logos.gif (7470 bytes)สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

LOOKER1.GIF (1665 bytes)

 

บทที่ 2

วัฒนธรรมการบริโภคในท้องถิ่น

 

คนพื้นเมืองในแต่ละท้องถิ่นอาจมีการบริโภคอาหารที่เหมือนหรือแตกต่างกัน การศึกษาเพื่อเปรียบเทียบลักษณะการบริโภคในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีนั้นสามารถศึกษาและนำความรู้ที่มีประโยชน์นั้นไปพัฒนา เผยแพร่ให้ท้องถิ่นอื่นได้รับรู้ และปฏิบัติตาม ส่วนข้อเสียของลักษณะการบริโภคในแต่ละแห่งทำให้ทราบถึงปัญหาของแต่ละท้องถิ่น เช่น ลักษณะการบริโภคอาหารบางอย่างที่ผิดๆ ควรหาทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นต้น ซึ่งการศึกษาวัฒนธรรมการบริโภคในท้องถิ่นในที่นี้ ศึกษาและเก็บข้อมูลจากชาวบ้านโนนสำราญ และบ้านหัวขัว ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก โรงเรียนของหมู่บ้านทั้ง 2 แห่ง โดยศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบเกี่ยวกับอาหารพื้นเมืองในภาคอีสานที่มีเอกลักษณ์สืบทอดกันมานาน โดยเน้นเกี่ยวกับประโยชน์คุณค่าอาหารที่ได้รับ สุขอนามัยในการบริโภค การถนอมอาหาร ความเชื่อในการบริโภค รวมถึงปัญหาอันเนื่องมาจาก พฤติกรรมการบริโภค และสภาพเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับการบริโภค

2.1 อาหารพื้นเมือง

อาหารโดยทั่วไปของทั้ง 2 หมู่บ้านจะคล้ายคลึงกัน นับแต่การประกอบอาหารมักเน้นความสะดวกในการหาวัตถุดิบมาประกอบอาหารที่ทำได้ง่าย มีข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก รับประทานกับ ส้มตำ ป่น บอง หมก อ่อม ต้มส้ม ลาบ ก้อย น้ำตก และน้ำพริก รวมถึงมีอาหารเสริมเป็นแมงต่างๆ นำมาคั่ว รับประทานพร้อมอาหารหลัก ส่วนอาหารที่เด็กรับประทานในโรงเรียน มักนำอาหารมารับประทานเองจากบ้าน ส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้ง เช่น ไก่ย่าง ไข่ต้ม ปลาย่าง ไส้กรอก แต่ถ้าเป็นอาหารที่ทางโรงเรียนจัดให้จะมีคุณค่าอาหารมากกว่า และทั้ง 2 หมู่บ้าน ได้มีโครงการนมให้เด็กดื่ม ซึ่งเริ่มมาเป็นเวลาประมาณ 5 ปีแล้ว

ในส่วนที่แตกต่างกัน คือ เด็กที่บ้านโนนสำราญมักรับประทานเหมือนผู้ใหญ่ แต่บ้านหัวขัวจะจัดอาหารตามวัยและมีอาหารประเภท ปลา ปลาหมึกมากกว่า

อาหารที่รับประทาน

อาหารที่ชาวบ้านรับประทานจะเหมือนกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบของปลาร้าและผงชูรส อาหารที่รับประทานเป็นประจำ ได้แก่

1. ข้าวเหนียว

2. ส้มตำ ผักต่างๆที่นิยมมาตำส้มตำ เช่น มะละกอ แตงกวา มะยม มะม่วง มะนาว กระเทียม พริก ปูดอง (แล้วแต่จะใส่) แต่สังเกตว่าส้มตำที่นี่ไม่ใส่กุ้งแห้ง เครื่องปรุง ได้แก่ ปลาร้า น้ำปลา ผงชูรส วิธีทำ นำกระเทียม พริกมาตำก่อน แล้วใส่ผักที่จะตำ ปรุงรสตามพอใจ

3. ป่น ประกอบด้วย เนื้อสุกตำละเอียด นิยมใช้ปลา กบ แย้ ปู ไก่ กินูน และมีการนำผักมาป่นด้วย เช่น ผักติ้ว หอมแดง พริกป่น มีเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำปลา ผงชูรส ปลาร้าต้ม น้ำ-เปล่า วิธีทำคือ นำเนื้อสุกตำละเอียดตำกับหอมแดง และพริกป่น แล้วปรุงรส ใส่น้ำแล้วคนให้เข้ากัน

4. ปลาร้าบอง (หนุมานทรงเครื่อง) ประกอบด้วย ปลาร้า ตะไคร้ซอย ใบมะกรูดซอย หอมแดง ขิง ข่า มีเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำมะขามเปียก ผงชูรส วิธีทำคือ นำปลาร้ามาสับ ใส่ผัก เครื่องปรุง แล้วตำพอให้เข้ากัน ไม่ต้องใส่น้ำ

5. หมก ประกอบด้วย เนื้อที่ต้องการทำ นิยมใช้ ลูกอ๊อด เขียดจานา ปลาซิว พังพอน ไก่ เป็ด มีเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำปลา มะนาว ผงชูรส ปลาร้า(แล้วแต่จะใส่) วิธีทำคือ นำเนื้อมาสับละเอียด ปรุงรส แล้วนำไปห่อใบเตยเพื่อนึ่ง

6. อ่อม ประกอบด้วย เนื้อ เช่น หอย ปู ปลา กุ้ง ข้าวกี่ ผักอีตู(ใบแมงลัก) ใบมะกรูด ตะไคร้ ขิง ข่า มีเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำปลา ผงชูรส มะนาว วิธีทำคือ ต้มน้ำ ใส่เนื้อไปต้ม ใส่ข้าวกี่ ผักต่างๆ ปรุงรส

7. ลาบ ประกอบด้วย เนื้อสับละเอียด เช่น เนื้อวัว ไก่ เป็ด ผัก เช่น ใบสะระแหน่ ขิง ข่า มีเครื่องปรุง ได้แก่ ปลาร้า น้ำปลา ผงชูรส น้ำมะนาว วิธีทำคือ นำเนื้อสุก มาปรุงรส ใส่ผัก คลุกให้เข้ากัน

8. น้ำตก เหมือนการทำลาบจะต่างกันคือน้ำตกจะใช้เนื้อสุกสับแต่ไม่ละเอียดนัก

9. ก้อย เหมือนการทำลาบ แต่ต่างกันที่ก้อยจะใช้เนื้อดิบ และไม่ใส่ ขิง ข่า

10. น้ำพริก นำพริกป่นมาตำใส่ปลาร้า

นอกจากนี้ยังมี อาหารเสริม ได้แก่ แมงมาคั่ว เช่น ตั๊กแตน กินูน กุ๊ดจี่ หนอนไหม ซึ่งสามารถรับประทานพร้อมอาหารหลักได้ ส่วนผลไม้นั้น ชาวบ้านไม่นิยมรับประทานเท่าใดนัก

สำหรับการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อนั้น มีดังนี้

มื้อเช้า รับประทานข้าวเหนียวกับกับข้าวทั่วไป พวก ไก่ปิ้ง ปลาปิ้ง ป่นปลา แต่จะไม่นิยมรับประทานส้มตำในมื้อเช้า

มื้อกลางวัน รับประทานส้มตำ ถ้าไปทำนาก็หาวัตถุดิบแถวนั้น เช่น กบ เขียด ลูกอ๊อด มาทำหมก อ่อม รับประทาน

มื้อเย็น นิยมซื้อรับประทาน เป็นอาหารทั่วไป พวกป่น

อาหารกับความเชื่อ

อาหารที่ให้รับประทาน ได้แก่

พญารากแดง แก้ โรคความดัน เบาหวาน

หญ้าแห้วหมู(ใช้หัว) แก้ ขัดเบา

ตะไคร้ หัวหอม แก้ เมา

ตุ๊กแกปิ้ง แก้ ตานขโมย นิยมให้เด็กรับประทานตอนเช้า โดยนำมาป่นให้ละเอียด

จิ้งจกดิบ(ทั้งตัว) แก้ ปวดหลัง

มะยม แตงกวา กล้วย แก้ เป็นไข้

หางงู ให้หญิงมีครรภ์รับประทานหางงูแล้วจะคลอดง่าย และ ให้รับประทานอาหารเปรี้ยวๆ เช่น ส้ม มะนาว

มะเว่อร์ ให้เด็กทานเพราะจะทำให้เด็กสมองดี

อาหารที่ห้ามรับประทาน ได้แก่

คนที่เป็นโรคกระเพาะ ไต ห้ามรับประทาน ไข่มดแดง เพราะ ไข่มดแดงมีรสเปรี้ยวจะทำให้ปวดท้อง

คนเป็นไข้ ห้ามรับประทาน มะพร้าว ขนุน น้ำแข็ง ฝรั่ง น้อยหน่า

หญิงมีครรภ์ ห้ามดื่มเหล้า น้ำอัดลม หรือรับประทานของหวาน (ทำให้เด็กสมบูรณ์แล้วคลอดยาก) และไข่(เด็กจะตัวฝืดคลอดยาก)

ความเชื่อที่เหมือนกันทั้ง 2 หมู่บ้าน เช่น คนท้องถ้ากินหางงูแล้วจะคลอดง่าย หลังคลอดไม่ให้รับประทานข้าวเหนียวกับเกลือก้อน ฝรั่ง มีความเชื่อเรื่องการใช้อาหารเป็นสมุนไพรในการรักษาโรค

สำหรับความเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น ในงานแต่งงาน ที่บ้านโนนสำราญ ให้มีอาหารที่เป็นเส้น(ขนมจีน) เพราะเชื่อว่าจะทำให้ครองรักกันได้ยืนยาว แต่ที่บ้านหัวขัว ไม่ให้มีอาหารเส้นในงาน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่ยุ่งเหยิง วุ่นวาย และที่บ้านโนนสำราญ ให้คนที่ทำผ้าไหมรับประทานหนอนไหมได้ โดยเฉพาะคนท้องให้รับประทานบำรุง แต่ที่บ้านหัวขัว ห้ามให้คนทำผ้าไหมรับประทานหนอนไหมเพราะถือว่าหนอนไหมได้ให้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ

ประโยชน์คุณค่าอาหาร

เนื่องจากอาหารที่ทั้ง 2 หมู่บ้านรับประทานมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และ ชาวบ้าน ทั้ง 2 หมู่บ้านมักไม่ค่อยคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารสักเท่าใด แต่เน้นที่ทำให้อิ่มท้องมากกว่า อาหารที่ทั้ง 2 หมู่บ้านรับประทานส่วนใหญ่จะมีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน จะไม่ค่อยมีไขมันมากนัก ถ้าใช้เกลือปรุงอาหารที่มีสารไอโอดีน สารอาหารที่ได้รับก็จะมีไอโอดีนผสมด้วย ทำให้ไม่เป็นโรคคอหอยพอก จากการสังเกตสารอาหารที่ได้รับน้อยมาก คือ ไขมัน ทำให้ร่างกายอาจได้รับพลังงานไม่เพียงพอ และทำให้ขาดวิตามินบางชนิด เนื่องจากวิตามินนั้น ๆ จะต้องละลายในไขมันเท่านั้น

จากการศึกษาพบว่า อาหารพื้นเมืองที่ชาวบ้านรับประทานทั่วไป เป็นอาหารที่ทำได้สะดวก จากวัตถุดิบที่หาได้ง่าย มีข้าวเหนียวเป็นหลัก เพราะข้าวเหนียวทำให้อิ่มท้องและเก็บได้นาน มีกับข้าวเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นอาหารแห้ง โดยมากมีส่วนประกอบของปลาร้าและผงชูรส สำหรับอาหารกับความเชื่อนั้น ชาวบ้านเชื่อสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบัน แม้ว่า บางความเชื่อจะเป็นเรื่องที่ผิด จึงควรมีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ แนะนำในสิ่งที่ถูกต้องโดยบอกถึงประโยชน์และโทษของอาหารให้แก่ชาวบ้าน เพื่อที่จะได้เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

2.2 สุขอนามัยในการบริโภค

ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านไม่ค่อยคำนึงถึงความสะอาดของอาหาร ภาชนะใส่อาหาร สถานที่ประกอบอาหาร และความสะอาดของตัวผู้ประกอบอาหาร ทั้งนี้จากการสังเกตการประกอบอาหารของชาวบ้านที่สาธิตการทำอาหารให้ชม จากการประกอบอาหารของบ้านที่ไปพักอยู่ด้วย หรือแม้แต่ร้านค้าขายอาหารของหมู่บ้าน พบว่าชาวบ้านให้ความสำคัญกับเรื่องความสะดวกมากกว่าความสะอาด

ปัญหาด้านสุขอนามัยในหมู่บ้านโนนสำราญ มีดังนี้

1) ความสะอาดของเครื่องมือ เครื่องใช้ และผู้ประกอบอาหาร

เครื่องมือ เครื่องใช้ที่นำมาประกอบอาหารส่วนใหญ่จะถูกวางไว้กับพื้นดิน เวลาจะใช้มักก็ไม่ล้างทำความสะอาดก่อน หรือแม้แต่ผู้ประกอบอาหารและผู้รับประทานเองก็ไม่ล้างมือก่อนทำอาหารหรือก่อนรับประทานอาหาร ทำให้เชื้อโรคที่ติดมากับอาหารสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง อหิวาตกโรค ฯลฯ

2) ลักษณะของการจัดเก็บอาหาร

การจัดเก็บอาหารที่รับประทานไม่หมด สังเกตเห็นว่าไม่มีการใช้ฝาชีเพื่อป้องกันแมลง อีกทั้งตู้เก็บอาหารส่วนใหญ่มักจะอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ เช่น มีช่องขนาดใหญ่ ไม่สามารถกันแมลงเล็กได้

3) การรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

อาหารที่ชาวบ้านรับประทาน ถ้าเป็นประเภท ก้อย จะไม่ทำให้สุก เพราะเชื่อว่าการทานเหล้ากับอาหารที่ไม่สุก เหล้าจะสามารถทำลายพยาธิและเชื้อโรคได้หมด แม้ว่าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเลิกรับประทานเนื้อดิบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเท่าใดนัก

4) การเลือกใช้ภาชนะใส่อาหาร

บางครั้งมีการเลือกใช้ภาชนะใส่อาหารไม่ถูกต้องนัก เช่น การนำจานหรือชามที่เป็นพลาสติกชนิดที่สามารถละลายได้เมื่อถูกความร้อนมาใส่อาหารที่ร้อนจัด ทำให้สารที่เคลือบไว้หลุดลอกออกมาปะปนอยู่ในอาหาร

5) บริเวณที่ใช้ประกอบอาหาร

ส่วนมากมักจะจัดมุมเล็กๆของบ้านเป็นที่ประกอบอาหาร ไม่เป็นสัดส่วนนัก บางครั้งก็อยู่ใกล้กับห้องน้ำ ทำให้เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้ง่าย

6) การซื้อสินค้า

พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ผงชูรสในการประกอบอาหาร และนิยมซื้ออาหารกระป๋องจากพ่อค้าแม่ค้าที่มาเร่ขาย เวลาซื้อไม่อ่านฉลากของสินค้าเลย ไม่พิจารณาถึงวันหมดอายุ หรือเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย ทำให้บางครั้งซื้อสินค้าที่หมดอายุแล้วมาบริโภค ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

7) ความสะอาดของน้ำดื่ม

ปกติชาวบ้านมักรองน้ำฝนไว้ดื่ม ซึ่งถือว่าเป็นน้ำที่สะอาด แต่บางปีที่ขาดแคลนน้ำฝน ชาวบ้านจะใช้น้ำบาดาลมาแกว่งสารส้มหรือทิ้งไว้ให้ตกตะกอน หรือถ้าน้ำที่ได้มาใสพอ ชาวบ้านก็นำมาดื่มโดยไม่นำน้ำนั้นไปต้มก่อน ทำให้น้ำที่ดื่มไม่สะอาดพอต่อการบริโภค

8) การจัดการระบบขยะ

โดยทั่วไปจะไม่มีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ถ้าเป็นขยะเปียกที่เกิดจากการประกอบอาหาร จะทิ้งลงตามพื้นดินใต้ถุนบ้าน ส่วนขยะที่สามารถเผาได้ ชาวบ้านใส่เข้าไปในเตาถ่าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายขยะที่ไม่ถูกวิธีแล้วยังทำให้ชาวบ้านได้รับสารพิษที่เกิดจากการเผา ส่วนขยะที่ไม่สามารถทำลายได้ก็ทิ้งไว้เฉยๆ เพราะชาวบ้านไม่รู้ถึงอันตรายและโทษของ สิ่งเหล่านี้ ปัจจุบันขยะเหล่านี้ยังมีปริมาณน้อย หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นปัญหาในอนาคต

นอกจากนี้ ชาวบ้านโนนสำราญยังไม่นิยมถนอมอาหารไว้บริโภค เพราะนำวัตถุดิบบริเวณบ้านมาประกอบอาหาร แต่สำหรับชาวบ้านหัวขัวแม้ว่านิยมซื้ออาหารรับประทานหรือซื้อวัตถุดิบจากที่อื่นมาประกอบอาหาร ก็ยังมีการถนอมอาหารบ้าง เช่น การทำผักส้ม ทำปลาร้า ซึ่งการถนอมอาหารที่พบ มีดังนี้

ปลาร้า เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เอื้อประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของคนอีสานมาก เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี และราคาต่ำ ทำโดย นำปลาที่หาได้ทุกชนิด ซึ่งหาได้เองเป็นส่วนใหญ่ มาล้าง นำปลาเหล่านั้นมาหมักเกลือป่น 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ไห โดยหมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วล้างใหม่ หลังจากนั้นใส่เกลือ 1 ถ้วย และรำ 1 ถ้วย แล้วปิดฝาทิ้งไว้ 6 เดือน

เหล้าสาโธ ได้จากการหมักข้าว ซึ่งวิธีทำคือ นำแป้งหัวเชื้อ มาหมักประมาณ 1 อาทิตย์ โดยใส่ในไห ก็นำมากินได้แล้ว โดยใส่แป้งประมาณ 2 ก้อน (เท่าไข่) ใส่ข้าวเหนียว 5 ลิตร ใส่น้ำครึ่งไห โดยรสชาติหวานเหมือนไวน์ เมานานกว่าเหล้าขาว และเหล้าสาโธนี้เป็น ของที่ผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าถูกจับได้จะถูกปรับ 2,000 บาท

เขียดดอง ทำในช่วงทำนา โดยเขียดจะหาง่าย และกินทุกอย่าง

ส่วนผลไม้นั้น จะไม่นำมาถนอมอาหารหรือแปรรูป นิยมกินสุกและถ้าเหลือก็ปล่อยให้เน่าเสียไป ไม่นำไปขายเพราะทุกบ้านปลูกเหมือนกันหมด

นอกจากนี้ยังมี “โครงการผักสวนครัวรั้วกินได้” ซึ่งเป็นโครงการพืชผักสวนครัวในหมู่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านเห็นว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจึงได้จัดทำโครงการขึ้นมา และผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้จัดซื้อเมล็ดพันธุ์ครั้งละมาก ๆ หลาย ๆ ชนิด แล้วไปแจกให้กับลูกบ้าน บางครั้งลูกบ้านอาจซื้อเมล็ดมาปลูกเองตามความพอใจควบคู่กันไปด้วยตามความพอใจ ผักที่นิยมปลูก ได้แก่ ต้นหอม ผักบุ้ง ฯลฯ อีกทั้งในโรงเรียนของหมู่บ้านก็มีการปลูกพืช ผักสวนครัวเหมือนกันโดยปลูกในฤดูฝนและฤดูหนาว

สำหรับน้ำในการบริโภคนั้น ชาวบ้านนิยมบริโภคน้ำฝน โดยทุกบ้านจะมีตุ่มขนาดใหญ่ไว้รองรับน้ำฝน วิธีการเก็บน้ำฝน คือ ล้างตุ่มรอไว้ เมื่อฝนตกจะปล่อยให้ฝนชุดแรกผ่านไปก่อน เป็นการล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บน้ำฝนชุดถัดมาลงในตุ่ม

จากการศึกษาพบว่า ชาวบ้านมีความตระหนักถึงสุขอนามัยในการประกอบอาหารน้อย ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะยังขาดความรู้ ความเข้าใจ อีกทั้งพบว่าการรณรงค์เกี่ยวกับสุขอนามัยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมีน้อยมาก ทำให้ยังคงเกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน เช่น ปัญหาโรคท้องร่วง เป็นต้น ปัญหาด้านสุขอนามัยบางอย่าง เช่น เรื่องความสะอาด หากให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชาวบ้าน ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ไม่ยากนัก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่พร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับตนเอง

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านนิยมหาอาหารที่จะนำมาบริโภคมีลักษณะที่ง่าย ๆ สบาย ๆ ดังนั้น โครงการพืช ผักสวนครัวรั้วกินได้นั้น จึงประสบความสำเร็จมาก สังเกตได้จากทุกบ้านจะมีการปลูกผักไว้ อาจเป็นแปลงเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง รวมทั้งปลูกริมรั้วด้วย เพราะไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาในการไปซื้อหามาจากนอกบ้าน

ส่วนความสะอาดในการบริโภคน้ำฝนนั้น พิจารณาได้ว่าสะอาด เพราะในชนบทยังไม่มีปัญหามลพิษมากนัก ที่จะมีปัญหาก็อาจเกิดจากในกระบวนการกักเก็บน้ำ เช่น ตุ่มไม่สะอาด กรรมวิธีการเก็บไม่ถูกต้อง เป็นต้น

2.3 เศรษฐกิจกับการบริโภค

เป็นปัญหาหลักของชาวบ้าน เนื่องจากฐานะของชาวบ้านส่วนใหญ่ค่อนข้างยากจน ลักษณะการบริโภคจึงเป็นแบบยังชีพ คือ มีมากก็กินมาก มีน้อยก็กินน้อย ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินว่าต้องอิ่ม อร่อย หรือถูกสุขลักษณะ หากไม่จำเป็นก็จะไม่ใช้เงินกับเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหาร

ฤดูกาลกับการบริโภคอาหาร มีส่วนอย่างมากและเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ กล่าวคือหากเป็นหน้าฝนของชาวบ้าน แม้น่าจะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะซื้ออาหารมารับประทาน เพราะเวลาในการประกอบอาหารหรือการเอาใจใส่ในเรื่องอาหารการกินมีไม่มากนัก เนื่องจากต้องทำนาทั้งวัน การซื้ออาหารจึงสะดวกกว่า แต่ชาวบ้านก็สามารถนำสัตว์บางชนิดมาประกอบอาหารด้วยเพราะอุดมสมบูรณ์ เช่น ปลา ปู กุ้ง เป็นต้น ส่วนในฤดูแล้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่จะอยู่บ้าน เพราะเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา อาจมีบ้างที่ออกไปทำไร่ เช่น ไร่มันสำปะหลัง แต่ก็ถือว่าช่วงนี้ ชาวบ้านมีเวลาในการประกอบอาหารหรือหาอาหารมารับประทาน เช่น ขุดแย้ ขุดปู จับกระปอม หาไข่มดแดง จับแมลงมาทำเป็นอาหาร ทำให้ไม่ต้องซื้ออาหารมากนัก สำหรับนักเรียนมักห่อข้าวมาจากบ้าน และได้รับอาหารจากโรงเรียนเสริม อาหารห่อของนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียวกับอาหารแห้ง ตามสภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

2.4 ปัญหาอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภค

ปัญหาเด็กขาดสารอาหารในโรงเรียน

ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านโนนสำราญและบ้านหัวขัวมักมีปัญหาในเรื่องสุขอนามัย ไม่คำนึงถึงคุณค่าอาหารเท่าที่ควร เด็กทั้ง 2 หมู่บ้านมักมีปัญหาเรื่องน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีปัญหาโรคขาดสารอาหาร (แต่ไม่มีปัญหาโรคคอพอก) เด็กนักเรียนของหมู่บ้าน โนนสำราญจำนวนมากอยู่ในภาวะการขาดสารอาหาร สังเกตจากเด็กในหมู่บ้านที่ค่อนข้างตัวเล็กและผอม โดยภาครัฐได้ให้การช่วยเหลือ ดังต่อไปนี้

โครงการอาหารกลางวัน

เป็นโครงการที่ให้ทุนสำหรับเด็กในโรงเรียนที่ยากจนและนักเรียนที่อยู่ภาวะ ขาดสารอาหาร โดยโรงเรียนจะเป็นผู้คัดเลือกนักเรียนซึ่งส่วนมากเป็นเด็กที่ขาดสารอาหาร และ เจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขอำเภอจะคัดเลือกเด็กโดยการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงของเด็ก มา เปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน หากต่ำกว่าเกณฑ์ก็ถือว่า เด็กอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งใน หมู่บ้านโนนสำราญนี้มีเด็กที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหารอยู่ในเกณฑ์สูงมาก แต่ทางรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือในกรณีนี้เพียง 5 บาทต่อคนต่อวัน นั่นคือทางโรงเรียนจะได้รับเงินเพียงวันละ 115 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ครูที่โรงเรียนได้นำไปซื้อ หรือประกอบอาหารที่เป็นประโยชน์ สำหรับอาหารกลางวันรวมให้กับนักเรียนทั้งโรงเรียน

โครงการนมโรงเรียน

เป็นโครงการจากทางรัฐบาลที่ให้นักเรียนในระดับประถมศึกษาและระดับอนุบาล ได้มีนมไว้ดื่มทุกวัน โครงการนี้ได้ดำเนินการมา 5 ปีแล้ว นักเรียนรุ่นแรกปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้น ป.3 ดังนั้น นักเรียนชั้น ป.4-ป.6 จึงไม่ได้รับทุนนี้

การปลูกพืช ผัก สวนครัวในโรงเรียน

โรงเรียนมีโครงการปลูกผักสวนครัวไว้เป็นอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน แต่โครงการจะดำเนินได้เฉพาะช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวเท่านั้น เพราะว่าในฤดูแล้งขาดแคลนน้ำ โครงการนี้ถือว่าสามารถช่วยให้เด็กมีอาหารกลางวันรับประทานได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และทำให้เด็กได้รับวิตามินจากผักเพราะส่วนใหญ่เด็กจะไม่ค่อยกินผัก เมื่อโรงเรียนจัดอาหารกลางวันเป็นผัก ทำให้เด็กต้องกินผัก จึงทำให้เด็กได้รับวิตามินจากผักที่โรงเรียนจัดให้

ปัญหาโรคพยาธิ

เนื่องจากชาวบ้านนิยมกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือกินดิบ เช่น ปลาร้า ซึ่งทำโดยใช้ปลา อึ่ง หมักกับเกลือ รำ ข้าวคั่ว เป็นเวลา 6 เดือน ปลาร้าจึงไม่ได้ผ่านความร้อนเลย ดังนั้น ในอาหารจึงมีพยาธิอยู่ และอาหารส่วนใหญ่ของชาวบ้านมักจะใส่ปลาร้า และชาวบ้านก็นิยมกินปลาร้าดิบ เช่น ปลาร้าบอง ลาบปลา ส้มปลา ปลาร้าตำ ชาวบ้านจะได้รับพยาธิที่มีอยู่ในเนื้อปลา ซึ่งอันตรายของพยาธิ คือ ถ้าพยาธิตัวแก่ที่อาศัยอยู่ในท่อน้ำดี จะทำให้เกิดการอักเสบของท่อน้ำดี เป็นมะเร็งท่อน้ำดี และเสียชีวิตในที่สุด สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องพยาธินั้น สถานีอนามัยได้รณรงค์ให้มีการกินอาหาร โดยใช้ความร้อนในการปรุงอาหารให้สุก เช่น การปิ้ง ต้ม ทอด ผัด หรือนึ่ง และมีการรณรงค์ให้มีการถ่ายอุจจาระในส้วมให้ถูกสุขลักษณะ เพราะสามารถระงับตัวอ่อนของพยาธิทุกชนิดไม่ให้แพร่กระจายออกไปสู่ภายนอก และควรตรวจอุจจาระปีละ 1 ครั้ง และกินยาถ่ายพยาธิ

ปัญหาการขาดสารไอโอดีน

ชาวบ้านนิยมใช้เกลือสินเธาว์ในการปรุงอาหาร เพราะราคาถูกและหาง่าย จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดสารไอโอดีน การขาดสารไอโอดีนรุนแรง ทำให้สติปัญญาต่ำ หูหนวก เป็นใบ้ มีความผิดปกติทางประสาท หรือเป็นโรคเอ๋อ นอกจากนี้ถ้าได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการคอพอก ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะทำให้เกียจคร้าน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ถ้าเป็นเด็กจะมีอาการเชื่องช้าทางจิตใจ และเชาวน์ปัญญาต่ำ ถ้าในเด็กแรกเกิดจะมีอาการทางสมอง ปัญญาอ่อน สำหรับอาการของโรคเอ๋อ คือ ร่างกาย สมอง ผิดปกติ ปัญญาอ่อน เป็นใบ้ หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาแหล่ แคระแกรน ช่วยตัวเองไม่ได้ จากการสอบถามจากครูอนามัย ถึงประวัติของเด็กที่เป็นโรคขาดสารไอโอดีนเห็นได้ว่า เมื่อก่อนมีเด็กเป็นโรคคอพอก 2 คน ทางโรงเรียนจึงแจ้งไปยังสถานีอนามัย และสถานีอนามัยก็จะจัดส่งสารไอโอดีน เพื่อให้โรงเรียนมาหยอดในน้ำดื่มสำหรับเด็ก เมื่อเด็กหายเป็นโรคคอพอก ทางสถานีอนามัยจึงงดการหยอดสารไอโอดีน ปัจจุบันไม่มีเด็กเป็นโรคคอพอกแล้ว และทางสาธารณสุขอำเภอก็ให้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) มารับเกลือที่มีสารไอโอดีนไปขาย

ปัญหาทางด้านพฤติกรรมการประกอบอาหารและการบริโภค

1) ชาวบ้านใช้เตาถ่านในการหุงต้มอาหาร เชื้อเพลิงที่ใช้นอกจากฟืนแล้ว ส่วนมากยังใช้ขยะประเภทพลาสติกและเศษกระดาษใส่ลงไปในเตาด้วย ทำให้เขม่าควันจากพลาสติกไปจับที่อาหารโดยเฉพาะอาหารที่ปิ้ง ทำให้ได้รับสารพิษเข้าไปในร่างกาย

2) สถานที่ที่ใช้ประกอบอาหาร ยังไม่มิดชิด จึงมีพาหะนำโรค เชื้อโรค และฝุ่น ปลอมปนลงไปในอาหาร

3) ชาวบ้านนิยมบริโภคอาหารซ้ำ ๆ และไม่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการเท่าที่ควร

2.5 สรุป

จากการศึกษาเปรียบเทียบจะเห็นว่าวัฒนธรรมการบริโภคท้องถิ่น ของหมู่บ้านโนนสำราญ พบว่า ทุกครอบครัวกินง่ายอยู่ง่าย อาหารการกินคล้ายคลึงกัน ไม่ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ การบริโภคของชาวบ้านโนนสำราญจะให้ความสำคัญกับรสชาติและความประหยัดมากกว่าประโยชน์และคุณค่าของสารอาหารที่จะได้รับ และสุขอนามัยในการบริโภคเมื่อเปรียบเทียบกับหมู่บ้านหัวขัวซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากบ้านโนนสำราญมากนัก ก็พบว่าวัฒนธรรมการบริโภคคล้ายคลึงกันและปัญหาต่างๆ ซึ่งสืบเนื่องจากการบริโภคก็ไม่แตกต่างกัน เช่น โรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคพยาธิ และการขาดสารอาหารในเด็ก เป็นต้น

จากตัวอย่าง 2 หมู่บ้านที่ได้ศึกษามา พอสรุปได้ว่าชาวชนบทไทย มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่เรียบง่าย เป็นไปตามสภาพแวดล้อมจะอำนวย ถ้าฝนตกมากพืชผักเจริญงอกงาม อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาล อาหารการกินก็จะขาดแคลน เมื่อผนวกกับความไม่รู้เกี่ยวกับโภชนาการ ทำให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากการได้รับความรู้ ข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอ รวมถึงการแก้ปัญหาของหน่วยงานของรัฐที่ไม่ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องเท่าที่ควร