สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท |
? บทที่ 5 การบริหารจัดการด้านการเพาะปลูกในชุมชนบ้านโนนสำราญ ? เกษตรกรในชนบทส่วนใหญ่มักปลูกข้าวเป็นหลักและปลูกพืชอื่น ๆ เสริมตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ภูมิอากาศ และความสนใจของเกษตรกรในท้องถิ่นนั้น ๆ สำหรับหมู่บ้านโนนสำราญแห่งนี้ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการทำเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่มักเพาะปลูกพืช 3 ชนิด คือ ข้าว (ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว), มันสำปะหลัง และอ้อย ในครัวเรือนตามแต่ทุนทรัพย์ ความเหมาะสม และความพร้อมของแต่ละครอบครัว ในที่นี้จะกล่าวถึงที่ดินที่ทำการเพาะปลูก การจัดหาเมล็ดพันธุ์ ทุน กรรมวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต การจัดการผลผลิต และปัญหาที่มักพบในการทำการเพาะปลูก ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 5.1 ที่ดินทำการเพาะปลูก การได้มาของที่ดินในการเพาะปลูก เกษตรกรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านโนนสำราญมีที่ดินเป็นมรดกตกทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีใครขายเพราะถือว่าที่ดินที่ได้มาบรรพบุรุษให้มาทำกิน และถ้าขายก็ไม่ทราบว่าจะประกอบอาชีพอะไรนอกเหนือจากนี้ แต่ยังมีที่ดินทำกินบางส่วนที่ชาวบ้านทำไร่ทำนานั้นเคยเป็นป่าสงวนมาก่อนและเกิดภาวะป่าเสื่อมโทรม รัฐบาลจึงประกาศให้เป็นพื้นที่ในโครงการ สปก.4-01 คือประกาศให้เป็นพื้นที่ทำกินโดยให้กรรมสิทธิ์แก่ราษฎรในการทำการเกษตรและสามารถสืบทอดเป็นมรดกในการทำกินต่อไปได้ แต่ไม่สามารถซื้อขายผูกขาดที่ดินเป็นของคนใดคนหนึ่ง การเตรียมดิน การเตรียมดินก่อนเพาะปลูกพืชไร่นั้น เกษตรกรจะถางหญ้าในที่ดินให้หมด เสียก่อน หลังจากนั้นก็จะพรวนดินเพื่อกำจัดรากหญ้าที่หลงเหลืออยู่ให้หมดไป ปัจจุบันการพรวนดินส่วนใหญ่นิยมใช้รถไถ เพราะสะดวกและรวดเร็ว เมื่อพรวนดินทั่วแล้ว เกษตรกรจะยกร่องดินขึ้น เพื่อเตรียมที่จะใส่ปุ๋ยและปลูกพืชไร่ต่อไป การปรับสภาพดินหลังการเกษตร หลังจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้จากการทำไร่แล้ว เกษตรกรก็จะทำการปรับสภาพดินเพื่อไม่ให้ดินเสื่อมสภาพ โดยการนำปุ๋ยมาหว่านใส่ในที่ดิน เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยคอก เพราะเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากมูลสัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ถ้าบ้านไหนไม่ได้เลี้ยงสัตว์ก็จะไปซื้อปุ๋ยจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มาหว่านลงในที่ดิน เพื่อให้ดินคงสภาพเหมาะสมกับการปลูกพืชครั้งต่อไป เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จำนวนพื้นที่มีตั้งแต่ 10-30 ไร่ขึ้นไป ปัญหาที่พบคือจำนวนของที่ดินทำกินนั้นมีพื้นที่มาก หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วต้องเตรียมที่ดินเพื่อที่จะปลูกพืชในครั้งต่อไป เกษตรกรส่วนมากไม่ใช้วิธีถางหญ้าโดยตนเอง โดยควาย หรือรถไถ ทั้งนี้เป็นเพราะต้องใช้เวลาในการจัดการกับหญ้า วัชพืช และแมลงที่ทำลายผลผลิตเป็นเวลาหลายวัน แต่หันมาใช้วิธีจุดไฟเผาแทน ผลดีคือรวดเร็วในการทำลายวัชพืช แมลงและหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน ไม่ต้องออกแรงมาก ทำเสร็จได้ในวันเดียว แต่ผลเสียที่ตามมาก็คือ การเผาจะทำลายแร่ธาตุและอินทรีย์วัตถุที่มีอยู่ในดิน ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ดั้งนั้นเมื่อเผาแล้ว ก่อนที่จะปลูกพืชไร่ ต้องฟื้นฟูสภาพดิน โดยนำปุ๋ยมาใส่ในดินเป็นจำนวนมากทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี ทำให้หมดเปลืองเงินในการซื้อปุ๋ยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การเผาหญ้าทำให้เกิดควันฟุ้งกระจายไปในถนน ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้เพราะที่ดินของเกษตรกรบางคนอยู่ติดริมถนน ควันที่เกิดจากการเผาหญ้าจึงฟุ้งกระจายไปโดยรอบ ดั้งนั้น เกษตรกรบางรายจึงแก้ปัญหาด้วยการนำโค-กระบือไปปล่อยไว้ ที่นาให้กินหญ้าให้หมด หลังจากนั้นก็นำรถไถมาไถกลบหรือพรวนดินให้ทั่ว อาจต้องใช้เวลามาก แต่ก็เป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด เพราะไม่ต้องเปลืองเงินซื้อปุ๋ยมาปรับสภาพดินอีกแต่อย่างใด 5.2 การจัดการเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์พืชหลักที่ใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกรในหมู่บ้านโนนสำราญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ที่มาของเมล็ดพันธุ์พืชส่วนใหญ่มาจากสหกรณ์การเกษตร จากผู้ใหญ่บ้านที่นำเมล็ดพันธุ์พืชตัวอย่างจากเกษตรอำเภอ เพื่อนำมาเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้นำมาเพาะปลูกตลาดในอำเภอบรบือ หรือการกู้เมล็ดพันธุ์พืชจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ตลอดจนการแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกรภายในหมู่บ้าน พันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านเลือก ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ กข 8 กข 9 กข 12 และ กข 15 แต่พันธุ์ที่เป็นนิยมนำมาเพาะปลูกในหมู่บ้านโนนสำราญ คือ พันธุ์กข 6 เนื่องจากให้ผลผลิตที่ดีกว่า สำหรับเมล็ดพันธุ์มันสำปะหลัง เกษตรกรในหมู่บ้านโนนสำราญนิยมใช้พันธุ์เกษตรศาสตร์ และระยอง 90 ทั้งนี้ เพราะพันธุ์เกษตรศาสตร์ หัวมันที่ได้จะมีสีขาวกว่าพันธุ์ระยอง 90 และเนื้อ มันสำปะหลังจะมีมากกว่าพันธุ์ระยอง 90 ซึ่งพันธุ์ระยอง 90 หัวมันที่ได้สีค่อนข้างเหลือง และอัตราเนื้อมันต่อน้ำในหัวมันน้อยกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ พันธุ์ระยอง 90 จึงได้ราคาน้อยกว่า ส่วนเมล็ดพันธุ์อ้อยนั้น นิยมใช้พันธุ์สก็อต เมล็ดพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ทั้งข้าว มันสำปะหลังและอ้อย เมื่อได้มาจะนำมาเก็บไว้ภายในบ้าน พอถึงฤดูกาลไถหว่านของแต่ละชนิดพันธุ์พืชก็นำมาใช้เพาะปลูก และหากนำลงเพาะปลูกแล้วยังคงเหลือเมล็ดพันธุ์พืชอยู่ก็นำมาเก็บมาไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไป หรืออาจจะนำไปแลกเปลี่ยนกับพันธุ์พืชชนิดอื่น ๆ ระหว่างเกษตรกรภายในหมู่บ้าน แต่พันธุ์มันสำปะหลังซึ่งเป็นต้นซึ่งเรียกว่า ลำมัน จะเก็บรักษาโดยกองไว้ใต้ต้นไม้ป้องกันแสงแดด โดยต้องระวังไม่ให้ลำมันโดนแสงมากเกินไป เนื่องจากอาจจะทำให้ลำมันไหม้เป็นแผลทำให้ไม่สามารถนำไปเพาะปลูกได้ 5.3 ทุนและผลตอบแทนจากการลงทุน แหล่งที่มาของทุน เงินทุนที่ใช้ในการทำการเพาะปลูกของเกษตรกรในหมู่บ้านนี้ ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรในหมู่บ้านโนน-สำราญใช้เงินทุนในการเพาะปลูก 3 ส่วนคือ ปุ๋ย พันธุ์พืช และอื่น ๆ โดยการใช้เงินเพื่อซื้อปุ๋ยในการเพาะปลูกถือได้ว่าเป็นอัตราส่วนมากที่สุด เกษตรกรจึงมักไม่ซื้อเป็นเงินสด เพราะว่าไม่มีเงินเพียงพอ เมื่อซื้อเชื่อก็ต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้น (ประมาณ 340-380 บาทต่อกระสอบ) ซึ่งหากเป็นเงินสดจะมีราคาประมาณ 300 บาทต่อกระสอบเท่านั้น ส่วนพันธุ์พืชเป็นรายจ่ายรองลงมา เนื่องจากทางอำเภออนุญาตให้เกษตรกรนำพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานไปแลกเปลี่ยนโดยไม่คิดมูลค่าได้ ส่วนอ้อยและมันสำปะหลัง ต้องซื้อในราคาที่ค่อนข้างแพง อ้อยมีการขายเป็นคันรถ ในราคาประมาณ 5,000-6,000 บาท ส่วนมันสำปะหลังซื้อขายกันเป็นลำ ลำละ 1-2 บาท ซึ่งแต่ละลำสามารถตัดแบ่งได้ประมาณ 5-6 ท่อน สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ การว่าจ้างรถไถพรวนที่ดินของเกษตรกรบางราย การใช้เงินในการว่าจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะปัจจุบันการลงแขกทำงานด้านการเกษตรได้ลดลง เกษตรกรต้องลงมือทำจึงเกิดอาชีพใหม่ คือรับจ้างเก็บผลผลิต นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้างอื่น ๆ อีก เช่น การว่าจ้างดายหญ้า การขนส่งผลผลิตต่างๆ ฯลฯ ? ข้อดีและข้อเสียในการได้มาของทุน ข้อดีและข้อเสียในการกู้ยืมเงินนั้น เกษตรกรบางส่วนในหมู่บ้านโนนสำราญคิดว่าเป็นข้อเสียในการกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง แต่หากไม่กู้ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร บางส่วนก็ว่าเป็นข้อดีเพราะได้เงินมาใช้ก่อน เมื่อมีเงินจึงนำไปใช้คืน แต่มักคืนได้เฉพาะดอกเบี้ย และพบว่าชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเพาะปลูกแทบทุกหลังคาเรือนเป็นหนี้อย่างต่ำประมาณ 10,000 บาท มากที่สุดประมาณ 3,000,000 บาท แต่ทั้งนี้มีสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็คือ การที่ชาวบ้านหมู่บ้านโนนสำราญยังยึดติดกับค่านิยมในการมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทุกหลังคาเรือนมีโทรทัศน์ ตู้เย็น มีการขายกระบือเพื่อนำเงินไปซื้อรถไถ ถ้าไม่มีก็อายเพื่อนบ้าน เพราะมีเกือบทุกหลังคาเรือน ดังนั้นเมื่อมีรายได้จากการขายผลผลิต กำไรก็หมดไปกับการผ่อนส่งสิ่งดำนวยความสะดวกเหล่านี้นั่นเอง ผลตอบแทนจากการลงทุน ข้าว ในอดีตการเพาะปลูกข้าวเพื่อขายนั้นสามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีฝนตกตามฤดูกาล เกษตรกรไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำใช้เพาะปลูก ทำให้ได้ผลผลิตข้าวต่อไร่อยู่ในปริมาณที่มากพอขายสู่ตลาด แต่ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เกิดการขาดแคลนน้ำในการทำนา ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตข้าวต่อไร่ลดลง รายได้จึงลดลงตามไปด้วยและด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้เกษตรกรมีข้าวในปริมาณที่ไม่มากพอขาย ข้าวที่เพาะปลูกได้ส่วนใหญ่จึงถูกเก็บไว้เพื่อรับประทานในครัวเรือนมากกว่า จากการศึกษาพบว่าการลงทุนส่วนใหญ่ของเกษตรกรหมู่บ้านนี้เน้นไปทางการกู้เงินเพื่อมาซื้อปุ๋ยลงดินเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าว และการกู้เงินเพื่อซื้อรถไถมาใช้แทนควายมากกว่าด้านอื่น เมื่อรวมจำนวนเงินลงทุนต่อการเพาะปลูกข้าวต่อไร่ต่อปีมีจำนวนสูงพอสมควร ดังนี้รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายคืนให้กับ ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร เมื่อขายผลผลิตได้แล้วนำมาหักค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นเงินลงทุนในการเพาะปลูกแต่ละครั้งแล้วจะเหลือรายได้หรือผลตอบแทนน้อย ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นในครัวเรือน ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินออมและปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ? ? มันสำปะหลัง เป็นพืชชนิดหนึ่งที่พบมากในหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะมันสำปะหลังเป็นพืชทนแล้งเหมาะสมกับสภาพดินและภูมิอากาศแถบนี้ ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่หันมาปลูกมันสำปะหลังกันมากขึ้น ในอดีตความต้องการผลผลิตมันสำปะหลังในอุตสาหกรรมการทำแป้งมันและผงชูรสมีจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาสูงประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันเมื่อความต้องการมันสำปะหลังลดลงเพราะผลพวงจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาเพียง 1.21 บาท และถ้าคิดเป็นคันรถมันสำปะหลัง 1 คันรถ สามารถขายได้ 3,000 บาท ราคารับซื้อมันสำปะหลังที่ลดลงนี้ส่งผลให้รายได้จากการเพาะปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรหมู่บ้านโนนสำราญลดลง ซึ่งเมื่อหักเงินลงทุนเริ่มแรกและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายคืนแล้ว เกษตรกรจะเหลือรายได้ที่ใช้ในครัวเรือนน้อยมากจนอาจต้องกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ มาเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนต่อไป อ้อย เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับสภาพดินและภูมิอากาศในบริเวณนี้ แต่ด้วยการลงทุนที่ต้องใช้เงินมากถึง 3,000 บาทต่อไร่ ระยะเวลาที่ใช้ในการเพาะปลูกที่มากกว่า 8 เดือนเพื่อให้ต้นอ้อยเจริญเติบโตเต็มที่ และบริเวณที่ทำการปลูกอ้อยก็จะต้องมีเส้นทางขนส่งที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับรถของนายทุนที่มาตัดเอาผลผลิตอ้อยจากในไร่ได้โดยตรง เหตุผลเหล่านี้ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านโนนสำราญไม่นิยมเพาะปลูกอ้อย (ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่ามีเพียงผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยถึง 30 ไร่) แต่อย่างไรก็ตามรายได้หรือผลตอบแทนที่ได้จากการเพาะปลูกอ้อยดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง คือ เกษตรกรสามารถขายได้ผลผลิตอ้อยถึง 7,000 บาทต่อไร่ ในขณะที่สามารถขายผลผลิตมันสำปะหลังได้เพียง 3,000 บาทต่อไร่ และนอกจากนี้การเพาะปลูกอ้อยยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งผลผลิตออกสู่ตลาด เพราะนายทุนต้องการซื้อจะนำรถเข้ามารับผลผลิตจากในไร่โดยตรง ส่วนข้าวและมันสำปะหลังนั้น เกษตรกรต้องนำ ผลผลิตไปขายออกสู่ตลาดเอง และถ้าเกษตรกรคนใดไม่มีรถขนส่งเป็นของตัวเองก็จะต้องจ้างรถขนส่งอีกเป็นเงินประมาณ 300-400 บาทต่อ 1 เที่ยว ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่ายเพิ่มสูงมากขึ้นอีก ? ? 5.4 วิธีการเพาะปลูกและการดูแลเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้าว เกษตรกรหมู่บ้านโนนสำราญจะใช้พันธุ์ข้าวที่ได้จากเกษตรอำเภอ อาจทำได้โดยการแลกซื้อด้วยเงิน หรือแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของ พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศแบบนี้และเกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุด คือ พันธุ์ กข 6 กข 8 และข้าวหอมมะลิ เมื่อได้เมล็ดพันธุ์มาจะต้องแช่น้ำทิ้งไว้ 3 คืน จากนั้นก็ไปไถคราดให้ละเอียดไม่ให้มีหญ้า ทิ้งไว้สัก 7-15 วัน แล้วรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยยูเรียเพื่อเร่งผลผลิต หลังจากนั้นก็หว่านเมล็ดพืชแล้วทิ้งไว้ 1 เดือน จนข้าวสูงประมาณ 20 เซนติเมตร จึงถอนกล้าแล้วนำรถมาไถและคราด นำกล้าที่ได้ไปรวมเป็นมัดแล้วแช่น้ำไม่เกิน 3 วัน แล้วไปตัดปลายเพื่อให้แตกกอดี จากนั้นนำกล้าไปปักดำหลุมละ 3-4 ต้น ทิ้งไว้ 2.5 เดือน หว่านปุ๋ยเคมี 16-8-8 รอให้ต้นข้าวออกรวงเป็นสีเหลืองแก่ แล้วจึงเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน นำต้นข้าวที่ได้ไปมัดเป็นกอเพื่อนำไปฟัดต่อไป มันสำปะหลัง เริ่มด้วยการคราดแล้วไถพรวนจนดินนิ่ม 2-3 ครั้ง แล้วหว่านปุ๋ยเคมี 16-8-8 หลังจากนั้นจึงไถยกเป็นร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร เอาต้นมันที่ถอนเก็บไว้มาตัดปลายเฉียง 10 เซนติเมตร นำไปปักให้ลึกลงไปประมาณ 1 นิ้ว ห่างกันประมาณ 1 ศอก ปลูกได้ประมาณ 2,000 ต้นต่อไร่ ทิ้งไว้ 2-3 เดือน จะเกิดต้นอ่อนสูง 20 เซนติเมตร ระหว่างนั้นจะมีวัชพืชเกิดขึ้นรอบ ๆ ต้น จึงควรดายหญ้ารอบต้นเพื่อป้องกันการแย่งอาหารจากต้นอ่อน เกษตรกรไม่นิยมใช้ยาฆ่าแมลงเพราะสิ้นเปลือง ใช้จอบถากข้างต้น แล้วใส่ปุ๋ยเสริมลงไปด้วยเช่น ปุ๋ยยูเรียไนโตเฟต 46-0-0 เพื่อเร่งหัวแล้วกลบโดยไม่ต้องฉีดยา ทิ้งไว้ 4-5 เดือน สังเกตว่าดินจะแตกระแหงหมายถึงต้นโตเต็มที่แล้ว แต่ส่วนมากจะเก็บหัวมันหลังจากปลูกไปได้ประมาณ 9-10 เดือน เพราะหัวมันจะโตและให้แป้งมาก วิธีการเก็บนั้นจะดึงหัวมันขึ้นมาแล้วตัดเฉพาะหัวมัน ซึ่งแต่ละต้นจะมีอยู่หลายหัว จากนั้นก็นำต้นไปปลูกต่อ ปกติแล้วมันสำปะหลังสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าปลูกในหน้าฝนจะต้องปลูกในที่สูง เพราะอาจจะเน่าได้อ้อย เกษตรกรในหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ค่อยนิยมปลูกอ้อย เพราะต้องลงทุนมาก ประมาณ 7,000 บาทต่อไร่ แต่ให้ผลระยะยาว โดยจะขายได้ตันละ 600 บาท อ้อยที่นิยมปลูก คือ พันธุ์สก็อต ใช้เวลาปลูกประมาณ 8-9 เดือน การปลูกอ้อยจะต้องมีทางเข้าออกที่สะดวก เพื่อง่ายต่อการขนส่งอ้อย อ้อยเป็นพืชที่ปลูกง่าย เพียงตัดต้นออกแล้วไถกลบใหม่ ใส่ปุ๋ยเหมือนที่ปลูกมันแล้วลอกให้ขึ้นเองโดยไม่ต้องรดน้ำ อ้อยจะหวานหรือไม่ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เกษตรมีวิธีทำให้อ้อยมีรสหวานได้โดยใส่หัวเชื้อที่ชื่อ APSA 80 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของดิน และทำให้พืชโตเร็ว เพราะถ้าไม่ใช้จะทำให้ดินจืด 5.5 การจัดการผลผลิต หลังจากที่ได้ผลผลิตตามต้องการแล้ว เกษตรกรมีวิธีจัดการกับผลผลิตแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช ในกรณีของหมู่บ้านโนนสำราญนี้ ด้วยสภาพอากาศที่แห้งแล้ง มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกน้อย จึงจำกัดการปลูกพืชเพียงสามชนิดคือ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง สภาพอากาศดังกล่าวทำให้ปลูกข้าวได้เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น บ้านโนนสำราญจึงหันไปนิยมปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าคือ อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดปี ทั้งยังไม่ต้องบำรุงรักษามากนัก ด้วยเหตุนี้ผลผลิตที่ทำรายได้มากที่สุดจึงไม่ใช่ข้าว แต่เป็นมันสำปะหลัง จากการสัมภาษณ์เกษตรกรบางส่วนในหมู่บ้านพบว่า มีการปลูกมันสำปะหลังกันเป็นส่วนมาก มีเพียงผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่ปลูกอ้อย เพราะการปลูกอ้อยต้องใช้ที่ดินมากและต้นทุนสูง ข้าว รูปแบบการแปรรูปข้าวที่พบเห็นได้คือ การทำข้าวจี่หรือข้าวกี่ โดยนำข้าวเหนียวที่เหลือจากการบริโภคมาบดเป็นแผ่น ตากแห้ง สามารถเก็บไว้ได้นาน เมื่อจะรับประทานจึงนำมาชุบน้ำอ้อยแล้วปิ้งกับไฟอ่อนๆ มีลักษณะกรอบ รสหวานเล็กน้อย ส่วนข้าวเจ้านั้นสามารถแปรรูปเป็นแป้งข้าวเจ้าเพื่อประโยชน์อื่น ๆ เช่น ทำแป้งหมักขนมจีน เป็นต้น มันสำปะหลัง มันสำปะหลังเป็นพืชที่สร้างรายได้หลักแก่เกษตรกร หลังจากปลูกได้ 8-10 เดือน เกษตรกรจะเริ่มเก็บหัวมันสำปะหลัง โดยตัดเอาแต่หัวไปขาย ส่วนลำต้นจะเก็บไว้ปักดินให้ขึ้นเป็นต้นอีก คือรออีก 8-10 เดือนต่อไปก็สามารถเก็บหัวมันได้อีก ผลผลิตที่ได้ตกประมาณ 3-4 ตันต่อไร่ หลังจากเก็บหัวมันได้จะจ้างรถขนไปส่งที่โรงงานทำแป้ง เสียค่าขนส่งกิโลกรัมละ 10 สตางค์ ราคาที่โรงงานรับซื้อนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณแป้งในหัวมันสำปะหลัง เมื่อโรงงานรับซื้อหัวมันแล้วก็จะแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลังต่อไป อ้อย เป็นการลงทุนสูงที่ได้ผลระยะยาว การปักอ้อยครั้งเดียวนั้นสามารถเก็บผลผลิตได้หลายครั้ง โดยตัดอ้อยไปแต่เฉพาะส่วนลำต้น เหลือรากทิ้งไว้แล้วไถพรวนใหม่ให้อ้อยเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำต้น รอการตัดขายครั้งต่อไป การเก็บอ้อยขายนี้เกษตรกรไม่ตัดขายเอง ก็จะให้ผู้ซื้อจัดการเก็บเกี่ยวไปเองโดยเหมาขายเป็นคันรถ ราคาประมาณ 43,000 บาทต่อไร่ การรับซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลจะพิจารณาราคาจากความหวานโดยการชิมน้ำอ้อย ความหวานของอ้อยนี้ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์และการบำรุงรักษาซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของกลไกราคาอ้อย 5.6 ปัญหาที่มักพบในการเพาะปลูกและแนวทางการแก้ปัญหา จากการศึกษา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการเพาะปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดทั้งก่อนเพาะปลูก ระหว่างเพาะปลูก และหลังการเพาะปลูก ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดความเสียหายและความเดือดร้อนแก่เกษตรกร โดยปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ปัญหาด้านที่ดิน ที่ดินของเกษตรกรได้มาจากการสืบทอดมรดกมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งแต่ละช่วงการสืบทอดนั้นได้แบ่งส่วนที่ดินให้ย่อยลงตามจำนวนลูกหลานในครอบครัว ทำให้ที่ดินเพาะปลูกของเกษตรกรแต่ละคนมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจมีไม่เพียงพอกับการเพาะปลูก แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนเท่าใดนัก เพราะถ้ามีสมาชิกในครอบครัวคนใดเลิกอาชีพเพาะปลูก หรือไม่ต้องการใช้พื้นที่นั้นแล้ว ก็จะถ่ายโอนให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวเพื่อเอาไปใช้ในการเพาะปลูก และทำเกษตรกรรมอย่างอื่นต่อไป นอกจากนี้ชนิดของดินในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนปนทรายที่เหมาะกับการเพาะปลูกพืชบางชนิดเท่านั้น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น ซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้สามารถทนแล้งได้ดี แต่หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชชนิดอื่นต้องปรับสภาพดินให้มีแร่ธาตุเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช อาจทำได้โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆตามความเหมาะสม ส่วนดินที่เค็มหรือดินเอียดก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มักส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตพืชต่อไร่น้อยลง พืชเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่และอาจตายในที่สุด เกษตรกรอาจแก้ไขโดยการนำปูนขาว หรือแกลบ หรือเปลือกนุ่นที่แห้งแล้วมาโรยบนหน้าดินแล้วปล่อยให้เน่าสลายตามธรรมชาติ สามารถบรรเทาปัญหาดินเค็มได้ในระดับหนึ่ง ? ? ? ปัญหาด้านทุน ด้วยเหตุที่เกษตรกรในหมู่บ้านโนนสำราญส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้ต้องไปกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นและปัญหาเงินออมน้อยลงตามมา เมื่อเกษตรกรได้รายได้หลังขายผลผลิตแล้วแทนที่จะได้นำเงินมาเก็บออมไว้ กลับนำเงินส่วนนั้นไปใช้หนี้ที่กู้มาเป็นจำนวนมาก และหลังจากนั้นเมื่อถึงฤดูการเพาะปลูกในปีต่อไป เกษตรกรก็ต้องไปกู้ยืมเงินลงทุนมาอีกหมุนเวียนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ปัญหาด้านการผลิต ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกษตรกรขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกโดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก ส่งผลกระทบถึงระดับผลผลิตโดยตรง เกษตรกรได้ผลผลิตต่อไร่น้อยลง โดยเฉพาะข้าวซึ่งบางปีได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีปัญหาศัตรูพืชซึ่งส่วนใหญ่ คือ ปัญหาหนอนกอหญ้า เพลี้ยไฟและเพลี้ยกระโดด และปัญหาหนู มากัดกินพืชผลโดยเฉพาะข้าว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้ลดน้อยลงเพราะเกษตรกรสามารถหาทางกำจัดได้อย่างเหมาะสม เช่น ปัญหาของหนูที่มาสร้างความเสียหายในกับนาข้าวเมื่อปีที่แล้ว เกษตรกรและชาวบ้านได้แก้ไขโดยการจับมาทำเป็นอาหารหรือขาย เป็นต้น นอกจากนี้การขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปลูกพืชของเกษตรกรก็เป็นปัญหาที่สำคัญ เมื่อเกษตรกรไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอต่อการเพาะปลูก พืช การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การดูแล และการบำรุงรักษา ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ มีปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอ นำมาซึ่งปัญหาการขาดทุนในการเพาะปลูกปัญหาทางด้านการตลาด ปัญหาทางด้านการตลาดที่พบบ่อย ได้แก่ ไม่มีตลาดรับซื้อผลผลิตที่เพียงพอ หรือ ปัญหาเรื่องระยะทางในการขนส่งผลผลิต ทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าขนส่งในราคาที่แพงขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการจัดจำหน่าย ทำให้กำไรที่เกษตรกรควรได้รับเมื่อขายผลผลิตของตนได้แล้วลดลงไปอีก ? ? ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จากการศึกษาพบว่า ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำเกิดจากการที่เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดเดียวกันมากเกินไปทำให้มีผลผลิตล้นตลาด เกินความต้องการของผู้ซื้อ ราคาของผลผลิตนั้นๆจึงตกต่ำลง ส่งผลให้เกษตรกรประสบกับปัญหาการขาดทุน ปัญหาที่เกิดจากการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐบาล เมื่อเกษตรกรมีปัญหาด้านการเพาะปลูก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืช เกษตรกรมักได้รับความช่วยเหลือจากเกษตรอำเภอผ่านทางผู้ใหญ่บ้านซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางรับเรื่องราวความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เกิดขึ้นส่งผ่านไปยังเกษตรอำเภอ โดยที่เกษตรอำเภอไม่ได้ลงมาดูพื้นที่และปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และในบางกรณีที่เกษตรกรไม่ได้ไปฟังคำแนะนำหรือวิธีการแก้ปัญหาจากผู้ใหญ่บ้านแล้ว เกษตรกรก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ต้องลองผิดลองถูกกันเองตามวิธีแบบพื้นบ้าน กว่าเกษตรกรจะทราบวิธีการเพาะปลูกและการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องก็ต้องประสบปัญหาการขาดทุน และปัญหาหนี้สินจนยากที่จะแก้ไข นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับการประกันราคาขั้นต่ำและการพยุงราคาจากหน่วยงานของรัฐซึ่งไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่ไม่แน่นอน ในบางครั้งเมื่อเกษตรกรนำผลผลิตไปขายในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ราคาที่รับซื้อแตกต่างกัน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้จากการขายผลผลิตเหล่านั้นตกต่ำลง 5.7 สรุป จากการศึกษาพบว่า ในการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรในหมู่บ้านนี้ เกษตรกรมักได้ที่ดินทำการเพาะปลูกมาจากบรรพบุรุษสืบทอดกันต่อมา การเพาะปลูกพืชก็มักพึ่งธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่มีระบบชลประทาน มีเพียงแค่ห้วย หนอง คลอง บึงซึ่งบางครั้งก็อยู่ห่างไกลจากสถานที่เพาะปลูก ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จึงไม่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง หรืออ้อย ส่วนเงินทุนนั้น เกษตรกรจะกู้ยืมมาจากแหล่งเงินทุนทั้งในระบบ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และนอกระบบ ซึ่งอัตราการคิดดอกเบี้ยเงินกู้จะอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 12-15 ต่อปี และถ้าหากเกษตรกรไม่สามารถชำระได้ตามกำหนดก็จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอีก ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากนี้เกษตรกรยังประสบกับปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น ปัญหาด้านศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและหนู ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจในการเพาะปลูกที่ถูกวิธี ส่งผลทำให้รายได้จากการขายผลผลิตต่างๆไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือมันสำปะหลัง หรืออ้อยไม่เพียงพอต่อการยกระดับการกินดีอยู่ดีของเกษตรกรหมู่บ้านโนนสำราญแห่งนี้ได้เท่าที่ควร ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? |