้อนกระทันหันในบางกรณี เช่น การเจ็บป่วยฉับพลันจากโรคระบาด การประสบอุบัติเหตุพิการ ฯลฯ ที่มาของเงินกองทุนสงเคราะห์นี้ได้รับมาจากสำนักงานประชาสังเคราะห์จังหวัด กรมประชาสงเคราะห์ เพื่อนำมาใช้ในการสงเคราะห์ราษฎรภายในหมู่บ้าน ปัจจุบันนี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ผู้บริหารกองทุนสงเคราะห์ฯ คือ กรรมการกองทุนสงเคราะห์ จำนวน 13 คน มี ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีเหรัญญิกซึ่งสามารถถือเงินสดได้ไม่เกิน 1,000 บาท ที่เหลือต้องฝากไว้ที่ธนาคาร เงินกองทุนนี้สามารถเพิ่มจำนวนได้จากหลายกรณี เช่น ได้จากดอกเบี้ยจากธนาคารที่เงินกองทุนฝากอยู่ จากการกู้ยืมเงิน จากการจัดการทำบุญทอดผ้าป่า หรืออาจได้มาจากการขอรับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ชาวบ้านที่ต้องการความอนุเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์สามารถขอความช่วยเหลือได้โดยยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการบริหารกองทุน หลังจากนั้น คณะกรรมการจะประชุมพิจารณาว่าผู้นั้นจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์หรือไม่ และจัดอยู่ในกรณีใด ซึ่งกองทุนสงเคราะห์ฯ ให้ความอนุเคราะห์ ใน 3 กรณี คือ
แต่ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดได้รับความอนุเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ เนื่องจาก ประสบปัญหาด้านการบริหารโดยอดีตผู้ใหญ่บ้าน ส่งผลให้เกิดการหยุดให้บริการกองทุนชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันกองทุนได้กลับมาดำเนินการใหม่โดยการเลือกตั้งคณะกรรมการ ซึ่งดำเนินการบริหารได้ 3 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังเห็นว่าข้อดีของกองทุนสงเคราะห์ราษฎร คือ สามารถช่วยเหลือผู้ที่ประสบความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว เพราะเนื่องจากเป็นกองทุนในระดับหมู่บ้าน ที่สามารถเข้าใจข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องและตัดสินใจพิจารณาได้ในเวลาอันสั้น และสามารถใช้เงินกองทุนได้ตามวัตถุประสงค์ ส่วนข้อด้อย คือ จำนวนเงินของกองทุนมีจำนวนไม่มากพอ ซึ่งที่ได้รับจากสำนักงานสงเคราะห์จังหวัด จำนวน 12,500 บาท การพิจารณาใช้เงินของกองทุนฯ ต้องมีความเข้มงวด ทำให้ผู้รับความอนุเคราะห์บางรายไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ หรือได้ไม่มากเพียงพอ อีกประการหนึ่ง คือ ความไม่โปร่งใสในการบริหารของคณะกรรมการฯ ชุดที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจหรือไม่ทราบว่ามีกองทุนสงเคราะห์ บางรายยังขาดความสนใจในกองทุนสงเคราะห์ และบางรายถึงแม้จะมีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการและการให้ความอนุเคราะห์ของกองทุนฯ แต่ไม่มีความสนใจที่จะใช้บริการและหันไปใช้บริการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นแทน 1.2 คณะกรรมการบริหารหมู่บ้าน คณะกรรมการบริหารหมู่บ้าน ประกอบไปด้วย 1. ผู้ใหญ่บ้าน : เป็นประธานโดยตำแหน่งในทุกองค์กรของหมู่บ้าน ได้แก่ กองทุนสงเคราะห์ราษฎร กรรมการศูนย์สาธิต กรรมการการเงินของวัด กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสตรี การประปา กรรมการเต็นท์ ในการที่จะเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องลงสมัครเลือกตั้งที่ทางอำเภอจัดขึ้น ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะได้รับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านโนนสำราญ และมีอายุระหว่าง 18-60 ปี 2. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 2 คน เพื่อรับคำสั่งจากผู้ใหญ่บ้านไปปฏิบัติให้เรียบร้อย 3. องค์การบริหารส่วนตำบล : มีตัวแทน 2 คน คือ อบต.สุขสวัสดิ์ คำยา และ อบต.จันทร์ หนูหงษ์ ทำหน้าที่ประสานงานกับทางตำบล และผู้ใหญ่บ้าน 4. กรรมการหมู่บ้าน : มีหน้าที่หลายด้าน เช่น เลขานุการ ประชาสัมพันธ์ การเงิน มีหน้าที่ในการตัดสินใจอนุมัติโครงการพัฒนาต่าง ๆ และเก็บเงินภาษีอากร ภายในหมู่บ้าน รวมไปถึงการตัดสินพิจารณากรณีต่าง ๆ โดยการโหวตเสียงประชามติในที่ประชุม 5. ผู้ใหญ่คุ้ม : มาจากการคัดเลือกของชาวบ้านในแต่ละคุ้มทำหน้าที่ปกครองคุ้มกันเอง โดยหมู่บ้านโนนสำราญนี้ได้แบ่งออกเป็น 7 คุ้ม ทำหน้าที่ประสานงานในแต่ละคุ้มกับผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนในคุ้มทราบ และมีหน้าที่เก็บเงินทำบุญในเทศกาลต่าง ๆ 6. กรรมการงานเงินวัด : ทำหน้าที่จัดสรรด้านการเงินจากกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดเช่น การทอดผ้าป่า การทำบุญ เป็นต้น 7. กรรมการตุลาการ : ทำหน้าที่ตัดสินคดีความต่างๆ นอกจากนี้เนื่องจากกรรมการตุลาการส่วนมากเป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้านโดยชาวบ้านจะให้การยอมรับนับถือ เคารพเชื่อฟัง จึงยกย่องให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการ ชาวบ้านมักเชิญไปเป็นประธานในพิธีแต่งงาน หรือพิธีกรรมอื่นๆ ในหมู่บ้าน แม้ว่าคณะกรรมการหมู่บ้านโนนสำราญได้เลียนแบบรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ข้อบกพร่องที่สำคัญ คือ คณะกรรมการฯ และประชาชนยังไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของตน ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การทำงาน การบริหาร และ การตัดสินใจในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่บ้านเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี หมู่บ้าน โนนสำราญมีการกระจายอำนาจ ซึ่งพิจารณาจากการมีผู้ใหญ่คุ้มคอยควบคุมดูแลในแต่ละคุ้ม 1.3 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในหมู่บ้านนี้มีบ้านของ อบต. อยู่สองหลังเท่านั้น คือ อบต. สุขสวัสดิ์ คำยา (ฝ่ายบริหาร) และ อบต.จันทร์ หนูหงษ์ (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ซึ่งบทบาทหน้าที่ของ อบต. โดยสรุป คือ เป็นปากเสียงของชาวบ้านในการติดต่อกับหน่วยงานราชการภายนอกหมู่บ้าน และรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านแล้วไปขอทุนจากทางอำเภอนำมาจัดสร้างสาธารณูปโภคตามที่ชาวบ้านร้องขอ ตลอดจนอนุมัติเรื่องที่ส่งไปนอกหมู่บ้าน สภาใหญ่ของ อบต. ในตำบลวังไชย มีสมาชิกทั้งหมด 31 คน แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คล้ายกับการทำงานของรัฐสภาคือสมาชิกทั้งฝ่ายบริหาร (7 คน) และฝ่ายนิติบัญญัติ (24 คน) การเลือกตั้ง อบต. เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป คือ ชาวบ้านที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีสามารถลงคะแนนเสียงได้ ที่ผ่านมานั้นผู้สมัครที่มักได้รับตำแหน่งส่วนใหญ่มีญาติจำนวนมาก หรือล้มวัวควายแจกชาวบ้าน การดำรงตำแหน่ง อบต. นั้น มีวาระ 4 ปี จะเลือกตั้งซ่อมในกรณีลาออกหรือตาย การทำงานของ อบต. เริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ เสนอโครงการ ชี้แจงในสภา ขอเงินอนุมัติ และส่งหน่วยงานมาดำเนินการ ซึ่งผลงานที่ผ่านมา ได้แก่ การก่อสร้างฝายน้ำล้นพัฒนาด้านกีฬา ต่อต้านยาเสพติด ส่งเสริมการรวมกลุ่มแม่บ้าน โครงการอบรมเยาวชน ฯลฯ โดย อบต. ฝ่ายบริหารมีการประชุมฝ่ายบริหารสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติจะประชุมสามัญปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 วัน ในเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม และสิงหาคม สำหรับในการเบิกเงินงบประมาณต้องแสดงรายละเอียดการใช้จ่ายให้แก่ นายอำเภอเพื่อดำเนินเรื่อง ส่วนกรณีที่ต้องเบิกจ่ายมากกว่า 1 ล้านบาท ต้องมีการขออนุญาตจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ซึ่งงบประมาณของ อบต. นั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในแต่ละปี เฉลี่ยปีละ 4 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ รายจ่ายประจำในการบริหารองค์กร (40%) และรายจ่ายเพื่อการพัฒนา (60%)
1.4 ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) เนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและระดับการศึกษาของคนในหมู่บ้านไม่สูงนัก ทำให้พฤติกรรมในการดูแลสุขภาพอนามัยไม่ถูกต้องเท่าที่ควร ชาวบ้านมีความเห็นว่าเมื่อเจ็บป่วยต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการเดินทางมารับบริการที่สถานบริการของรัฐ จึงได้มีการพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้การสนับสนุน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ แม้บางครั้งเจ้าหน้าที่จะให้บริการถึงพื้นที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการ เช่น สถานที่ เวลา ตลอดจนความรู้ความสามารถขององค์กรที่ต้องทันต่อเหตุการณ์และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเกิด ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน ขึ้นโดยมีองค์ประกอบหลักสำคัญ 4 ประการ คือ 1. การมีส่วนร่วมของชุมชน 2. การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 3. การจัดระบบบริการสาธารณสุขอย่างเป็นธรรม 4. การผสมผสานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองและมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2543 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อให้อาสาสมัคร (อสม.)* มีสถานที่เป็นศูนย์ประสานงาน แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เป็นแหล่งพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชน 2. เป็นจุดร่วมบริการสาธารณสุขในระดับหมู่บ้าน 3. เพื่อให้อาสาสมัครมีวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติภารกิจ เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของชุมชนได้ตรงเป้าหมาย 4. เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนทรัพยากรและวิชาการแก่ อาสาสมัคร (อสม.) 5. เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารสาธารณสุขของหมู่บ้าน การดำเนินงานของ ศสมช. แบ่งออกเป็นระดับตำบลและระดับหมู่บ้าน เพื่อดำเนินการคัดเลือกหมู่บ้านที่จะปฏิบัติการและการประชุมเพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงแนวทางในการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานแนวใหม่ ซึ่งผลการปฏิบัติงานของศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน ได้แก่ 1. มีการจัดการด้านสาธารณสุขภายในหมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขมูลฐานได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น 2. ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัยของตนมากขึ้น 3. อัตราการเพิ่มประชากรของหมู่บ้านลดลง เนื่องจากมีการให้ความรู้ด้านการ วางแผนครอบครัวแก่คนในหมู่บ้าน 4. อัตราการเจ็บป่วยน้อยลงเนื่องจากมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอนามัยที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เช่น การกินอาหารที่สุกใหม่ ๆ การดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย เป็นต้น 5. อัตราจำนวนเด็กขาดอาหารลดลง เนื่องจากมีการตรวจสุขภาพเด็ก ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงทุก ๆ 3 เดือน และมีการแจกอาหารเสริมให้กับเด็กที่ขาดสารอาหาร 6. มีการปลูกผักสวนครัวและพืชสมุนไพรตามรั้วบ้าน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ปัจจุบัน ชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานของศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) เพราะได้รับความสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องซื้อยาหรือรักษาถึงอนามัย แต่เนื่องจากการดำเนินงานให้บริการด้านสาธารณสุขของ อสม. ไม่สม่ำเสมอทุกวัน แล้วแต่จะมีชาวบ้านที่เจ็บป่วยมาเรียกประธาน อสม. เพื่อให้เปิดศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน บางครั้งไม่พบประธาน อสม. ก็ไม่สามารถซื้อยาจากศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนได้ จึงต้องไปซื้อเองตามตลาดหรือเข้าไปรักษาที่อนามัยตำบล จึงควรกำหนดให้ อสม. แบ่งเวรในการให้บริการ และกำหนดระยะเวลาในการทำงาน โดยผลัดเปลี่ยนเวรในการปฏิบัติงานทุกวันตลอดสัปดาห์ และอาจจะมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของ อสม. โดยการส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานจริงของ อสม. 1.5 ศูนย์สาธิตสหกรณ์หมู่บ้านโนนสำราญ ศูนย์สาธิตสหกรณณ์หมู่บ้านโนนสำราญ จัดอยู่ในประเภทสหกรณ์ร้านค้า ก่อตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2535-2536 โดยรัฐเป็นผู้เสนอโครงการผ่านผู้ใหญ่บ้าน โครงสร้างของศูนย์สาธิตสหกรณ์หมู่บ้านโนนสำราญ ประกอบด้วยประธาน รองประธาน กรรมการ เลขานุการ และ ผู้จัดการ ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีวาระการดำเนินงาน 1 ปี ขั้นตอนและวิธีดำเนินงานในปัจจุบัน การหา ผู้จัดการมาจากการประมูล โดยคณะกรรมการเรียกประชุมชาวบ้าน และให้มีการเสนอราคาประมูล คณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดอัตราการประมูลขั้นต่ำ เป็นการกำหนดโดยอาศัยอัตราการประมูลของปีที่ผ่านมาเป็นมาตรฐาน แต่หากชาวบ้านไม่พอใจผู้ที่ประมูลได้ ชาวบ้านก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอให้เลือกคนใหม่ได้ เมื่อได้ผู้จัดการแล้ว ผู้จัดการจะไเด้เงินลงทุนซึ่งมาจากเงินที่สมาชิกซื้อหุ้นและผู้จัดการเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว โดยคณะกรรมการไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแต่จะตรวจสอบเมื่อชาวบ้านร้องเรียน จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการในอดีตและปัจจุบันพบว่า ปัญหาหนึ่งมาจากยอดเงินประมูลกับยอดกำไรสุทธิมีความห่างกันมาก ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดจากความไม่กระตือรือล้นของชาวบ้าน การที่ชาวบ้านมีการศึกษาน้อยทำให้ถูกเอาเปรียบได้ง่าย อีกประการหนึ่งคืออาจมาจากการไม่รัดกุมในการดำเนินงาน ปัญหาดังกล่าวอาจแก้ไขได้โดยการเลือกผู้จัดการในลักษณะที่คล้ายกับการประมูล แต่มีการจัดเก็บเงินคืนให้คณะกรรมการ เพื่อจัดสรรเงินปันผลในลักษณะการเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ มีการทำงบการเงิน ควบคุมราคา และควบคุมการดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อ ป้องกันการผูกขาด เพื่อลดปัญหาความแตกต่างของกำไรและส่วนที่ส่งคืน ทำให้ชาวบ้านได้เงิน ปันผลมากขึ้น และคณะกรรมการมีเงินที่จะนำมาพัฒนาหมู่บ้านมากขึ้น และจากการเก็บเงินแบบนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ขายมีความกระตือรือล้น เพราะยิ่งขายได้มาก รายได้ก็จะมากตาม 1.6 กลุ่มผู้นำเยาวชน
กลุ่มเยาวชนของหมู่บ้านโนนสำราญ จัดตั้งขึ้นโดยผู้ใหญ่บ้านเนื่องจากได้พบเห็นการบริหารของหมู่บ้านอื่น และเห็นว่ากลุ่มเยาวชนมีบทบาทในการช่วยพัฒนาหมู่บ้าน และมีโครงการต่าง ๆ ที่สามารถเสริมรายได้ให้กับกลุ่มเยาวชนและหมู่บ้านได้ กลุ่มเยาวชนของหมู่บ้านโนนสำราญแบ่งออกเป็นกลุ่มเยาวชนชายและหญิง มีสมาชิกประมาณ 40 คน มีการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ มีหัวหน้ากลุ่ม เลขานุการ เหรัญญิกและกรรมการ สมาชิกของกลุ่มเยาวชนมีอายุ 15-20 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนใน โรงเรียนบรบือ การดำเนินงานที่ผ่านมานั้น กลุ่มเยาวชนจะรวมตัวกันเมื่อมีงานเทศกาลในหมู่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านแจ้งข่าวมายังหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้ากลุ่มจึงรวบรวมสมาชิกทั้งกลุ่มเยาวชนชายและหญิงมาร่วมประชุมกับกลุ่มสตรีแม่บ้านเพื่อเตรียมงานและแบ่งหน้าที่อำนวยความสะดวกในงาน เช่น เตรียมสถานที่จัดงาน เสิร์ฟน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งตัวแทนหมุนเวียนเข้ารับการอบรมให้ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาเผยแพร่ให้กับเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม เนื่องจากกลุ่มเยาวชนเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน จึงไม่มีเงินทุนสำหรับทำกิจกรรมภายในกลุ่ม ผู้ใหญ่บ้านจึงได้ทำเรื่องขอทุนไปซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนยังได้ริเริ่มที่จะจัดหาเงินทุนเข้ากลุ่มโดยเป็นกิจกรรมง่าย ๆ เช่น ทำพวงมาลัยขายในงานรื่นเริงที่วัด งานของกลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่มักเป็นไปในรูปของการร่วมตัวกันเพื่อช่วยงานพัฒนาหมู่บ้านและงานบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ทำความสะอาดลานวัด ทำความสะอาดถนนในหมู่บ้านและที่สาธารณะ กลุ่มเยาวชนยังมีการรวมตัวกันไม่มากและยังไม่มีโครงการที่เด่นชัดนัก เนื่องจากเพิ่งก่อตั้ง สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ต้องช่วยงานทางบ้าน สมาชิกบางคนไม่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมเพราะเห็นว่ากิจกรรมที่ผ่านมาค่อนข้างน่าเบื่อ และสมาชิกบางคนไม่มีความ กระตือรือล้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่เห็นประโยชน์ของการรวมกลุ่ม ชาวบ้านบางคนมีความเห็นว่ากลุ่มเยาวชนสามารถรวมตัวกันช่วยงานพัฒนาหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี ส่วนกลุ่มสตรีแม่บ้านและ อสม. (อาสาพัฒนาหมู่บ้าน) มีโครงการที่จะฝึกอบรมเยาวชนให้มาช่วยงานบางส่วนของกลุ่มสตรีแม่บ้านและ อสม. เช่น โครงการทอผ้าของกลุ่มสตรีแม่บ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรวมกลุ่มเยาวชนของบ้านโนนสำราญก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มเท่าที่ควร เพราะกลุ่มเยาวชนยังขาดกิจกรรมอีกหลายอย่างที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกและหมู่บ้านได้ เช่น การปรึกษาหารือเรื่องการศึกษาต่อ ว่าจะเลือกเรียนทางใดที่จะนำความรู้มาพัฒนาหมู่บ้านให้ได้มากที่สุด พื้นที่อำเภอบรบือซึ่งจัดเป็นพื้นที่สีแดงทำให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้านโดยสามารถระบาดเข้ามาได้มาก ที่สุดทางเยาวชนจึงควรมีการร่วมมือกันป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาสู่กลุ่มเยาวชนได้ กลุ่มเยาวชนควรให้ความสำคัญกับโครงการสร้างงานเสริมรายได้อย่างจริงจังเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว หรืออาจเป็นอาชีพในอนาคตเพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งหมู่บ้านไปทำงานต่างถิ่น สาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่ม เยาวชนยังไม่มีผลงานมากเท่าที่ควรคือเพิ่งก่อตั้งกลุ่มได้ไม่นาน เมื่อผ่านไปซักระยะคาดว่าจะมีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคงได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้สมาชิกบางส่วนที่ไม่ค่อยสนใจนักหันมาเห็นประโยชน์ของการรวมกลุ่มเยาวชนมากขึ้น 1.7 กลุ่มสตรีแม่บ้าน สาเหตุที่มีการก่อตั้งกลุ่มสตรีแม่บ้านขึ้นเนื่องจากผู้ใหญ่บ้านได้เห็นตัวอย่าง จากหมู่บ้านอื่น เห็นว่ามีประโยชน์ และรนในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่ยากจน ซึ่งจะหารายได้เสริมให้กับหมู่บ้านด้วย กลุ่มสตรีแม่บ้านเริ่มก่อตั้งขึ้นประมาณเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2541 โดยมีรูปแบบขององค์กรเป็นแบบคณะกรรมการ ประกอบด้วยประธาน รองประธาน เลขานุการ และเหรัญญิก กลุ่มสตรีแม่บ้านเป็นแกนนำของสตรีทั้งหมู่บ้านในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กิจกรรมในปัจจุบัน ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือในงานเทศกาล การร่วมกันทอผ้าใช้ในงานบุญ หรือทำอาหารเลี้ยง ทำความสะอาด โดยอาจมีกลุ่มเยาวชนเข้ามาร่วมด้วย ส่วนโครงการในอนาคตมีดังนี้ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ 1. ทอผ้า การทอผ้าจะมีเจ้าหน้าที่มาสอนกลุ่มสตรีแม่บ้านในขั้นตอนการทอผ้า หลังจากทอเสร็จแล้วจะมีเจ้าหน้าที่จัดหาตลาดให้เรียบร้อย และอาจให้สมาชิกเป็นคนขายหรืออาจจ้างคนมาขาย โดยผ้าที่ส่งไปขายนี้จะให้ชื่อว่า ผ้าจากบ้านโนนสำราญ 2 ข้าวซ้อมมือ โดยมีเจ้าหน้าที่แนะนำพันธุ์ข้าว ขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพดี ขายได้ราคาดี และจะมีเจ้าหน้าที่รับไปจัดการเรื่องการตลาด 3. กี่กระตุก เป็นการทอผ้าโดยไม่ใช้เครื่องจักร หรืออาจเรียกว่าเป็นการทอผ้าพื้นบ้าน โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำขั้นตอนการทำเพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงาม เช่นเดียวกับการทอผ้า และจะมีเจ้าหน้าที่ไปจัดการเรื่องการตลาดเช่นกัน โครงการแปรรูปอาหาร 1. การนำมะยมมาทำเป็นมะยมดองหรือมะยมเชื่อม แล้วจัดทำเป็นประปุกขวด โดยมีเจ้าหน้าที่จัดหาตลาดให้ 2. การนำผักมาคั้นเป็นน้ำผัก โดยมีเจ้าหน้าที่จัดหาตลาดให้เช่นกัน ประโยชน์ของทั้ง 2 โครงการ คือ มีรายได้เข้ากลุ่ม เพื่อนำมาช่วยหมู่บ้านหรือครอบครัวที่มีปัญหา แต่ชาวบ้านมีมีความเข้าใจต่อกลุ่มนี้มีเพียงผิวเผินเท่านั้น คือ กลุ่มสตรีแม่บ้านช่วยเหลือหมู่บ้าน กลุ่มสตรีแม่บ้านของหมู่บ้านโนนสำราญนี้ นับเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน และยังเป็นกลุ่มที่จัดหากองทุนเข้าหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวยากจนได้ และยังเป็นการจัดหารายได้เสริมสำหรับผู้มีเวลาว่าง แม้ว่าจะยังมีสมาชิกเข้าโครงการไม่มากนัก (ปัจจุบันมีเพียง 15 คน) แต่หากโครงการต่าง ๆ ได้เริ่มต้นและประสบผลสำเร็จ คาดว่าจะมีสมาชิกของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลไปถึงการลดอัตราการอพยพเข้ากรุงเทพฯ เนื่องจากมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
1.8 สรุป หมู่บ้านโนนสำราญนั้น ประกอบไปด้วยองค์กรต่างๆ ซึ่งมีส่วนช่วยให้หมู่บ้านมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านสังคม ประชากร และสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรต่างๆ จะมีผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง มีการควบคุมดูแลโดยคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งได้รับเลือกหรืออาสาสมัครเข้ามา ตามลักษณะของแต่ละองค์กร โดยสามารถแยกได้ดังนี้คือ 1. กองทุนสงเคราะห์หมู่บ้านโนนสำราญ : เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีปัญหา เฉียบพลัน หรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ 2. กรรมการบริหารหมู่บ้าน : มีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าทำหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการบริหารหมู่บ้าน คิดสร้างสรรค์พัฒนาหมู่บ้าน 3. อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) : ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหมู่บ้านเข้าไปทำงานในสภาตำบล เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ต่อการพัฒนาในหมู่บ้าน 4. ศูนย์สาธิตประจำหมู่บ้าน(สหกรณ์) : เป็นการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการลงทุนและจัดสรรค์ เงินปันผลกำไรเมื่อสิ้นปี 5. กลุ่มเยาวชนหมู่บ้านโนนสำราญ : เป็นการรวมกลุ่มกันของเยาวชนในหมู่บ้าน เพื่อทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เช่น การเก็บขยะ ภายในตัวหมู่บ้าน นับว่าเป็นการดีมาก ที่ส่งเสริมกิจกรรมของเยาวชนเพื่อหมู่บ้าน 6. กลุ่มสตรีแม่บ้านโนนสำราญ : เป็นการรวมกลุ่มกันของสตรีในหมู่บ้านโนนสำราญเพื่อร่วมกัน พัฒนาอาชีพ และสร้างความเจริญให้แก่หมู่บ้าน เช่น การทอผ้าจี่ตามพระราชดำริ เป็นต้น 7. อสม. (อาสาสมัครหมู่บ้าน) : เป็นตัวแทนสาธารณสุขในหมู่บ้าน คอยดูและ และเป็นที่ปรึกษารวมทั้งเป็นตัวแทนไปอบรมคอร์สต่างๆ จากทางสาธารณสุขอำเภอเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ช่วยเหลือภายในหมู่บ้าน เช่น รักษาปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นต้น
|