logos.gif (7470 bytes)สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

LOOKER1.GIF (1665 bytes)

 

บทที่ 3

อาชีพเสริมของชาวบ้านโนนสำราญ

 

เมื่อกล่าวถึงการประกอบอาชีพในชุมชนหนึ่ง ๆ ส่วนใหญ่มักนึกถึงอาชีพหลักก่อนที่จะนึกถึงอาชีพอื่นที่รองลงมา จนบางครั้งอาจทำให้ไม่สนใจศึกษาอาชีพอื่นที่คนในชุมชนนั้น ประกอบการดำรงชีวิต ทั้งที่อาชีพอื่นหรืออาชีพเสริมนี้อาจมีความสำคัญและทำรายได้ไม่น้อยไปกว่าอาชีพหลัก และจากการสำรวจพื้นที่หมู่บ้านโนนสำราญ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม พบว่าอาชีพหลักในชุมชนเป็นอาชีพกสิกรรม เช่น การทำนา ทำไร่อ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ส่วนอาชีพเสริมได้แก่ การทอผ้าไหม การทอสาด การเลี้ยงสัตว์ การรับจ้างเย็บผ้า การประกอบกิจการร้านค้า การปรุงยาสมุนไพร และการทำบั้งไฟ ซึ่งอาชีพเสริมเหล่านี้ได้สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านโนนสำราญไม่น้อย

3.1 การทอผ้าไหม

การทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริมที่สำคัญของหมู่บ้านโนนสำราญ ผู้หญิงในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่ทอผ้าเป็นเพราะทำสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ และถือว่าการทอผ้าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้หญิง แม้ในปัจจุบันเด็กผู้หญิงมีโอกาสไปโรงเรียนได้รับการศึกษามากขึ้น ทำให้มีเวลาฝึกฝนการทอผ้าน้อยลง แต่ก็พบว่าชาวบ้านยังคงสอนลูกหลานให้สืบทอดวิชาการทอผ้าไหม โดยหลังจากทำนาแล้ว ชาวบ้านจะเริ่มเลี้ยงไหมและทอผ้า ซึ่งผ้าไหมที่ทอได้ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ใช้เองและให้ลูกหลาน หรือให้เป็นของขวัญในโอกาสสำคัญ สำหรับบางบ้านที่ทอผ้าไหมเป็นจำนวนมากจนเหลือใช้จะนำผ้าไหมออกขายให้กับคนนอกหมู่บ้าน รายได้ที่ได้จากการขายผ้าไหมก็เป็นรายได้เสริมครอบครัวต่อไป

การทอผ้าไหมทำได้ตลอดทั้งปี แต่นิยมทำในฤดูแล้งมากกว่า เพราะฤดูฝนต้องทำนา ไม่มีเวลาทอผ้า แต่ในระหว่างนั้นก็จะเลี้ยงไหมเก็บไว้ สาเหตุที่นิยมทอผ้าไหมในฤดูร้อนมากที่สุดเพราะไหมจะมีคุณภาพดีกว่าในฤดูหนาว ไหมที่ใช้ทอผ้าโดยทั่วไปมี 2 ชนิด คือ ไหมจีนเป็นสีขาว และไหมพื้นเมืองเป็นสีเหลือง แต่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงไหมพื้นเมืองมากกว่า เพราะมีคุณภาพดี สวยงาม เหนียวและทนทานดีกว่า โดยมีวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้าไหม ได้แก่ หนอนไหมและใบหม่อน กระด้งเลี้ยงไหมและมุ้งครอบ อักกวกไหม ไน กง เหล่ง พวงสาวไหม ด่างและสีเคมีย้อมผ้า หลักเผีย โฮงมัดหมี่ และกี่ทอผ้า

สำหรับขั้นตอนการทอนั้น เริ่มแรก ผู้เลี้ยงไหมจะรับหนอนไหมมาจากเกษตรอำเภอมาเลี้ยง วัฏจักรของตัวไหมจะเริ่มจาก ฝักไหม 7 วัน ตัวหนอนในฝักจะเจาะฝักออกมากลายเป็นผีเสื้อไหมหรือตัวบี้ หลังจากนั้นตัวบี้ตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์กัน เมื่อตัวเมียออกไข่แล้ว ตัวบี้ก็ตายไป ไข่จะแตกกลายเป็นตัวหนอนเล็ก ๆ ภายใน 10 วัน จึงเริ่มให้อาหารเลี้ยงหนอนไหมด้วย ใบหม่อน หนอนไหมนี้จะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น ระหว่างเลี้ยงจะต้องมีมุ้งครอบกระด้งเพื่อป้องกันไม่ให้มดและแมลงวันรบกวน เพราะจะทำให้หนอนไหมตายได้ ภายในระยะเวลาประมาณ 1-1.5 เดือน ตัวหนอนจะโตเต็มที่และเริ่มสร้างฝักและผลิตเส้นใยไหมภายในฝักนั้น เมื่อสังเกตเห็น ฝักไหมโตเต็มที่และมีใยไหมพันอยู่บางๆโดยรอบแล้ว ก็นำไปต้มสาวไหมต่อไป โดยมากผู้เลี้ยงจะเก็บฝักไหมที่โตเต็มที่ส่วนหนึ่งไว้ เพื่อให้มันเจาะรูออกมาและขยายพันธุ์ต่อไป

ขั้นที่สอง หลังจากหนอนไหมเริ่มสร้างฝัก และอยู่ในฝักเพื่อสร้างใยไหมประมาณ 7 วัน เมื่อฝักโตเต็มที่ก็นำมาต้มเพื่อสาวไหม ไหมฝักใดที่ดักแด้เจาะรูออกมาแล้วกลายเป็นตัวบี้จะใช้ไหมฝักนั้นไม่ได้ เพราะเส้นไหมจะถูกกัดขาดแล้ว จึงต้องเลือกเฉพาะฝักที่ยังไม่ถูกเจาะออกมาเท่านั้น การสาวไหมจะเริ่มจากการใส่ฝักไหมลงไปในน้ำร้อนในหม้อที่ต้มด้วยไฟอ่อน ๆ ฝักไหมจะลอยขึ้น ขณะต้มจะใช้ไม้หีบคอยเกลี่ยไหมให้ใยไหมหลุดออกจากฝักเข้าไปในไม้หีบต่อเข้าไปยังพวงสาวไหม และสาวออกให้ไหมเป็นเส้นยาวโดยระวังไม่ให้ไหมขาดออกจากกัน ฝักไหมที่ สาวไหมออกจนหมดแล้ว จะเหลือเป็นเปลือกสีขาวบาง ๆ ซึ่งมีดักแด้อยู่ข้างใน ซึ่งดักแด้นี้สามารถนำมากินได้

ขั้นที่สาม เป็นการเหล่งไหม คือ การทำให้ไหมเป็นปอยหลังจากสาวไหมได้ไหมเป็นเส้นแล้ว โดยใช้เครื่องเหล่งไหมที่มีลักษณะเป็นวงล้อมีที่จับให้วงล้อหมุน ระหว่างทำไหมในกะละมังจะใส่ดินกลบลงไป เพื่อไม่ให้ไหมฟูขึ้นมาพร้อมกัน และเมื่อรวมไหมได้เป็นกลุ่มแล้ว ก็จะมัดเป็นปอย

ขั้นที่สี่ คือการฟอกไหม โดยใช้ด่างกัดไหมให้กลายเป็นสีขาว เพื่อให้สะดวกต่อการย้อมสีและทำให้สีย้อมติดไหมได้ทนนาน วิธีทำคือต้มน้ำผสมด่าง แช่ไหมลงไปกัดให้เป็นสีขาว คอยคนให้ทั่วเพื่อให้สีเท่ากัน เสร็จแล้วนำขึ้นล้างน้ำและผึ่งให้แห้ง

ขั้นที่ห้า คือ การแก่งไหม (แกว่งไหม) โดยทำให้เส้นไหมมีขนาดเล็กลงและมีความเหนียวมากขึ้น ทำโดยนำไหมร้อยเข้าใส่ในไน ปั่นไหมไปตามไน โดยให้เส้นไหมก่อนเข้าไนร้อยรูอยู่ในถ้วยอีแปะใส่น้ำรองไว้ เป็นการรีดให้ไหมมีขนาดเล็กลง

ขั้นที่หก คือ การค้นหูก โดยใช้อุปกรณ์ “หลักเผีย” เป็นการเตรียมไหมทำให้เป็นเส้นยาวพอดีกับขนาดของฟืม พร้อมที่จะนำไปทอ โดยใช้เฉพาะไหมยืน

ขั้นที่เจ็ด เป็นขั้นตอนการมัดหมี่ ซึ่งเป็นการกำหนดลวดลายของผ้าก่อนจะนำไปย้อม ทำโดยนำไหมที่ฟอกแล้วมาขึงกับโฮงมัดหมี่ (อุปกรณ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ไหมยึดเพื่อมัดลาย) เมื่อนำไหมมายึดกับโฮงแล้วก็จะมัดเส้นไหมเป็นลายที่ต้องการด้วยเชือกฟางให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้สีย้อมหลุดเข้าไปติดไหมส่วนที่ไม่ต้องการ

ขั้นที่แปด คือการย้อมสีตามต้องการ โดยย้อมจากสีอ่อนสุดไปยังสีเข้ม ใช้สีเคมี (สีเยอรมัน) ในการย้อม ในอดีตเมื่อยังไม่มีสีย้อมผ้า จะใช้สีแดงจากครั่งเป็นตัวย้อม ซึ่งเฉดสีธรรมชาตินี้มีไม่มากนักและหลุดได้ง่าย ปัจจุบันจึงนิยมใช้สีเคมีย้อมผ้าด้วยการละลายสีย้อมลงในน้ำอุ่น แล้วนำไหมที่ฟอกล้างสะอาดจุ่มลงในน้ำย้อมขยำให้ทั่ว ค่อย ๆ เร่งความร้อนขึ้นจนเดือด หมั่นพลิกไหมกลับไปมาเพื่อกันสีด่าง ใช้เวลาประมาณ 40-50 นาที แล้วนำไหมขึ้น ล้างให้สะอาด และผึ่งให้แห้ง

ขั้นที่เก้า คือ การกวกหมี่ เป็นการแบ่งไหมจากปอยใหญ่ให้เป็นปอยเล็ก โดยใช้กง(อุปกรณ์ปั่นไหม) มาต่อกับอัก พันไหมจากกงให้ลงมาอยู่ที่อัก เพื่อให้ได้ไหมที่เป็นปอยเล็กลง หลังจากนั้นให้แยกส่วนที่จะทอเป็นลายออกจากส่วนที่จะต่อกับไหมยืน และนำไหมที่จะทอใหม่มาพันต่อกับส่วนของด้ายเก่าที่ฟันหวีของกี่ทอผ้า เตรียมเพื่อจะทอต่อไป

ขั้นที่สิบ เป็นการปั่นไหม โดยเตรียมไหมส่วนที่จะทอเป็นลายให้เป็นหลอดเพื่อนำไปใส่กระสวยให้สามารถทอได้ทันที วิธีทำ คือ นำไหมที่กวกเสร็จแล้วมาใส่ในไนแล้วปั่น พันใส่หลอดสำหรับใส่ในกระสวยทอผ้า แยกเป็นหลอดแล้วเรียงตามลายและร้อยลงเชือกใส่ไว้เพื่อสะดวกในการหยิบใช้ เวลาจะนำไปทอนี้ต้องใช้ไหมเรียงตามลำดับของลายไหม ไม่เช่นนั้นลายที่ทอออกมาจะไม่ต่อเนื่องกัน

ขั้นสุดท้าย คือการทอผ้า หากทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนต่อผืน ในกี่ทอผ้าจะมีไหมยืนขึงพาดอยู่ตามแนวยาว สอดผ่านตามช่องของฟืม ลายผ้าไหมจะเกิดจากลายไหมที่อยู่ในกระสวยตามแนวขวาง เวลาทอจะมีที่เหยียบอยู่ใต้กี่ 2 อัน ใช้ยกไหมยืนขึ้นและขัดลายไหมในกระสวยไปตามแนวขวาง ทำกลับกันไปเรื่อยๆตามลายไหมที่อยู่ในหลอดตามที่ได้กำหนดไว้ เมื่อทอเสร็จแล้วก็ตัดปลายทิ้งให้เหลือชายไว้อยู่ที่ฟันหวี เพื่อให้สามารถต่อเข้ากับไหมที่ต้องการจะทอครั้งต่อไป

การทอผ้าไหมจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก เพื่อประดิษฐ์ลายผ้าให้มีความงดงาม ลายที่ใช้ทอกันทั่วไปจัดว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ชาวบ้านคิดค้นได้เอง จากการสำรวจการทอผ้าไหมในพื้นที่หมู่บ้านโนนสำราญพบว่า โดยทั่วไปนิยมทำเลียนแบบกันต่อมา บ้างก็เลียนแบบมาจากลายผ้าของที่อื่น บ้างก็เลียนแบบจากลายผ้าที่สืบทอดมาแค่บรรพบุรุษ ลายที่เป็นที่นิยมทำกันมาก คือ ลายนาคต้นสน และลายเจ้านาง เพราะสามารถทำได้ง่าย ผ้าไหมของผู้หญิงจะทอเป็นลายสวยงามลงบนผ้าสีพื้น ส่วนผ้าไหมของผู้ชายจะทอเป็นผ้าโสร่งนิยมทอเป็นลายตาหมากรุก ใช้สีสันสวยงาม

ปัญหาที่ประสบในการทอผ้าไหม ได้แก่ การที่ตัวหนอนไหมติดโรค หรือถูกแมลงรบกวน เพราะตัวหนอนไหมมีความบอบบางมาก ต้องเลี้ยงไว้ในที่เฉพาะที่มีมุ้งครอบมิดชิด และมีอากาศโปร่ง ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป

เนื่องจากผ้าไหมมีกรรมวิธีในการผลิตมากมายหลายขั้นตอนและทำยาก ชาวบ้านจึงรู้ถึงคุณค่าของผ้าไหมมาก และถือว่าเป็นสิ่งของมีค่าเฉกเช่นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วชาวบ้านไม่นิยมขายผ้าไหมที่ตนทอขึ้นเอง แต่จะเก็บไว้ให้ลูกหลานใส่ นอกจากบางบ้านมีผ้าไหมที่ทอเองไว้มาก ก็จะนำที่เหลือไปขายบ้าง แต่สาเหตุสำคัญที่ชาวบ้านไม่นิยมขายผ้าไหมที่ทอเองก็คือ คนในหมู่บ้านแทบทุกครัวเรือนสามารถทอผ้าไหมเองได้ ตลาดของกิจการขายผ้าไหมจึงอยู่นอก หมู่บ้าน แต่ก็มีบางครั้ง เช่น เทศกาลที่มีการทอดกฐินหรือผ้าป่าจากในเมืองมาลงที่หมู่บ้าน ที่มีคนมาติดต่อขอซื้อผ้าไหม อย่างไรก็ตาม พบว่าชาวบ้านโดยทั่วไปไม่นิยมขายเพราะเสียดายและเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการเสียเวลาทำ สำหรับราคาขายนั้นประมาณ 1,000-1,200 บาทต่อผืน

ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีหน่วยงานใดให้การสนับสนุนการทอผ้าไหมในหมู่บ้านเพื่อทำเป็นอาชีพเสริมอย่างจริงจัง แต่ก็มีบ้างที่เกษตรอำเภอนำเอาไหมเกษตรมาให้ชาวบ้านทอ แต่ไหมชนิดนี้ก็ไม่เป็นที่นิยม เพราะเส้นไหมมีขนาดใหญ่และหยาบ ทอออกมาแล้วจึงไม่สวยและละเอียดเท่ากับผ้าทอจากไหมพื้นเมือง ชาวบ้านจึงไม่สนใจรับเอาไหมชนิดนี้ไปทอ แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทางอำเภอก็ตาม และสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ เมื่อทอเสร็จแล้ว ก็ไม่มีใครมารับเอาผลผลิตไปดังที่ตกลงกันไว้ ชาวบ้านจึงยังคงทำการทอผ้าไหมเป็นเฉพาะแต่อุตสาหกรรมในครัวเรือนเท่านั้น

เนื่องจากการทอผ้าไหมต้องใช้วัตถุดิบที่สำคัญในการเลี้ยงตัวไหม คือ ใบหม่อน ซึ่งเป็นต้นไม้เมืองร้อนที่สามารถขึ้นได้ดีในภาคอีสาน ชาวบ้านที่เลี้ยงไหมจึงมักปลูกต้นหม่อนไว้อยู่ในเขตรั้วบ้านของตนเอง ดังนั้น การที่ภาคอีสานมีการปลูกต้นหม่อนกันมาก จึงทำให้ชาวบ้านในภาคอีสานนิยมทอผ้าไหมกันมากด้วย

ความนิยมในการใช้ผ้าไหมในการแต่งกายที่มีมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้อาชีพการทอผ้าไหมก็ยังคงมีอยู่ต่อไป และนอกจากการทอผ้าไหมจะเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยแล้ว การใช้ผ้าไหมไทยยังมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยอีกด้วย ดังนั้น การที่คนในหมู่บ้านโนนสำราญยังคงทอผ้าไหมใช้กันเองอยู่ ก็เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ และสะท้อนสภาพวัฒนธรรมในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และหากมีการสนับสนุนการทอผ้าไหมให้เป็นอาชีพเสริมของคนในหมู่บ้านอย่างเป็นจริงจังแล้ว รายได้เสริมครอบครัวของคนในหมู่บ้านก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญ คือ วัฒนธรรมการแต่งกายแบบพื้นบ้านของไทยก็จะได้รับการยอมรับและยังคงไม่ สูญหาย และสืบทอดไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป

3.2 การทอสาด

ยามที่มีเวลาว่างหลังจากการดำนา เกี่ยวข้าว ชาวบ้านโนนสำราญได้นำเอากก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถหาได้ในบริเวณหมู่บ้านมาทอเป็นสาด กกเหล่านี้ ชาวบ้านได้มาจากหนองน้ำหลังโรงเรียนบ้านโนนสำราญ ซึ่งมีอยู่ 2 หนอง คือ หนองฝายกลางและหนองฝายใหม่ ส่วนใหญ่การทอสาดนี้มักจะทอไว้ใช้เองและใช้ในงานบุญประเพณีต่าง ๆ บางบ้านทอสาดเป็นอาชีพเสริม เพื่อหารายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว ถึงแม้รายได้จากการทอสาดจะไม่มากนัก แต่ที่นิยมทอสาดเป็นอาชีพเสริมก็เพราะสามารถหาวัตถุได้ตามธรรมชาติ โดยนำต้นกกมาตากให้แห้งแล้วทอ โดยเราสามารถแบ่งกกออกได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะลำต้นของกก คือ

1. กกกลม ภาษาท้องถิ่น เรียกว่า “ไหล” มีลักษณะลำต้นสูง กลม สีเขียว ไม่มีใบ ปลายของลำต้นนี้จะมีดอก เวลานำเอาไหลมาใช้งานนี้ทำโดยการตัดโคนและปลายออก แล้วแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพื่อให้ขนาดของไหลเล็กลง โดยมีความยาวเท่าเดิม เวลานำไปทอจะได้มีความละเอียดและสวยงามมากขึ้น การทอสาดโดยใช้ไหลนี้มีความสวยงามเพราะมีความเงาและลื่นเวลานอนบนสาดที่ทอมาจากไหลจะรู้สึกเย็นสบายกว่า ไหลมี 2 ชนิด โดยแบ่งตามสถานที่ปลูก คือ

    1. ไหลดิน พบได้บนพื้นดิน โดยการเอาเหง้าของไหลดินมาปลูก แต่ไหลชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากต้องดูแลรักษา
    2. ไหลน้ำ พบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น หนองน้ำ บึง ชาวบ้านนิยมนำไหลน้ำมาทอเนื่องจากหาได้ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยในช่วงฤดูทำนาจะนำเอาเหง้าของไหลน้ำไปปักลงในนา แล้วปล่อยให้ขึ้นเอง โดยไม่ต้องดูแลรักษา และเมื่อโตเต็มที่แล้วก็ตัดนำไปทอสาด

2. กกเหลี่ยม ภาษาท้องถิ่น เรียกว่า “ผือ” มีลักษณะลำต้นมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ไม่มีใบ ลำต้นเป็นสีเขียว เช่นเดียวกับไหล เวลานำมาทอสาดจะตัดโคนและปลายออก จากนั้นแบ่ง ออกเป็น 3 ส่วน เพื่อให้เส้นเล็ก จะได้มีความละเอียด แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ที่หมู่บ้านโนนสำราญนี้ สามารถหาผือได้ง่ายกว่าไหล จึงพบสาดที่ทอจากผือมากกว่าไหล ผือนี้แบ่งตามสถานที่พบได้ 2 แบบ คือ

    1. ผือนา พบตามท้องนาทั่วไป มีขนาดของลำต้นเล็กและมีความนุ่มกว่าผือที่พบตามหนองน้ำ ทำให้นิยมใช้ผือนามาทอสาดมากกว่าผือที่พบตามหนองน้ำ
    2. ผือมู่ จะขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ แหล่งน้ำต่างๆ มีขนาดลำต้นใหญ่กว่า ผือนา

นอกเหนือจากวัตถุดิบที่สำคัญอย่างเช่นกกแล้ว ยังมีเส้นเชือกซึ่งใช้เป็นเส้นยืนอีก เส้นยืนนี้ได้ใช้เชือกฟางมาบิดพันเป็นเกลียว โดยชาวบ้านมักเรียกว่า “ฟาง” สามารถหาซื้อได้จากตลาด มีราคาไม่แพง โดยใน 1 มัดนี้สามารถใช้ทอสาดได้หลายผืน ขึ้นอยู่กับความยาว และความกว้างของสาด

สำหรับวิธีการทอสาดในหมู่บ้านโนนสำราญนั้นขึ้นกับอุปกรณ์ที่ใช้ ซึ่งมี 3 วิธี คือ

1) ฟันหวี

เป็นวิธีที่ค่อนข้างจะโบราณและปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเพราะความลำบากในการสอดกก ฟันหวีเป็นอุปกรณ์ที่ทำมาจากต้นตาล มีลักษณะคล้ายหวี โดยมีความกว้างของฟัน ประมาณ 5-7 เซนติเมตร ความกว้างของหวีนี้จะบ่งบอกถึงความห่างของเส้นยืน การทอสาดโดยวิธีนี้จะวางโครงตามแนวตั้ง (แนวยืน) ให้มีความยาวของสาดตามต้องการ จากนั้นเดินเส้นยืนขึ้นลงตามแนวโครง ระยะห่างของเส้นยืนต้องใกล้เคียงกับระยะห่างของฟันหวี เมื่อเดินเส้นยืนเสร็จ จึงสอดกกให้เส้นยืนไขว้ไปมาโดยใช้มือ และเมื่อสอดกกเสร็จแล้ว ก็ใช้ฟันหวีฟัดกกลงมาข้างล่าง จากนั้นสอดกกแถวต่อมาให้ไขว้กับแถวก่อนหน้า ใช้ฟันหวีฟัดกกนั้นลงมาข้างล่างให้แน่น แล้วถักขอบ ทำเช่นนี้ต่อไปจนได้ความยาวที่ต้องการ

 

 

2) โฮงทอสาด

มีอุปกรณ์คือ โฮงทอสาด ฟืม ไม้โป้งเป้ง และไม้แนบ โดยโฮงทอสาด มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละบ้าน โดยรวมแล้วมีลักษณะเป็นโครงไม้ประกอบกัน เพื่อที่จะใช้ในการวางเส้นยืนในแนวนอน(แนวราบกับพื้น) ฟืมทำมาจากต้นตาลเช่นเดียวกับฟันหวี มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านยาวค่อนข้างยาวมาก ตามขนาดความกว้างของสาดที่ทอ โดยมีรูเจาะระยะห่างเท่า ๆ กัน ประมาณ 3-4 เซนติเมตร เพื่อให้ฟางที่เป็นเส้นยืนสอดเข้าไป และมีการขูดฟืมช่องเว้นช่องเพื่อช่วยในการยกและกดเส้นยืนให้ไขว้กัน ช่วยเวลาการสอดกก ไม้โป้งเป้ง เป็นลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ เส้น ผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อใช้ร้อยยึดเส้นยืนไว้ โดยจะวางไม้โป้งเป้งนี้บนโฮงทอสาด และไม้แนบ (หรือไม้แทนกระสวย) เป็นไม้ไผ่เล็กแบน ใช้สอดกกเข้าไปในเส้นยืน

เมื่อประกอบโฮงทอสาดเสร็จแล้ว นำเอาไม้โป้งเป้งวางพาดตรงกลาง จากนั้นร้อยเชือกฟางจากขอบของโครงข้างหนึ่ง ไปอีกข้างหนึ่งโดยโยงข้ามไม้โป้งเป้ง แล้วผ่านรูของฟืม โดยร้อยเรียงรูของฟืมไปเรื่อยๆจนครบตามความกว้างที่ต้องการ เมื่อร้อยเส้นยืนเสร็จ ก็จะสอดกกเข้าสู่เส้นยืน โดยใช้ไม้แนบเป็นตัวช่วยในการสอดนี้ ก่อนที่จะสอดกก ต้องผลักฟืมไปข้างหน้าก่อนเพื่อให้เส้นยืนนั้นยกขึ้น และกดลงสลับกัน เมื่อสอดกกเสร็จ จึงผลักฟืมกลับหลัง ให้เส้นยืนที่เดิมถูกยกนั้นจะกดลง และเส้นที่ถูกกดลงยกขึ้นสลับกันแทน แล้วสอดกกโดยใช้ไม้แนบอีก จึงถักขอบ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนได้ความยาวที่ต้องการ แล้วตัดปลายเส้นยืนผูกติดกัน จึงเย็บขอบของสาด

การทอสาดโดยวิธีใช้โฮงทอสาดนี้มีความสะดวกกว่าการใช้ฟันหวีมาก และยังทำให้ได้งานที่ละเอียดและแน่นกว่าการทอสาดโดยใช้กี่ แต่ทอได้ช้ากว่าการทอด้วยกี่ โดยมากการทอด้วยโฮงทอสาดนี้มักทอกัน 2 คน โดยให้คนหนึ่งจับฟันหวีผลักหน้าหลัง อีกคนคอยสอดกก วิธีนี้จะได้สาดประมาณ 2 ผืน ต่อวัน

3) กี่

กี่ที่ใช้ในการทอสาดนี้มีลักษณะคล้ายกับกี่ทอผ้า แต่จะต่างกันที่ฟืม ฟืมของสาดนี้จะมีรูไว้สำหรับร้อยเส้นยืน ระยะห่างของรูนี้เท่ากับระยะห่างของเส้นยืน การทอสาดโดยการใช้กี่นี้เริ่มจากการร้อยเส้นยืนในกี่ผ่านฟืม จากนั้นเราเอากกสอดเข้าในเส้นยืนโดยใช้เท้าเหยียบที่เหยียบด้านล่างของกี่ เพื่อเป็นการยกขึ้นลงของเส้นยืน เมื่อสอดกกเสร็จ ใช้ฟืมฟัดให้แน่น แล้วก็เหยียบอีกอันหนึ่ง เพื่อให้ยกเส้นยืนสลับกัน แล้วถักขอบ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนได้ความยาวตามต้องการ แล้วเย็บขอบของสาด

ชาวบ้านนิยมการทอสาดโดยใช้กี่มาก เพราะทอได้สะดวกและรวดเร็วกว่าวิธีอื่น ๆ แต่การทอสาดโดยวิธีนี้จะได้สาดที่ไม่แน่นเท่า 2 วิธีแรก การทอสาดโดยใช้กี่นี้จะได้สาดประมาณ 3-4 ผืน ต่อวัน ต่อคน สาดที่ชาวบ้านทอขายนี้ราคาผืนละอย่างต่ำประมาณ 25 บาท ในสาดที่มีความแน่นมาก (ทำจากโฮงทอสาด) จะมีราคาสูงขึ้นถึง 60-70 บาท จากการสอบถาม รายได้ในการทอสาดขายนี้ประมาณ 4,000 – 5,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน ซึ่งโดยมากจะมีคนมารับซื้อถึงบ้าน แต่ไม่ได้นำออกไปขายตามตลาดในเมือง เนื่องจากชาวบ้านในจังหวัดนี้ทอสาดเป็นแทบทั้งสิ้น

ปัญหาที่พบมากที่สุดในการทอสาด ก็คือ การขาดกกที่นำมาใช้ทอสาดเพราะความแห้งแล้ง เนื่องจากต้นกกจะขึ้นตามแหล่งน้ำ เมื่อน้ำแห้งหมดกกก็ไม่สามารถอยู่ได้ แม้ว่าการทอสาดขายเป็นอาชีพเสริมจะมีรายได้ไม่มากก็ตาม แต่ก็เป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้เงินในการลงทุน เพราะวัตถุดิบในการทำสาดนี้สามารถหาได้ตามแหล่งน้ำใกล้เคียง นอกจากนี้การทอสาดยังเป็นการสืบต่อวัฒนธรรมที่ได้ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษให้คงอยู่กับคนไทยต่อไป

3.3 การเลี้ยงสัตว์

ชาวบ้านโนนสำราญนี้นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม การเลี้ยงสัตว์ในยุคแรก ๆ เป็นการเลี้ยงเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับอาชีพกสิกรรม แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปมีรถไถนาเข้ามาแทนที่ การเลี้ยงกระบือในปัจจุบันจึงเป็นการเลี้ยงเพื่อขายเช่นเดียวกับปศุสัตว์อื่นๆ

นอกจากกระบือที่กล่าวข้างต้นแล้ว โคยังเป็นสัตว์ยอดนิยม เนื่องจากอยู่ง่ายกินง่าย ได้ราคาเมื่อยามขาย จากการศึกษาพบว่าการเลี้ยงโค-กระบือของชาวบ้านนั้นเหมือนการมีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินกล่าวคือ เลี้ยงไปเรื่อยๆ เมื่อเดือดร้อนจำเป็นต้องใช้เงินก็ขาย ซึ่งก็มีราคาสูง โคในช่วงอายุ 5-6 ปีจะขายได้ราคามากที่สุดคือ ราคาประมาณตัวละ10,000-30,000 บาท พันธุ์โคที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่บ้านนี้ได้แก่ พันธุ์บรามัน บราซิล และพันธุ์พื้นเมืองผสมบรามัน

บ้านโนนสำราญแห่งนี้ไม่นิยมเลี้ยงโคนม เนื่องจากการเลี้ยงโคนมเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นนมที่มีคุณภาพนั้นมีขั้นตอนยุ่งยาก เช่น ต้องปลูกหญ้าให้เขียวชอุ่มอยู่เสมอ ดังที่กล่าวแล้วว่าชาวบ้านเพียงแต่ประกอบเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น ขั้นตอนที่ยุ่งยากทั้งหลายย่อมเสียเวลาในการประกอบอาชีพหลัก อีกประการหนึ่งคือในฤดูทำนานั้น ชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีที่เลี้ยงโคอยู่แล้ว การเลี้ยงโคนมจึงจำเป็นต้องเลี่ยง ทางราชการนั้นให้การสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์พอสมควร มีการฉีดวัคซีนโดยไม่คิดมูลค่าปีละสองครั้ง และยังให้การสนับสนุนทุนแรกเริ่มสำหรับชาวบ้านที่ ขาดแคลนทุนทรัพย์

โค-กระบือเป็นปศุสัตว์ที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาวพอที่จะเป็นมรดกตกทอดได้ การเลี้ยงโค-กระบือในบางครอบครัวจึงเป็นการรับช่วงต่อจากพ่อแม่ ในบางครอบครัวที่เริ่มจะเลี้ยงในครั้งแรก ๆ มักเริ่มที่ลูกวัวซึ่งสามารถติดต่อขอซื้อได้จากเพื่อนบ้านได้ในราคาประมาณ 5,000 บาท นอกจากโค-กระบือแล้ว ชาวบ้านทุกครัวเรือนยังเลี้ยงไก่และเป็ด โดยบริโภคทั้งเนื้อและไข่ไก่ แต่เป็ดนั้นเลี้ยงไว้กินไข่เท่านั้นไม่นิยมบริโภคเนื้อเป็ด หากมีคนมาขอซื้อก็จะขายให้ในราคาประมาณกิโลกรัมละ 45 บาท การเลี้ยงไก่บ้านเหล่านี้ ชาวบ้านไม่คาดหวังในผลิตผลมากนัก เพราะปล่อยไปตามพื้นบ้าน ซึ่งอาจถูกสัตว์ใหญ่กว่าทำร้าย การเจ็บป่วย ไม่ค่อยเอาใจใส่ การขายผลผลิตจึงไม่อาจคาดกำไรที่แน่นอนได้ อีกประการหนึ่งก็คือทางการสนับสนุนการเลี้ยงเป็ดไก่โดยการให้วัคซีนป้องกันโรคอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่สนับสนุนช่วยด้านทุนและพันธุ์แก่เกษตรกร

สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงคือ สุกร ชาวบ้านสนใจเลี้ยงสุกรแต่มีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะมีนายทุนผู้มีโรงเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่เป็นผู้ส่งสู่ตลาด การเลี้ยงสุกรนั้นค่อนข้างยุ่งยาก จำเป็นต้องให้น้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดกับสภาพดินฟ้าอากาศ แต่ก็ยังคงมีผู้เลี้ยงเนื่องมาจากกิจการโรงสีมีรำข้าวเป็นผลพลอยได้ เจ้าของโรงสีและชาวบ้านใกล้เคียงจึงนำผลพลอยได้นี้มาเลี้ยงสุกรโดยถือว่าไม่เสียเงินหรือเสียในราคาไม่แพง 1 ปี๊บราคา 12 บาท เลี้ยงหมูได้ 3 ตัวต่อวัน ชาวบ้านที่สนใจเลี้ยงต้องเข้าไปซื้อลูกสุกรในเมืองราคาตัวละ 1,000 บาท เมื่อเลี้ยงไปประมาณ 5-6 เดือน ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000-4,000 บาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ได้ผลถึง 3 เท่าตัว ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ามีอาชีพเพาะพ่อพันธุ์เพื่อใช้ผสม อัตราค่าผสม (ทับ) ครั้งละ 300-400 บาท ซึ่งที่บ้านโนน-สำราญนี้ต้องใช้พ่อพันธุ์สุกรจากบ้านจั่นเทา อำเภอบรบือ โดยหากมีแม่พันธุ์ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าลูกสุกรตัวละ 1,000 บาทได้ โดยจ่ายค่าทับแทน โดยทับครั้งหนึ่งได้ลูกหมู 6-8 ตัว

3.4 การรับจ้างเย็บผ้า

เป็นอาชีพเสริมที่ไม่ได้รายได้ที่มากพอที่จะเป็นแรงจูงใจ หากแต่เป็นความสะดวกในการประกอบอาชีพ เนื่องจากชาวบ้านที่เลือกประกอบอาชีพรับจ้างเย็บผ้าเป็นอาชีพเสริมนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีจักรเย็บผ้าอยู่ก่อนแล้ว และได้ใช้จักรเย็บผ้าให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ แรงจูงใจที่สำคัญที่ชักจูงให้ชาวบ้านเลือกรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าแทนการทอสาดหรือทอผ้าไหมขาย คือ ปัจจัยทางด้านตลาด การรับจ้างเย็บผ้าในหมู่บ้านโนนสำราญนั้น ส่วนใหญ่รับจ้างเย็บเสื้อนักเรียนจาก สหภาพแรงงาน ซึ่งนำวัสดุที่ใช้ในการเย็บมาส่งให้ทั้งหมด ชาวบ้านเพียงแต่ประกอบกันเข้าให้เป็นตัวเสื้อเท่านั้น เมื่อทำสำเร็จแล้ว สหภาพแรงงานจะส่งรถมารับ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่ามีตลาดรองรับแน่นอน นอกจากนี้การเย็บถุงใส่ทองใส่พลอยก็เช่นเดียวกัน โรงงานจากกรุงเทพฯ จะส่งชิ้นส่วนมาให้ เมื่อเย็บเสร็จโรงงานจะรับกลับไปเอง ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องหาผู้ซื้อหรือตลาดเพื่อขายสินค้า อีกทั้งสามารถเลี้ยงดูบุตรหลานควบคู่ไปด้วยได้ เนื่องจากทำในครัวเรือนและไม่ต้องใช้สมาธิมากนัก สามารถหยุดทำเพื่อไปทำกิจกรรมอื่นเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ

ชาวบ้านที่รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้านั้น ต้องลงทุนซื้อจักรเย็บผ้า ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะซื้อเมื่อไปทำงานในเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น กรุงเทพฯ ขอนแก่น จักรเย็บผ้าที่ใช้นั้น มีราคาตั้งแต่ 1,500 ถึง 4,500 บาท นอกจากนี้ ต้องลงทุนซื้อวัสดุอุปกรณ์ตัดเย็บ เช่น ที่เลาะผ้า กรรไกร เข็ม ในตอนเริ่มต้น ส่วนผลตอบแทนนั้นการรับจ้างเย็บชุดนักเรียนให้สหภาพแรงงาน ได้ค่าแรงตัวละ 5 บาท ในวันหนึ่ง ๆ ชาวบ้านสามารถทำได้ประมาณ 20 ตัวเท่านั้น ถ้ารับจ้างเย็บถุงใส่พลอย ใส่ทอง จะได้ค่าแรง 2.50 บาท ต่อ 12 ถุง (ประมาณ 200-300 ถุงต่อวัน) และในกรณีรับจ้างตัดเย็บเสื้อทำงานให้คนหมู่บ้าน ผู้รับจ้างจะได้รายได้จากการตัดเย็บเสื้อตัวละ 50-80 บาท

ผู้ที่มาสั่งตัดเสื้อทำงาน ทำนา จะรู้ว่าชาวบ้านคนใดรับตัดเสื้อผ้าได้จากคำบอกเล่าของคนในหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่แค่ 5-6 รายเท่านั้น เนื่องจากชาวบ้านบางคน นิยมไปสั่งตัดจากหมู่บ้านอื่น เพราะเห็นว่า ฝีมือของคนในหมู่บ้านไม่ดีพอ และนอกจากนี้ ยังนิยมที่จะไปซื้อเสื้อสำเร็จรูปตามรถขายของที่เข้ามาขายในหมู่บ้านอีกด้วย แต่ในกรณีเสื้อนักเรียนและถุงใส่พลอยนั้น มีตลาดรอรับซื้ออยู่แล้ว ซึ่งก็คือ โรงงานในกรุงเทพและสหภาพแรงงานนั่นเอง

ชาวบ้าน มีความเห็นว่า ปัญหาจากการรับจ้างเย็บผ้าเป็นอาชีพเสริมนั้น รายได้ไม่คุ้มค่าเหนื่อย แต่ก็ไม่สามารถขึ้นราคา หรือขอเพิ่มค่าแรงได้ เนื่องจาก ชาวบ้านที่สั่งตัดเสื้อผ้าทำงานนั้นเห็นว่า ราคาแค่นี้ก็สูงพอแล้ว และยังมีบางคน คิดว่า ฝีมือคนในหมู่บ้านไม่ค่อยดี จึงให้ค่าแรงเพียงเท่านี้ สหภาพแรงงาน ในตัวอำเภอบรบือ ได้ประกาศรับสมัครสมาชิกรับจ้างเย็บเสื้อนักเรียน ตั้งแต่ ปี40 ทางวิทยุ โดยต้องการจะช่วยเหลือผู้มีเวลาว่างจากการทำนาให้มีรายได้เสริม โดยให้ ค่าแรงแก่สมาชิก 5 บาทต่อเสื้อ 1 ตัว

3.5 การประกอบกิจการร้านค้า

ผู้ที่มีใจรักในด้านการค้าขายเลือกการประกอบอาชีพเกี่ยวกับกิจการร้านค้านี้เป็นอาชีพเสริม ลักษณะและจุดประสงค์ของอาชีพเสริมนี้ มักเน้นเพียงพอกินพอใช้ หรือเพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน ประกอบกับพื้นฐานของคนในสังคมชนบทมักจะไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายหรือเก็บออมเงินเพื่อใช้ในคราวจำเป็น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำงานเพื่อหารายได้ให้มากที่สุด

สินค้าที่วางจำหน่ายในร้านค้า เช่น ขนมขบเคี้ยว ลูกอม น้ำอัดลม นมเปรี้ยว เหล้า ยา(บุหรี่) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไอศกรีม รวมไปถึงอาหารสด เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ซึ่งอาหารสดนี้จะจำหน่ายด้วยวิธีแบ่งขาย และอาหารปรุงสำเร็จ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน หรืออาจจะเป็นอาหารพื้นบ้านอย่างเช่น ส้มตำ เครื่องใช้ที่ขายภายในร้านมักจะเป็นพวกเชื้อเพลิง เช่น ถ่าน ฟืน แก๊ส ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสินค้าและเครื่องใช้ภายในร้าน ชาวบ้านจะซื้อมาจากร้านขายส่งในตลาดบรบือ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านโนนสำราญเป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร โดยร้านค้าในตลาดบรบือนี้จะรับสินค้ามาจากจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ บางประเภทอาจถูกส่งมาจากกรุงเทพมหานคร การเดินทางไปตลาดบรบือนี้จะต้องไปตั้งแต่เช้ามืด ประมาณ 3-4 นาฬิกา เพื่อมาเปิดร้านในเวลา 6 นาฬิกาเป็นประจำทุกวัน

การเปิดกิจการร้านค้าจะต้องใช้เงินทุนจำนวนไม่แน่นอน บางร้านอาจใช้เพียง 3,000-4,000 บาท ในขณะที่บางร้านอาจต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากถึง 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของร้านค้าว่าต้องการจะให้ร้านของตนมีสินค้าภายในร้านมากน้อยเพียงใด ผู้ประกอบกิจการแต่ละรายต่างมีวิธีในการหาเงินทุนแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น อาจหาเงินทุนโดยการขายโค-กระบือที่เลี้ยงไว้ หรือรับจ้างทำงานพิเศษ เช่น การก่อสร้างบ้าน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นค่านิยมของคนในชนบทที่ไม่ให้ความสำคัญกับการมีเงินเก็บ เมื่อต้องการจะใช้เงินในแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องทำงานให้มากขึ้นเพื่อให้ได้เงินจำนวนที่ต้องการนั้น

สำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละวันนั้น ผู้ขายจะซื้ออาหารสดอาหารแห้งประมาณ 500-600 บาท และจะขายได้วันละประมาณ 600-700 บาท คิดเป็นกำไรสุทธิวันละประมาณ 100 บาท โดยกำไรที่ได้ส่วนใหญ่จะได้จากการขายอาหารสดและอาหารปรุงสำเร็จ การประกอบกิจการ ร้านค้าในหมู่บ้านมักไม่มีการทำบัญชี ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบกิจการส่วนใหญ่จึงไม่ทราบรายได้ที่แท้จริงของตน

การประกอบกิจการร้านค้าในหมู่บ้านมักมีขนาดเล็กเนื่องจากทุกครัวเรือนต่างก็ปลูกพืชผักสวนครัวและประกอบอาหารรับประทานเองอยู่แล้ว ชาวบ้านมักซื้ออาหารสดวันต่อวัน เพราะมักไม่มีตู้เย็นที่จะเก็บของสด ซึ่งผักและอาหารปรุงสำเร็จที่ร้านค้าจำหน่ายก็ไม่ได้ต่างไปจากที่แต่ละบ้านมีมากนัก นอกจากนี้ สภาพสังคมยังเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย หากขาดเหลืออะไรก็สามารถหยิบยืมได้จากเพื่อนบ้าน การซื้อขายในสังคมชนบทจึงเกิดขึ้นในปริมาณน้อย อย่างไรก็ตาม กิจการร้านค้าจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในฤดูฝน เนื่องจากชาวบ้านต่างก็ต้องทำนาทำไร่ทำให้ไม่มีเวลาดูแลพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ จึงต้องซื้อผักและอาหารปรุงสำเร็จจากร้านค้ามากกว่าการประกอบอาหารขึ้นรับประทานเอง

ปัญหาที่พบมากในการประกอบกิจการร้านค้า คือ การค้างชำระของลูกค้า การค้างชำระในลักษณะนี้จะมีการจดบันทึกไว้ว่าใครมียอดค้างชำระเท่าใด การเซ็นจ่ายนี้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ยิ่งถ้าลูกค้าเหล่านี้ค้างชำระเป็นเวลานานเท่าใดทางร้านก็จะยิ่งขาดเงินที่จะเข้ามาหมุนเวียนในระบบมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่และไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย เนื่องจากลูกค้าต่างก็เป็นคนในหมู่บ้านและเป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกิจการร้านค้าในระยะยาว คือ มีร้านค้าเปิดขึ้นใหม่ในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดลดลง รายได้ลดลง ในที่นี้ไม่รวมถึงกิจการสหกรณ์ ซึ่งเป็นร้านค้าใหญ่และได้ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน เนื่องจากสหกรณ์เป็นร้านค้าที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของคนในหมู่บ้านไม่ใช่ร้านค้าเอกชน

3.6 การปรุงยาสมุนไพร

หลายครอบครัวที่ได้รับสืบทอดในเกี่ยวกับความรู้เรื่องยาสมุนไพรจากบรรพบุรุษ หลังฤดูทำนาจึงหารายได้เสริมด้วยการปรุงยาสมุนไพรขาย การปรุงยาสมุนไพรนี้ใช้พืชสมุนไพรต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีแหล่งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ บริเวณดงมูล จังหวัดกาฬสินธุ์ และจากป่าฝั่งลาว โดยชาวบ้านบางคนก็จะหาวัตถุดิบเองจากบริเวณหมู่บ้าน บ้างก็ต้องนั่งรถเข้าไปซื้อที่ร้านค้าในจังหวัดขอนแก่น บ้างก็ไปซื้อที่ตลาดไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย

ชนิดของยาที่ผลิตมี 2 ชนิด ได้แก่ ยาฝุ่น( ยาลม) และยาน้ำ นอกจากนี้ยังมียาต้มและยาทาด้วย ซึ่งจะทำเมื่อมีคนมาให้รักษาเท่านั้น การผลิตยาฝานนั้นมีส่วนผสม 11 ชนิด ได้แก่ โกฐทั้งเก้า (106 บาท)เทียนทั้งเก้า ดอกมะลิวัลย์สิบสี่ พิมเสน (10 บาท) การบูร (20 บาท) เมนทอล (400 บาท) ดินปะสิวหรือขี้เกลือ โซดาผง (เล็กน้อย) บีน้ำตาล (20 บาท) ยาทัมใจ (10 บาท) เปลือกต้นปานแดงเลือด (9-10 กิโลกรัม) หรือเปลือกนางเม้ง ขั้นตอนการทำเริ่มตั้งแต่การถากเปลือกต้นปานแดงเลือดให้เป็นม้วน นำมาตากแห้ง 2-3 วัน แล้วนำไปตำกับครกกระเดื่องให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ พอที่จะนำไปบดต่อโดยเครื่องไฟฟ้าให้เป็นผง หลังจากนั้นไปสั่งโกฐทั้งเก้า เทียนทั้งเก้า มะลิวัลย์สิบสี่ บดให้ละเอียดเป็นผงรวมกับเปลือกต้นปานแดงเลือด และจัดซื้อพิมเสน, การบูร ยาทัมใจ บีน้ำตาล และเมนทอล แล้วนำส่วนผสมที่เป็นผงมาผสมกับพิมเสน การบูร ที่บดละเอียด ใส่เมนทอลลงไป เพื่อช่วยให้ยาได้ผลดีขึ้น และใส่โซดาผง ดินประสิวเล็กน้อยหรืออาจใส่ยาทัมใจไปด้วย ในกรณีใช้เป็นยาแก้ปวดหัว หลังจากนั้นจึงนำมาบรรจุโดยบรรจุ 1 ช้อนโต๊ะต่อซอง เมื่อต้องการใช้ก็นำยาฝุ่นมาชงกับน้ำร้อนดื่ม

บางครั้งผู้ขายแปรรูปยาฝุ่นจากผงให้เป็นเม็ด โดยอุปกรณ์อัดเม็ดซึ่งทำจากทองเหลือง มีน้ำผึ้งเป็นตัวประสาน โดยนำยาฝุ่นมาผสมกับน้ำผึ้งให้พอปั้นเป็นก้อนได้ แล้วนำอุปกรณ์อัดเม็ดจุ่มน้ำโดยไม่ให้เกิดการติดของเนื้อยากับอุปกรณ์ ปรับความยาวของยาเม็ดโดยหมุนน็อตตัวบนซึ่งเป็นตัวกั้นสปริง แล้วกดเครื่องอัดกับเนื้อยาโดยพยายามให้เนื้อยาเต็มทุกช่อง ใช้ช้อนปาดปากช่องให้เรียบ หลังจากนั้นใช้มือกดอุปกรณ์ดันเนื้อยารูปทรงกระบอกออกมา และนำไปตากแดดให้แห้ง

ส่วนการทำยาน้ำ มีส่วนผสม 6 อย่าง ได้แก่ ยาหัว (1 กิโลกรัม) ต้นฝาง (เนื้อไม้ฝางเล็กน้อย ประมาณกล่องไม้ขีด) เมนทอล (30 บาท) พิมเสน (5 บาท) การบูร (15 บาท) บีน้ำตาล (5 บาท) นำมาต้มกับน้ำ 1 ปี๊บ ต้มให้เดือดเพื่อให้ตัวยาออกมา เคี่ยวจนได้สีของน้ำเป็นสีแดงเข้ม หากสีที่ได้ยังจางให้เติมยาหัวลงไปเพิ่ม และเคี่ยวต่อไปจนได้สีที่ต้องการ เวลาขายก็ใส่ตุ่มหาบไป เมื่อมีผู้ซื้อก็ตวงใส่ขวดโค้ก 1.2 ลิตร ถ้าต้องการเก็บไว้นานต้องใส่ขวดสีชา

บางครั้งผู้ผลิตได้มีการการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยาในหลายขั้นตอน เช่น

    • เร่งความแรงของตัวยาโดยการใส่เมนทอล
    • เปลี่ยนชนิดของเปลือกไม้ ได้แก่ การทดลองใช้เปลือกของต้นท่อนต้นกุ่ม ต้นกาม แทนเปลือกต้นปานดงเลือด แต่ผลผลิตที่ออกมามีรสฝาดไม่เป็นที่นิยม
    • แต่งรสโดยใส่บีน้ำตาลเพื่อให้เกิดความหวาน
    • แต่งสีให้สวยงาม สีนั้นจะได้จากยาหัวกับเนื้อไม้ฝาง สีที่ได้จะเป็นสีแดงๆส้มๆ ความเข้มของสีจะขึ้นกับความร้อนที่ใช้ ปริมาณน้ำ ปริมาณยาหัว เนื้อไม้ฝาง และระยะเวลาต้ม

การปรุงยาสมุนไพรบางครั้งผู้ขายจะแต่งสีและรสให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น ยาน้ำ ยาฝุ่น ซึ่งมีรสขมก็แต่งให้มีรสชาติดีขึ้น โดยการใส่บีน้ำตาล ซึ่งมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ ปริมาณเพียงเล็กน้อยสามารถให้ความหวานได้มาก ส่วนยาน้ำที่มีสีแดงใส ผู้ขายจะเพิ่มสีโดยนำเอาสมุนไพรที่เรียกว่า ยาหัวกับไม้ฝางมาต้มหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้สีแดงซึ่งอยู่ในหัวกับไม้ฝางออกมา

ค่าใช้จ่ายในการลงทุน ได้แก่ การซื้อสมุนไพรจากร้านและค่าเดินทาง การจัดซื้ออุปกรณ์อัดเม็ด อันละ 50 บาท การซื้อภาชนะบรรจุ ได้แก่ ซองบรรจุขนาด 2 ? นิ้ว ราคาห่อละ 8 บาท และค่าจ้างบดสมุนไพรให้เป็นผง อัตราค่าจ้างบดของเปลือกต้นปานแดงเลือด กิโลกรัมละ 20 บาท

รายได้ที่ได้รับจากการจำหน่าย ถ้าเป็นยาฝุ่นจำหน่ายซองละ 5 บาท หากจำหน่ายครั้งละ 3 ซองจะราคา 10 บาท (ได้กำไรซองละ 2 บาท) ถ้าเป็นยาน้ำจำหน่ายขวดละ 20 บาท (กำไรขวดละ 10 บาท) กรณีขายในหมู่บ้านโนนสำราญ หากขายนอกหมู่บ้านราคาขวดละ 25 บาท ถ้าเป็นยาเม็ด จำหน่ายเม็ดละ 2 บาท (กำไรเม็ดละ 1บาท)

ตลาดของยาสมุนไพรนี้ แบ่งได้ 2 ส่วน คือ

1. ในจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ หมู่บ้านโนนสำราญและหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านหัวหนอง, บ้านวังหิน , บ้านดอนเกาะ, บ้านสนาม

2. นอกจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ นครสวรรค์ อุดรธานี เลย สกลนคร หนองคาย และสุรินทร์ ซึ่งมักอาศัยญาติในจังหวัดเหล่านี้ในการตลาด

ในการขายนั้นผู้ขายจะหาบเร่ไปขายกับผู้ซื้อโดยตรง ยาน้ำนำใส่ตุ่ม เวลาใครจะซื้อเอาขวดโค้ก 1.2 ลิตรมาตวงเอา การจำหน่ายในหมู่บ้านไกลๆ ขึ้นรถไป การจำหน่ายในต่างจังหวัดจะไปอยู่กับญาติขายจนยาที่นำไปหมดจึงกลับ มีรายได้เฉลี่ย 300 บาทต่อการออกเร่ขาย 1 ครั้งในหมู่บ้าน และหมู่บ้านข้างเคียง ได้กำไรประมาณ 200 บาทต่อครั้ง การจำหน่ายยาขายได้ประมาณ 2,500 บาทต่อครั้ง ส่วนยาน้ำใส่ขวดไปขายได้ประมาณ 700-800 บาทต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรุงยาสมุนไพรจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม แต่ปัญหาที่พบ ได้แก่ เงินลงทุน เนื่องจากชาวบ้านมีเงินทุนน้อย ปัจจุบันผู้ขายมีความคิดที่จะซื้อเครื่องบดยาด้วยไฟฟ้า แต่มีราคาแพง เครื่องละ 10,000 บาท จึงไม่ได้ซื้อ อีกทั้งสมุนไพรหายาก และมีราคาแพงขึ้น ชาวบ้านบางคนจึงหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การเก็บเนื้อยาหัวไว้ใช้ในครั้งต่อไป หากยังมีสีแดงอยู่ แต่สีของน้ำแดงได้ที่แล้ว ชาวบ้านบางคนได้ขอให้หน่วยงานของรัฐช่วยเหลือ ซึ่งอนามัย ตำบลวังไชย เคยเอาตัวยาไปศึกษา แต่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด

3.7 การทำบั้งไฟ

วัตถุดิบในการทำบั้งไฟ ได้แก่ ท่อพีวีซี ซื้อจากตลาดท่อนละ 150 บาท ถ้าซื้อทั้งเส้น (4 เมตร) ราคาประมาณ 230 บาท ไม้ไผ่ หาตัดได้ทั่วไป เลือกลำที่สวย ๆ ดินปะสิว ซื้อจากตลาดกิโลกรัมละ 50-55 บาท และถ่าน หาไม้จากใกล้บ้านแล้วเอามาเผาเอง เมื่อได้วัตถุดิบแล้วจึงตัดไม้มาเผาเป็นถ่าน แล้วบดเข้ากับดินประสิวอัดใส่ท่อพีวีซีจนเต็ม หลังจากนั้นเอาดินปิดด้านบน แล้วใช้ไม้อะไรก็ได้เหลาให้กลมติดพอดีกับกระบอกแล้วเจาะรูตรงกลาง และนำไม้ไผ่มาติดเป็นหางก็จะได้บั้งไฟ

สำหรับวิธีการจุดบั้งไฟนั้น เริ่มแรกต้องนำน้ำเทใส่รูทิ้งไว้ 10-30 นาที แล้วแต่ช่าง แล้วก็เทออก การใส่น้ำนี้ก็เพื่อให้เกิดความชื้น หลังจากนั้นจึงนำไม้พันผ้าที่ปลายมาเช็ดน้ำให้แห้งแล้วนำบั้งไฟขึ้นร้านที่ทำไว้มีไม้พิง ตั้ง 90 องศา ในการจุดบั้งไฟแข่งขันนั้นจะใช้แบตเตอรี่ จึงต้องใช้ดินปะสิว ฝอยขัดหม้อและสายไฟห่อด้วยฟรอยด์แล้วเอาเทปพันติดไว้กับปลายท่อ ติดสายไฟไว้ 1 สายก่อนที่แบตเตอรี่ เมื่อจุดก็นำสายไฟสายที่ 2 ไปติดกับขั้วแบตเตอรี่อีกด้าน ไฟก็จะวิ่งไปที่หางบั้งไฟ แล้วก็จะวิ่งไปบนฟ้า

การทำบั้งไฟนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณอันละ 500-600 บาท ถ้าเป็นบั้งไฟอันใหญ่จะต้องเสียค่าจ้างอัด 200 บาท เพราะใช้แม่แรงไฮดรอลิคเป็นตัวอัด ใช้เวลาเพียงวันเดียว ผิดกับสมัยก่อนที่ใช้แรงคนอัดกับต้นไม้ ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ที่มีจำหน่ายราคาประมาณอันละ 1,000 บาท แต่ส่วนใหญ่นิยมทำไว้ประกวดเอง ปีละ 2-3 อัน หรือใช้ในงานบุญก็มี ถ้าประกวดชนะตามอำเภอหรือจังหวัด จะมีรางวัลประมาณ 1,000-3,000 บาท

การจุดบั้งไฟจะมีขึ้นในช่วงทำบุญเดือน 6 เดือน 7 และมีมากที่จังหวัดยโสธร บั้งไฟขนาดใหญ่ที่ใช้ประกวดจะมีชื่อเรียกว่า “ บั้งไฟแสน” มีราคาแพง สถานที่ในการจุดบั้งไฟจะต้องขออนุญาตก่อน เวลาประกวดกรรมการจะมีกล้องส่องดูว่า บั้งไฟอันใด ใช้เวลานานมากเท่าไรในการวิ่งขึ้นไป ถ้าอยู่นานที่สุดจึงชนะ

งานบุญบั้งไฟที่จัดกันในสมัยก่อน และยังอาจจัดกันอยู่ตามชนบทที่ห่างไกลในทุกวันนี้นั้น มีความหมายในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของชนบทไทย กล่าวคือ พิธีกรรมที่จัดขึ้นนี้มีสะท้อนสภาพความเป็นจริงในโครงสร้างทางสังคม กล่าวคือ งานบุญบั้งไฟเป็นงานที่จัดขึ้นช่วงก่อนที่จะถึงฤดูทำนาปี แม้ว่าชาวนาในอีสานอาจปลูกข้าวหลายครั้งในรอบปี หรือปลูกข้าวไร่ แต่จำนวนข้าวที่จะได้มากที่สุดมาจากนาดำซึ่งต้องทำในฤดูฝน ฉะนั้นการทำนาปีจึงถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุด งานบุญบั้งไฟจึงให้ความมั่นใจแก่ชาวบ้านว่า ธรรมชาติจะเอื้ออำนวยให้แก่การผลิตที่สำคัญนี้ เพราะได้ร่วมกันทำพิธีซึ่งเป็นหลักประกันในความอุดมสมบูรณ์ดินฟ้าอากาศ

การผลิตข้าวนาปีนั้น แม้ว่าฐานการผลิตจะเป็นครอบครัว แต่ชุมชนก็มีความสำคัญในการผลิตไม่น้อย ตั้งแต่การจัดการควบคุมน้ำซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือยินยอมผ่อนปรนกัน จังหวะการทำนาซึ่งต้องไม่ขัดกันเองอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กันและกันได้ การร่วมแรงสำหรับกิจกรรมที่จำเป็นเช่นการเกี่ยวข้าว เป็นต้น ฉะนั้น งานบุญบั้งไฟจึงช่วยให้สำนึกให้ความเป็นปึกแผ่นของชุมชนเข้มแข็งขึ้นในยามที่ฤดูทำนากำลังจะมาถึง การเชื้อเชิญหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานก็เป็นการเชื้อเชิญไปตามเครือข่ายความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติและการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน นับเป็นการเสริมความร่วมมือในเครือข่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของชาวบ้านไปพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้บทบาทของผู้ร่วมคือการยืนยันในลำดับชั้นทางสังคมชุมชนชน เช่น การตัดสินใจว่าจะทำงานบุญบั้งไฟหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ครอบครัวที่เป็นเจ้าภาพรับแขกจากหมู่บ้านอื่นมักเป็นครอบครัวที่ต้องมีฐานะดีพอจะบวชลูกหลานในงานใหญ่ขนาดนั้นได้ บั้งไฟจะถูกแห่ไปยังศาลปู่ตาซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญของหมู่บ้าน แต่ศูนย์กลางของงานฉลองเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญของหมู่บ้านเช่นกัน พระสงฆ์ที่ได้รับความนับถือจากชาวบ้านจะเป็นแม่งาน ส่วนชาวบ้านทั่วไปโดยเฉพาะที่ไม่มีสถานะทางสังคมสูงนัก เช่น เด็กหนุ่มคือผู้ที่เข้าร่วมขบวนเซิ้ง จะมีบทบาทเป็นผู้เล่นตลกหรือหยาบโลนตามประเพณี

กล่าวได้ว่างานบุญบั้งไฟเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็ก ที่มีลักษณะผสมระหว่างงานเทศกาลของชุมชนกับพิธีกรรมทางความเชื่อหรือศาสนา ที่ผู้ร่วมงานทุกคนต่างมีระบบความเชื่ออันเดียวกัน มีอาชีพเดียวกัน และอยู่ในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดียวกัน

3.8 สรุป

อาชีพกสิกรรมเป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติ ได้แก่ สภาวะอากาศ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรดิน ดังนั้น ในฤดูกาลที่ไม่อาจประกอบกสิกรรมนี้เองที่ชาวบ้านหันมาสนใจกิจการในครัวเรือน เช่น ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นเพียงการแบ่งเบารายจ่ายในครัวเรือนเท่านั้น มิได้เพิ่มพูนรายได้แต่อย่างใด การต้องการมีรายได้เสริมขณะว่างเว้นการเพาะปลูกจึงเกิดขึ้น

อาชีพเสริมอันปรากฏในหมู่บ้านโนนสำราญ ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคามในที่นี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชุมชนที่มีการเกษตรเป็นพื้นฐาน เช่น การเลี้ยงโค กระบือสมัยแรกก็เลี้ยงเพื่อส่งเสริมการทำนา หรือในแง่การเพาะปลูกได้แก่ การปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม หรือปลูกพืชสมุนไพรเพื่อเก็บเกี่ยวมาแปรรูปจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีหัตถกรรมในครัวเรือน ซึ่งนิยมทำกันทุกครัวเรือน และบางครัวเรือนทำเพื่อจำหน่ายนอกหมู่บ้าน เพราะทุกครัวเรือนใน หมู่บ้านล้วนทำเป็นและทำไว้ใช้เอง คล้ายกับการทำบั้งไฟที่เป็นอาชีพอันเนื่องมาจากประเพณี การทำจำหน่ายจึงดูเหมือนเป็นการไม่ให้ความสำคัญกับประเพณี อาชีพเสริมการทำบั้งไฟนี้ จึงทำตามคำสั่งโดยมาก หรือทำอันเล็กๆเพื่อเล่นเอง

นอกเหนือไปจากอาชีพที่มีพื้นฐานทางเกษตรกรรมแล้ว ยังมีอาชีพที่ทำกำไรได้พอสมควร และเป็นการสนองตอบความต้องการของคนในหมู่บ้าน คือ เปิดร้านขายของชำ ซึ่งมีเพียง 2 แห่ง อยู่ตรงกันข้ามกัน จากการสัมภาษณ์พบว่า กิจการร้านค้าในหมู่บ้านไม่มีการทำบัญชีแต่อย่างใด แม้กระทั่งร้านสหกรณ์ของหมู่บ้านก็อยู่ในภาวะ ทราบกำไรที่ไม่ชัดเจน

สำหรับสหภาพแรงงานซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนกิจการในครัวเรือนนั้น ได้ให้การสนับสนุนพอสมควร เช่น การจัดหาเสื้อนักเรียนมาให้ชาวบ้านเย็บ ซึ่งชาวบ้านมั่นใจที่จะทำงานด้วยเพราะคิดว่ามีตลาดที่แน่นอน ประจวบกับในบ้านโนนสำราญ มีแรงงานซึ่งสมบูรณ์ทั้งงานและแรงงาน ต่างกับบ้านหัวขัว ซึ่งมีแต่แรงงานไม่มีงานจากสหภาพแรงงานมาสนับสนุน