logos.gif (7470 bytes)สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

LOOKER1.GIF (1665 bytes)

 

บทที่ 6

ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในท้องถิ่น

 

ในสังคมชนบทไทยมักประสบปัญหาทางการศึกษามากกว่าสังคมเมือง เนื่องจากการกระจายการศึกษายังไม่ทั่วถึง พื้นฐานของครอบครัวตลอดจนอาชีพของชาวชนบทเอื้ออำนวยทางการศึกษาได้น้อยกว่าสภาพคนในเมือง ตลอดจนสภาพทางเศรษฐกิจของชาวชนบท ยังมีผลต่อความสัมพันธ์ทางการศึกษาโดยตรงและเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

6.1 ประวัติโรงเรียนบ้านโนนสำราญ

โรงเรียนนี้ได้แยกมาเป็นสาขาโรงเรียนประชาบาลตำบลกำพี้ 2 (ดอนก่อราษฎร์นิยม) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2483 เรียกว่าโรงเรียนประชาบาลตำบลกำพี้ 2 โดยนายเกตุ หลวงกลาง เป็นครูใหญ่ นายปลื้ม จารุจันทร์ นายอำเภอบรบือเป็นผู้จัดตั้ง ดำรงอยู่ด้วยเงินช่วยเหลือการประถมศึกษา จัดทำการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโรงเรียนนี้ได้อาศัยชาวบ้านเป็นผู้สนับสนุนและก่อสร้างขึ้น นายมังกร ไชยโรจน์ เป็นผู้รักษาการแทนครูใหญ่ แต่อยู่ในความดูแลของโรงเรียนเดิม นายบุญมี ทบสี เป็นครูน้อย มีนักเรียนทั้งสิ้น49 คน แบ่งการสอนออกเป็น 5 ชั้นคือ ชั้นเตรียมประถมศึกษา และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4

วันที่ 23 พฤษภาคม 2485 ทางราชการได้ยกโรงเรียนนี้เป็นเอกเทศ โดยนางคำพวง จันทร์โฮม เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่

6.2 พื้นฐานครอบครัวที่มีผลต่อการศึกษา

พื้นฐานของครอบครัวเป็นแบบแผนพฤติกรรมของคนที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกันในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและเครือญาติ ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง สามี ภรรยา รวมทั้งบทบาทที่จะต้องแสดงในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ เช่น ผู้เป็นพ่อมีบทบาทที่หลายอย่าง ได้แก่ การหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ให้กำลังใจแก่ภรรยา ลูกๆ และญาติๆ ให้การอบรมสั่งสอนลูก ๆ เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า พ่อแม่มีความมุ่งหวังที่ต้องการให้ลูกได้เรียนให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าตน แต่สภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัวบีบบังคับให้ลูกต้องช่วยทำงานตามอาชีพของพ่อ แม่ ส่วนลักษณะอาชีพที่พบในหมู่บ้านโนนสำราญนี้ ได้แก่ อาชีพรับราชการ รับจ้าง เกษตรกรรม และอาชีพเสริมอื่น ๆ

อาชีพรับจ้าง

นอกจากจะทำนา ทำไร่ของตนแล้ว ยังออกไปรับจ้าง ทำนา ทำไร่ ของเพื่อนบ้านคนอื่นด้วย โดยส่วนใหญ่จะรับจ้างทำไร่อ้อย ทำนา ซึ่งรายได้อาจจะไม่พอเพียงกับครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น บางครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ก็ต้องไปเช่าที่คนอื่นทำ ซึ่งการเช่าที่ทำนาทำไร่ ประมาณ 300 บาทต่อไร่ ทำให้รายได้ส่วนหนึ่งต้องตกเป็นการเช่าที่ทำกิน

อาชีพรับราชการ

จากพื้นฐานของแต่ละครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน เช่น บางครอบครัวประกอบอาชีพราชการคือครู ก็จะส่งเสริมลูกของตัวเอง ให้ยึดถือหรือปฏิบัติตามด้วย แต่ถ้าบางครอบครัว ถึงจะไม่รับราชการแต่ถ้าครอบครัวนั้นมีฐานะดีสามารถที่จะส่งให้ลูกเรียนสูง ๆ ได้ ก็มักให้ประกอบอาชีพรับราชการ

อาชีพเกษตรกรรม

คนหมู่บ้านโนนสำราญส่วนมากก็ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา เป็นหลัก ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทก่อนหน้านี้

อาชีพเสริมอื่น ๆ

หมู่บ้านโนนสำราญ นอกจากจะทำไร่ทำนาเป็นอาชีพหลักแล้ว อาชีพเสริมก็ได้รับความนิยมทำกัน หลังจากการทำไร่ ทำนา แล้ว ยามว่างคนส่วนใหญ่ก็จะหันมาทอผ้า เย็บหมอน เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

พื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่มีต่อการศึกษา

เป็นการขัดเกลาทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ทางตรง คือการสอนหรือบอกโดยตรง เช่น พ่อแม่สอนลูก ครูสอนนักเรียน เพื่อนบอกเพื่อน ฯลฯ ส่วนทางอ้อม คือการเรียนรู้โดยอาศัยการสังเกต การเลียนแบบ เช่น แม่พูดคำหยาบ ลูกก็จะพูดคำหยาบ ทั้งๆที่แม่ไม่ได้สอน เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มเพื่อน ก็มีอิทธิพลต่อทัศนคติของวัยรุ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะ เด็กวัยนี้มีแนวโน้มต้องการอยู่ร่วมกับเพื่อนที่มีรสนิยมใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะในด้านความคิด การแต่งกาย หรือแบบของการแสดงออก เพื่อให้เพื่อนยอมรับตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม

โรงเรียน เสมือนเป็นบ้านที่สองของเด็กในการที่จะได้รับความรู้ ความคิดต่างๆและวิชาการต่างๆอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันโรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญในเรื่องการให้อบรมแก่เด็ก ตลอดจนทำให้เด็กมีโอกาสพบปะสมาคมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน บางครั้งปัญหาที่เกิดจากการอบรมของโรงเรียนอาจจะออกมาในกรณีที่การอบรมของโรงเรียนไม่ตรงกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กเลยสับสน ไม่ทราบว่าของใครจะถูกกว่ากัน เช่น แม่ว่าอย่าง ครูว่าอีกอย่าง ครูว่าผิด แม่ว่าถูก ครูว่าไม่ดี พ่อแม่ว่าดี เป็นต้น หรือบางครั้งการสอนในลักษณะที่เป็นทฤษฎีหรืออุดมคติจนเกินไป ไม่ตรงกับสิ่งที่ปฏิบัติในชีวิตจริง เช่นทำดีได้ดี แต่เด็กเห็นคนทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี เด็กอาจจะเสื่อมศรัทธาได้

สื่อมวลชน เหล่านี้มีหลายประเภท เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ นวนิยาย วรรณคดี เป็นต้น ซึ่งมีส่วนในการขัดเกลาทางสังคมแก่มนุษย์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ความคิด ความเชื่อ แบบของความประพฤติ อิทธิพลของสื่อมวลชน จะมีมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของครอบครัว ว่าได้สอนลูกมาให้รู้จักเหตุผลหรือเลือกเฟ้นข่าวสารต่างๆ ได้แค่ไหนหรือขึ้นอยู่กับ เจตคติของแต่ละบุคคลต่อสิ่งที่ตนได้รับ

การอบรมเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ จะดูแตกต่างกันบ้างบางครอบครัว ที่มีบุตร 1-2 คนก็จะทำให้มีเวลาดูแลเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน ลูกให้ได้รับการศึกษาได้ทั่วถึง และบางครอบครัวที่มีบุตรหลานมากกว่า 3-5 คน ทำให้การอบรมปล่อยปละละเลย ไม่เข้มงวด ขาดการสนับสนุนส่งเสริม ให้บุตรหลานได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ทางการศึกษาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น

สถิติผู้ที่สำเร็จทางการศึกษาในระดับต่าง ๆ ของคนในหมู่บ้านโนนสำราญ จำนวน 496 คน สรุปได้ดังนี้

    1. ผู้ที่จบปริญญาตรี จำนวน 6 คน
    2. ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี จำนวน 1 คน
    3. ผู้ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมปลาย จำนวน 30 คน
    4. ผู้ที่กำลังศึกษาในระดับสายอาชีพ จำนวน 13 คน

จากสถิติข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า มีคนจำนวนน้อยมากที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ทำให้การพัฒนาของการศึกษาเป็นไปอย่างช้า ซึ่งอาจส่งผลทำให้ความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้านด้อยกว่าที่อื่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะฐานะยากจนต้องช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ พื้นฐานทางครอบครัวส่วนใหญ่มีความรู้น้อย สถานการศึกษาอยู่ไกลทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง อีกทั้งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้การช่วยเหลืออย่างทั่วถึงเท่าที่ควร

6.3 ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านโนนสำราญ

หลักสูตร

    • หลักสูตรยังเป็นส่วนกลางมากกว่าท้องถิ่น คือทางส่วนกลางสอนมาอย่างไร ก็ดำเนินไปตามนั้น เน้นไปตามหนังสือไม่เน้นปฏิบัติจริง เช่น สอนเด็กนักเรียนเรื่องสูตรปุ๋ยเคมี แต่เด็กก็ไม่สามารถไปปฏิบัติกับพืชผลที่บ้านได้ ก็ปฏิบัติตามพ่อแม่ ไม่ได้ปฏิบัติตามหนังสือ
    • อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ในโรงเรียนบ้านโนนสำราญ ไม่มีอุปกรณ์ประเภทเครื่องดนตรีเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ดังนั้น วิชาดนตรี-นาฏศิลป์ จึงเน้นไปที่ทฤษฎี แต่ไม่เน้นปฏิบัติ นอกจากนี้ อุปกรณ์กีฬาก็มีน้อยมาก
    • หลักสูตรยังคงเน้นการท่องจำ ทำให้เด็กไม่รู้จักการประยุกต์ใช้

คุณภาพครู

    • ในโรงเรียนบ้านโนนสำราญ ยึดครูเป็นศูนย์กลาง จดตามครูสั่ง ฟังตามครูบอก
    • อาจารย์ในโรงเรียนมี 5 ท่าน นักเรียนมี 61 คน ซึ่งถ้าคำนวณตามอัตราส่วน ครู 1 คน ต่อ เด็ก 25 คน ก็พอเพียงในสภาพความเป็นจริง มีระดับชั้นประถม 1-6 และ ชั้นอนุบาลอีก 2 ห้อง รวมเป็น 8 ห้อง ทำให้ครูไม่พอสอน ต้องผลัดกันสอน ทำให้นักเรียนเรียนได้ไม่เต็มที่

ข้อเสนอแนะ

    1. ควรปรับปรุงห้องน้ำนักเรียน ให้แบ่งแยกห้องน้ำครู ห้องน้ำนักเรียนชายและนักเรียนหญิง เพราะสภาพปัจจุบันมีห้องน้ำเพียง 2 ห้อง ใช้รวมกันและน้ำก็สกปรกมาก
    2. รัฐบาล ควรช่วยด้านอุปกรณ์กีฬา ดนตรีและนาฏศิลป์
    3. ควรมีโรงอาหาร เพราะสภาพปัจจุบันคือ นักเรียนนั่งทานข้าวกลางวันระหว่างทางเดินในอาคาร
    4. ควรมีอุปกรณ์อาหารกลางวัน เช่น มีถาดข้าวเพิ่มขึ้น และใช้ช้อน หรือรณรงค์ให้นักเรียนล้างมือก่อนทานข้าว

กระบวนการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

บ้านโนนสำราญ ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีการจัดตั้งศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ เพื่อการพัฒนาเด็กในวัยก่อนเกณฑ์ที่จะศึกษาในชั้นอนุบาล ได้แก่

ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ บ้านโนนสำราญ

ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ บ้านโนนสำราญ ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งใน พ.ศ. 2537 ในสังกัดกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้รับผิดชอบดังนี้

    1. ผู้อำนวยการศูนย์ฯ (พระอธิการบุญหลาย โฆษโค) เป็นผู้ริเริ่ม หรืออาจได้รับนโยบายจากกรมศาสนา เพื่อนำมาบริหารภายในศูนย์
    2. ครูพี่เลี้ยง (นางสาวบุปผาสวรรค์ กัลเมล์) เป็นตัวแทนการใช้นโยบาย โดยการรับนโยบายจากผู้อำนวยการศูนย์ มาปฏิบัติ
    3. ผู้แทนผู้ปกครอง (ผู้ใหญ่ชวน คำยา) เป็นผู้ประสานข้อมูลและความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์กับผู้ปกครอง

เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จึงประกาศให้เด็กอายุระหว่าง 2 - 5 ปี มาเรียนในวันจันทร์ - ศุกร์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ บ้านโนนสำราญ จัดตั้งขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายคือ

    1. เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น
    2. เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองในขั้นพื้นฐานได้
    3. เพื่อให้เด็กสามารถปรับตนเองให้เข้ากับเพื่อนและสังคมได้
    4. เตรียมความพร้อมด้านความรู้ ทำให้เด็กไม่กลัวโรงเรียน
    5. เพื่อให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อวัด มีจริยธรรม

หลักการสอน จะเน้นที่เป้าหมายเป็นสำคัญ ไม่มีหลักสูตรการสอน ขึ้นอยู่กับครูพี่เลี้ยง (ปัจจุบันมี 2 คน) กิจกรรมการสอน ได้แก่

    1. การทำกิจกรรมหน้าเสาธง
    2. การสอนเรื่องการปฏิบัติตัวในสังคม เช่น การไหว้ การพูดจา
    3. การสอนนับเลข อ่าน ก ไก่ - ฮ นกฮูก อ่านอักษร A-Z
    4. เล่านิทาน
    5. สอนรำ ร้องเพลง และการละเล่นท้องถิ่น
    6. เมื่อมีงานสำคัญ จะมีการจัดงาน เช่น มีการแสดงของเด็ก จับของขวัญ

ศูนย์นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมศาสนา แบ่งเป็น

    1. งบประมาณด้านอาหารกลางวันเดือนละ 900 บาท จัดอาหารให้เด็ก 2 มื้อ ต่อ 1 อาทิตย์ นอกนั้นให้เด็กนำอาหารมาจากบ้านเอง
    2. อาหารเสริมคือนม แจกให้เด็กคนละ 1 ถุง ต่อ 1 วัน
    3. ค่าตอบแทนผู้รับผิดชอบ ทั้งผู้อำนวยการศูนย์และครูพี่เลี้ยงคนละ 3,000 บาท

ประโยชน์ที่ได้จากศูนย์อบรม แบ่งเป็น 2 ประการ คือ ผู้ปกครองมีเวลาว่างมากขึ้น สามารถประกอบอาชีพการงานได้อย่างเต็มที่ และเด็กได้รับการเตรียมความรู้ในระดับสูงต่อไป และสามารถเข้าใจลักษณะ ค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรม จริยธรรม ในสังคมได้เป็นอย่างดี

ส่วนปัญหาของศูนย์ฯ ที่เกิดขึ้น ได้แก่

    1. สื่อการสอนขาดแคลน จะได้รับเพียงปีละ 1 ชุด
    2. ระบบงานล่าช้า เรื่องทุกเรื่องต้องเข้าอำเภอหมด
    3. เงินเดือนไม่ได้รับตรงตามเวลา แต่หลวงพ่อบุญหลาย มีการแก้ไขปัญหาคือ การไปเปิดบัญชี เอาเงินเข้าธนาคาร เวลารับก็ทบกันเป็นเดือนๆ กลายเป็นเงินก้อน
    4. ไม่มีสวัสดิการด้านความปลอดภัย เห็นได้จากในตู้ยาประจำศูนย์ ที่มีเพียงยาทาภายนอก 2-3 ขวดเท่านั้น
    5. สถานที่มีความคับแคบมาก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์อบรมมีแนวโน้มว่าจะถูกยุบ เพราะมีจำนวนเด็กน้อยลง เนื่องจากการคุมกำเนิดของชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังได้รับการดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐน้อยมาก ทำให้เด็กไม่ได้รับสวัสดิการที่เพียงพอ และอีกปัญหาที่สำคัญคือ ครูพี่เลี้ยงต้องรับภาระที่หนักมากในการดูแลเด็กเล็ก ไม่มีใครต้องการเป็นครูพี่เลี้ยงอย่างแท้จริง ที่ทนอยู่เป็นเพราะไม่มีงานทำ และหากมีโอกาสเมื่อไรก็จะไปทำงานที่อื่นทันที

6.4 อิทธิพลของการศึกษาที่มีผลต่ออาชีพ

การศึกษา

จากการศึกษาพบว่าในชาวบ้านโนนสำราญส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อการศึกษาในลักษณะดังนี้

    1. ชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะจบการศึกษาในภาคบังคับแล้วแต่ช่วงอายุของบุคคล เช่น คนในสมัยก่อนรุ่นปู่ ย่า ก็มักจะจบในระดับป.4 พอมาเป็นรุ่นพ่อก็จะจบป.6 พอรุ่นใกล้ปัจจุบันก็จะจบตามภาคบังคับ ม.3 ม.6 ปริญญาตรี เป็นต้น แต่ ม.6 - ปริญญาตรี เป็นส่วนน้อยมาก
    2. พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนสูง ๆ อยากให้มีความรู้ติดตัว ชาวบ้านบางกลุ่มต่อต้านการยุบโรงเรียน เนื่องจากทางโรงเรียนบ้านโนนสำราญ นั้นจะถูกยุบเพราะนักเรียนในโรงเรียนมีจำนวนน้อยเกินไป มีการให้ทุนการศึกษา
    3. เด็กบางคนอยากเรียนสูงๆ ชอบการเรียน เช่น นักเรียนบางคนที่พ่อต้องการให้ออกมาช่วยงานอย่างจริงจัง กลับขอพ่อเรียนต่อ โดยระหว่างมีเวลาว่างก็ช่วยพ่อทำงานไปด้วย
    4. คนส่วนใหญ่ที่ศึกษาในระดับต่ำมีสาเหตุมาจากฐานะทางการเงินเป็นส่วนใหญ่ โดยคนพวกนี้ยังไม่รู้ว่ามีทุกกู้ยืม ฯลฯ
    5. ชาวบ้านบางคนที่ไม่อยากให้ลูกเรียนต่อมีสาเหตุที่ต่างกันออกไป เช่น พ่อแม่ส่วนใหญ่จะไม่ให้ลูกผู้หญิงเรียนในระดับสูง เพราะพ่อแม่อยากให้อยู่ช่วยทางบ้าน
    6. ชาวบ้านบางคนคิดว่าการศึกษาไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา มาประกอบอาชีพ
    7. เด็กสนใจเรียน เพราะสภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยกระตุ้นให้อยากเรียน เช่น มีเพื่อนขยัน

อาชีพ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกอาชีพในหมู่บ้านโนนสำราญ ได้แก่

    1. ความรู้ ความสามารถของตนเองที่มีอยู่
    2. ลักษณะของงานและรายได้
    3. เป็นอาชีพที่ชอบ มีความถนัด
    4. อนาคตและโอกาสที่จะก้าวหน้าในงานนั้นๆ
    5. เป็นงานที่มั่นคง
    6. สิ่งแวดล้อมทั่วๆไปในการทำงาน

ประเภทของอาชีพในท้องถิ่น

    1. เกษตรกรรม
    2. เลี้ยงสัตว์
    3. ข้าราชการ (ในส่วนท้องถิ่น เช่น อบต.)
    4. ครู
    5. อุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ทอผ้า ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำผ้าไหมมัดหมี่(อาชีพเสริม)

ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและอาชีพ

จากการศึกษาพบว่า งานบางอย่างก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่มาจากการศึกษา เช่น ครู ได้มาจากการศึกษาในระบบ ส่วนการทอผ้า ได้มาจากการศึกษาตามปกติวิสัย เพราะเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ไม่ต้องไปเรียนในโรงเรียน ส่วนงานบางอย่าง ก็ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่มาจากการศึกษา สามารถฝึกฝนปฏิบัติได้เอง เช่น ทำไร่ ทำนา ทำให้ชาวบ้านบางคนเห็นว่าการศึกษาไม่มีผลต่อการประกอบอาชีพ สำหรับการเลือกอาชีพนั้นต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ซึ่งความรู้ความสามารถก็มาจากการศึกษา ถ้าหากการศึกษาน้อย ก็ต้องทำอาชีพที่ใช้ความรู้ความสามารถน้อย เช่น เด็กคนหนึ่งอยากเป็นหมอ แต่พ่อแม่ สามารถส่งเสียให้เรียนได้แค่ป. 6 จึงต้องช่วยพ่อแม่ ทำไร่ ทำนา

ส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านมีการศึกษาต่ำ อาชีพที่ทำส่วนใหญ่ก็คือเกษตรกรรม ซึ่งถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการสอนวิชาเกี่ยวกับเกษตรกรรมบ้าง เช่น หลักสูตรเกษตรกรรมในช่วงชั้น ประถม 1 ถึง ประถม 6 หรือ มีคณะเกษตร ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็ไม่ได้รับการศึกษาจากที่เหล่านี้ อีกประการหนึ่งคือ แม้เด็กสมัยใหม่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรมาจากโรงเรียน แต่เด็กก็ไม่ได้ทำตามวิธีเหล่านั้น แต่ทำตามพ่อแม่ที่สอนมามากกว่า

 

 

 

6.5 ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและการละทิ้งถิ่นฐานของประชาชนในท้องถิ่น

สาเหตุที่ทำให้ประชากรละทิ้งถิ่นฐาน

ในอดีตประมาณก่อน พ.ศ. 2528 ระดับการศึกษาของประชาชนในท้องถิ่นยังไม่สูงมากนัก ทำให้ไม่มีความรู้ความสามารถที่จะออกไปประกอบอาชีพในท้องถิ่นอื่น ๆได้ อีกทั้งความเจริญต่าง ๆ ยังไม่แพร่หลายเข้ามาในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านไม่ทราบความเป็นไปภายนอกหมู่บ้าน ดังนั้น เมื่อเรียนจบจึงช่วยครอบครัวทำงานในท้องถิ่น คือ การทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่มัน เลี้ยงสัตว์ มีความเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน ไม่ละทิ้งถิ่นฐานไปไหน แต่หลังจาก พ.ศ. 2528 เป็นต้นมาสถิติของประชาชนจะจบ ป.6 มากขึ้น เพราะเป็นหลักสูตรภาคบังคับ อีกทั้งระดับการศึกษายังมีมากขึ้นไปถึงระดับชั้นมัธยมและอุดมศึกษา ทำให้ประชากรสามารถได้รับความรู้และทัศนคติที่กว้างขึ้น ตลอดจนสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ความเจริญต่าง ๆ ได้แพร่เข้ามาในท้องถิ่น เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนอยากออกไปประกอบอาชีพ ตั้งถิ่นฐาน หรือเรียนต่อภายนอกหมู่บ้านซึ่งมีความเจริญมากกว่าในท้องถิ่น

สาเหตุที่ทำให้ประชากรไม่ละทิ้งถิ่นฐาน

อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนบางกลุ่มที่อยู่ในถิ่นฐาน และมีระดับการศึกษาเพียงแค่ระดับชั้นประถมศึกษา (ป.4-ป.6) มีเพียงบางส่วนที่มีระดับการศึกษาสูง คือระดับชั้นปริญญาขึ้นไป (ซึ่งส่วนมากจะประกอบอาชีพครู) ซึ่งสาเหตุโดยรวมที่ยังคงอยู่ในท้องถิ่นต่อไป ได้แก่

    1. มีความห่วงใย ผูกพันกับครอบครัว ต้องการดูแลเลี้ยงดูครอบครัว
    2. ประชากรเหล่านี้ได้ครอบครัวเป็นคนในท้องถิ่น จึงอาศัยทำมาหากินอยู่กับครอบครัว
    3. ขาดแคลนด้านทุนทรัพย์เพื่อจะศึกษาต่อ เมื่อการศึกษาน้อย โอกาสที่จะประกอบอาชีพดีๆในท้องที่อื่นก็มีน้อย

การประกอบอาชีพ รายได้ และความเป็นอยู่ของประชาชนที่ละทิ้งถิ่นฐาน

ความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาและการประกอบอาชีพของประชาชนที่ละทิ้งถิ่นฐาน สามารถแยกได้ดังนี้

 

ระดับประถมศึกษา ( ป.4 – ป.6)

    • รับจ้างทั่วไป เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซักรีดเสื้อผ้า เย็บผ้า ได้รายได้ประมาณ 3-4 พันบาทต่อเดือน ความเป็นอยู่ไม่ค่อยดีลำบาก แทบไม่เหลือเงินส่งให้ทางบ้าน
    • ลูกจ้างทั่วไปและโรงงาน เช่น ลูกจ้างร้านขายของชำ ลูกจ้างโรงงานทั่วไป เช่น โรงงานไอศกรีม ตุ๊กตา ขนมปัง ฯลฯ มีรายได้ประมาณ 5-6 พันบาท และ 3,500-5,000 บาท ตามลำดับ ความเป็นอยู่พอมีพอกิน เพราะนายจ้างช่วยเหลือ ได้ช่วยเหลือทางบ้านประมาณครั้งละ 2-3 พันบาท (ในส่วนนี้รวมประชากรที่ถูกชักนำไปทำงานโรงงานทอผ้า ขุดถนน ฯลฯ ในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน โดยมีนายหน้ามาชักจูง จะได้รายได้ดีหน่อยคือ เดือนละประมาณ 10,000-20,000 บาท)
    • ทำไร่ ทำนา ในพื้นที่อื่น เช่น นครราชสีมา รายได้และความเป็นอยู่คล้ายๆประชากรในท้องถิ่น ประชากรในส่วนนี้ย้ายไป เพราะได้ครอบครัวในพื้นที่อื่น

ระดับมัธยมศึกษา

    • ลูกจ้างโรงงานและบริษัท เช่น โรงงานไฟฟ้า บริษัทคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ประกอบอาชีพตามเมืองใหญ่ๆ ได้เงินเดือนประมาณ 5,000 - 20,000 บาท มีความเป็นอยู่สบาย ส่งมาให้ครอบครัวประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน

    • รับราชการ ส่วนมากเป็น ตำรวจ ทหารบก ทหารเรือ อยู่ในท้องที่แตกต่างกันไปแล้วแต่หน้าที่การงาน

ระดับอุดมศึกษา

มีหลากหลายอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล ครู ฯลฯ โดยมักจะรับราชการอยู่ในท้องที่อื่น มีรายได้ตามขั้นราชการ (10,000 ขึ้นไปทุกคน) มีความเป็นอยู่ดีสบาย และมีเงินพอส่งมาช่วยเหลือทางบ้าน

การประกอบอาชีพ รายได้ และความเป็นอยู่ของประชาชนที่ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน

ระดับประถมศึกษา (ป.4 - ป.6)

    • ทำนา เพื่อเก็บไว้บริโภคเองไม่ขาย
    • ทำไร่

    • เน้นทำไร่มันสำปะหลัง รายได้มากน้อยแล้วแต่จำนวนไร่ที่มีครอบครองอยู่ มีรายได้ประมาณ 5-6 พันบาทต่อไร่ โดยจำหน่ายผลผลิตปีละครั้ง
    • เน้นการรับจ้างทำไร่อ้อย รายได้ประมาณ 300 บาทต่อไร่ต่อปี ผลผลิตประมาณ 20-25 ตันต่อไร่ ส่วนมากแปลงหนึ่งจะมีประมาณ 20-30 ไร่
    • ปลูกยูคาลิปตัส (แซมในไร่) รายได้ 4-5 พันบาทต่อไร่

    • เลี้ยงสัตว์

    • หมู เลี้ยงไว้เพื่อขายทั้งตัว ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการเลี้ยง รายได้แล้วแต่ราคาตลาด เช่น เนื้อหมูกิโลกรัมละ 40 บาท หมูหนัก 100 ก.ก. เพราะฉะนั้นตัวละ 4,000 บาท
    • วัว ใช้เวลาในการเลี้ยง 2-3 ปี เพื่อขายทั้งตัวประมาณ 20,000-50,000 บาท
    • ไก่ เป็ด ปลา เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคและขายด้วย

    • ปั่นผ้า ทอผ้า เพื่อไว้ใช้เองและจำหน่าย ใช้เวลาในการทำประมาณ 1 ผืนต่อ 15 วัน ราคาที่ขาย ถ้าเป็นผ้าไหม 1,000 บาทต่อผืน ผ้าฝ้าย 300-400 บาทต่อผืน

ระดับอุดมศึกษา

จากการศึกษาพบว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับนี้และยังคงอยู่ในท้องถิ่น มีเพียงคณะครูที่โรงเรียนบ้านโนนสำราญ (ปัจจุบันมี 2 ท่าน และอีก 3 ท่านอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง ครูที่นี่มีตำแหน่งในระดับซี 5 ขึ้นไป มีรายได้ 10,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน)

ทัศนคติของประชาชนในหมู่บ้านต่อผู้ที่ย้ายถิ่นฐาน

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อคนที่ย้ายถิ่นฐานในหลายด้าน เช่น เห็นว่าบุคคลเหล่านั้นมีความจำเป็นต้องหารายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มากขึ้น บ้างก็เห็นว่าไปเพราะหน้าที่ การงาน เช่น รับราชการตำรวจ ทหาร ต้องมีการโยกย้ายตลอด บางรายเห็นว่ามีอาชีพดี ๆ รายได้สูง ๆ และสบายกว่าอยู่ในท้องถิ่น แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกเป็นห่วงทั้งในด้านความเป็นอยู่ อยากให้กลับมาจะได้ดูแลกันทั่วถึง และบางรายก็อยากให้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนาอาชีพ พัฒนาด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา ฯลฯ

ผลกระทบของประชากรที่ย้ายถิ่นฐานต่อครอบครัวและท้องถิ่น

จากการศึกษาพบว่าประชาชนที่ละทิ้งถิ่นฐานนี้มีผลกระทบต่อครอบครัว ดังนี้

แง่บวก

    • ช่วยเหลือครอบครัวในด้านเศรษฐกิจ คือ ส่งเงินรายได้มาจุนเจือครอบครัว เพราะรายได้นั้นดีกว่าประกอบอาชีพในท้องถิ่น
    • ช่วยพัฒนาหมู่บ้านได้ในบางด้าน เพราะมีทุนทรัพย์ที่มาจากการประกอบอาชีพในท้องที่อื่น เช่น ช่วยบริจาคปัจจัยแก่วัด เป็นจำนวนมากในงานบุญต่างๆ ช่วยค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน เป็นต้น

แง่ลบ

เมื่อคนในหมู่บ้านน้อยลง คนดีมีความรู้ละทิ้งถิ่นฐานไปหมด ทำให้ท้องถิ่นขาดคนมีความรู้ ความสามารถที่จะพัฒนาท้องถิ่นซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนาในหลายด้าน เช่น การศึกษา สาธารณูปโภค ฯลฯ

สภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ

ปัจจุบันประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษามากขึ้น โดยเน้นให้เรียนต่อในระดับสูง ส่งผลให้มีความคิดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและละทิ้งถิ่นฐานมากขึ้น ด้วยอาจมีสาเหตุมาจาก สภาพการศึกษาไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพในท้องถิ่น ซึ่งอาจส่งผลให้ในอนาคตจะมีแต่ประชาชนที่การศึกษาน้อย ไม่รู้จะไปไหนจึงได้แต่ประกอบอาชีพในท้องถิ่น ซึ่งอาจทำให้ขาดคนมาพัฒนา และในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ เพราะประชาชนในชนบทประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นคนส่วนมากของประเทศ เมื่อชนบทไม่พัฒนา ประเทศชาติก็อาจไม่พัฒนาได้เท่าที่ควร

6.6 สถานภาพทางเศรษฐกิจของสถาบันการศึกษา และปัญหาการขาดแคลนทุนทรัพย์ของ ครอบครัวในชุมชน

สถานภาพทางเศรษฐกิจของสถาบันการศึกษา

จากการศึกษาพบว่า โรงเรียนบ้านโนนสำราญมีค่าใช้จ่ายหลายด้าน สามารถแยกได้ดังนี้

ทุนอาหารกลางวัน

โรงเรียนได้รับทุนอาหารกลางวันจำนวน 27 ทุน ทุนละ 5 บาทต่อวัน เป็นเงินจำนวน 135 บาทต่อวัน ซึ่งนักเรียนผู้ที่จะมีสิทธิได้รับทุนอาหารกลางวัน จะต้องมีคุณสมบัติคือ ทางบ้านขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีน้ำหนักและส่วนสูงไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียน เพราะมีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 61 คน อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนได้หาหนทางแก้ไขปัญหานี้ โดยนำเงินที่ได้จากรัฐบาล จำนวน 135 บาทต่อวัน ไปจัดซื้ออาหารกลางวัน โดยได้จ้างแม่บ้านในหมู่บ้าน ทำอาหารเป็นถาดใหญ่ แล้วมาแจกจ่ายให้กับนักเรียนทุกคน เพื่อให้นักเรียนเกิดความเสมอภาคกัน ระหว่างผู้ที่ได้รับทุนกับพวกไม่ได้รับทุน

ทุนอาหารเสริม

โรงเรียนได้รับทุนส่วนนี้เพียงแค่นักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 35 ทุน ทุนละ 5 บาทต่อวัน รวมจำนวน 175 บาทต่อวัน ทุนในส่วนนี้ไม่ได้มีปัญหาใดๆ และมีแนวโน้มว่า ทางรัฐบาลจะเพิ่มทุนอาหารเสริม (นม) ให้ถึงจากระดับชั้นอนุบาล ถึง ประถมศึกษาปีที่ 4 โดยรัฐบาลจะจัดหาทุนอาหารเสริม (นม) ให้อยู่ในวงเงิน 200 วันต่อปีการศึกษาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจัดหาทุนและส่งให้โรงเรียนในรูปเงินสด ถ้าโรงเรียนสามารถจัดหาซื้ออาหารเสริม (นม) ในราคาที่ต่ำกว่าลงมาได้ เงินส่วนที่เหลือโรงเรียนสามารถนำไปซื้ออาหารเสริม (นม) เพิ่มเติมให้ในวันที่เกินวงเงินของรัฐบาลมา และอาจเก็บสะสมแล้วนำไปหาซื้ออาหารมาเลี้ยงเด็กนักเรียนในวันสำคัญต่าง ๆ

วัสดุการศึกษา

งบประมาณส่วนนี้รัฐบาลจัดหาให้และแบ่งให้เป็นส่วนของอำเภอ โดยคิดให้รายบุคคล คือ ระดับก่อนประถมศึกษา เป็นเงินจำนวน 145 บาทต่อคนต่อปีการศึกษาหนึ่ง และระดับประถมศึกษาขึ้นไป เป็นจำนวนเงิน 275 บาทต่อคนต่อปีการศึกษาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนจะไม่ได้รับเงินเป็นจำนวนเท่าที่ควรได้ แต่จะได้น้อยกว่า เพราะทางอำเภอได้จัดสรรเงินทั้งหมดที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ หรือ โรงเรียนของตำบล อำเภอ มากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก

จากการสัมภาษณ์ คุณครูฝ่ายการเงินของโรงเรียนบ้านโนนสำราญ พบว่าการจัดสรรเงินทุนส่วนนี้ของทางอำเภอ ยังมีข้อบกพร่องอยู่ โดยให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดใหญ่มากกว่า การจัดสรรจึงออกมาในรูปแบบที่ไม่เท่าเทียมกัน เห็นว่าควรจัดสรรเงินทุนแบบอัตราส่วนแทน แทนที่จะใช้ขนาดโรงเรียนเป็นเกณฑ์ ดังนั้น อุปกรณ์และสื่อการสอนต่าง ๆ ของโรงเรียนบ้านโนนสำราญนี้ได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในหมู่บ้านที่บริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ หรือเงินให้

 

 

 

ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าสาธารณูปโภค

    1. ค่าน้ำ - น้ำที่ใช้ในโรงเรียนได้จากการแบ่งน้ำส่วนหนึ่งจากทางวัดและท่อของชาวบ้าน จึงไม่เพียงพอสำหรับนักเรียน และเมื่อพิจารณาจากผังของหมู่บ้านแล้ว โรงเรียนจะเป็นแหล่งที่ได้รับน้ำประปาเป็นแหล่งสุดท้าย
    2. ค่าไฟฟ้า - เนื่องจากเป็นโรงเรียนของรัฐบาล จึงไม่มีการติดมาตรวัดไว้ โดยรัฐบาลจะจ่ายไฟฟ้าให้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

เงินเดือนของครูผู้สอน

คุณครูในโรงเรียนบ้านโนนสำราญ มีทั้งหมด 5 ท่าน แต่ละท่านจะอยู่ในระดับซี 5 ขึ้นไป มีเงินเดือนตั้งแต่ 10,600 - 14,680 บาท และได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มเติมจากรัฐบาลสำหรับครูที่มีบุตรศึกษาเล่าเรียนอยู่ในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา และมีเบี้ยเลี้ยงให้กับครูที่ไปประชุมราชการ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยจ่ายให้เป็นจำนวนขึ้นกับจำนวนวันที่ไปราชการ

โครงการเปิดบัญชีเงินฝากสำหรับเด็กนักเรียน

ครูผู้สอนในสาขาวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) เป็นผู้ริเริ่มขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อ

    • เป็นโครงการของสาขาวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต
    • ทำให้เด็กนักเรียนรู้จักคุณค่าของเงิน และรู้วิธีใช้เงินอย่างเหมาะสม
    • ทำให้เด็กนักเรียนรู้จักอดออมเงินไว้ใช้ในอนาคต
    • ทำให้เด็กนักเรียนมีความรับผิดชอบมากขึ้น

โครงการนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ในขณะนี้จากการสำรวจ เด็กนักเรียน 1 คนจะมีเงินเก็บเฉลี่ยแล้วประมาณ 28.16 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 225.28 บาทต่อปีการศึกษาหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควรและโรงเรียนจะนำเงินจำนวนนี้ ให้เด็กนักเรียนรับผิดชอบต่อ เมื่อนักเรียนจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ในการฝากเงินนั้นจะมีสมุดฝากเงินไว้สำหรับจดบันทึกในแต่ละวัน ว่านักเรียนได้นำเงินมาฝากเป็นจำนวนเท่าไร โดยแต่ละระดับชั้นจะมีบัญชีเงินฝากประจำชั้น ครูผู้สอนจะนำเงินที่เด็กนักเรียนนำมาฝากไปฝากธนาคารทุกๆวันเสาร์ พอสิ้นงวดบัญชี เด็กนักเรียนจะได้รับการจัดสรรดอกเบี้ยในอัตราที่ยุติธรรม

 

ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบก็คือ อัตราส่วนระหว่างครูและนักเรียน พบว่า ไม่ถึงตามเกณฑ์มาตรฐานที่ทางรัฐตั้งไว้ คือ นักเรียน 25 คนต่อ ครูผู้สอน 1 คน แต่ปัจจุบันโรงเรียนบ้านโนน-สำราญมีอัตราส่วนระหว่างนักเรียนต่อครูผู้สอนแค่ประมาณ 13 คน ต่อ ครู 1 คนเท่านั้น แต่ทางโรงเรียนได้ยื่นคำร้องขอยืดเวลาออกไป โดยกำหนดแผนจำนวนนักเรียนไว้ดังนี้ คือ พ.ศ. 2542 กำหนดจำนวนนักเรียนไว้ 58 คน พ.ศ. 2543 และ 2544 กำหนดไว้ 63 คน

จากการศึกษาสถานภาพและปัญหาของทางโรงเรียนบ้านโนนสำราญพบว่าในขณะนี้โรงเรียนบ้านโนนสำราญมีแนวโน้มว่าจะถูกยุบลง ซึ่งปัญหานี้เป็นที่กังวลของชาวบ้านในหมู่บ้านมาก เนื่องจากชาวบ้านเป็นห่วงว่าถ้าลูกไปเรียนในโรงเรียนประจำตำบลซึ่งอยู่ห่างไกล จะเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น การเดินทางที่ลำบากขึ้น รวมทั้งความสนิทสนมระหว่างครูกับผู้ปกครองนักเรียนจะลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงเรียนมีนโยบายลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงตามนโยบายของรัฐ ซึ่งในตอนนี้ได้เริ่มมีการตัดงบต่าง ๆ ลง เช่น งบเสื้อผ้า งบอาหารกลางวัน และหากรัฐบาลยุบโรงเรียนนี้ลง รัฐต้องช่วยค่ารถ 8 บาทต่อคน เป็นเงิน 488 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่ารื้อถอนอาคารและสนามเด็กเล่นและห้องน้ำ ซึ่งหากนำเงินส่วนนี้มาเก็บไว้ซื้อสื่อการสอนให้เด็ก เช่น คอมพิวเตอร์ ประมาณ 2-3 เดือน ก็สามารถซื้อได้แล้ว แถมยังสามารถใช้ประโยชน์จากอาคารและสถานที่ได้ต่อไป อีกทั้งเด็กนักเรียนก็ไม่ต้องไปโรงเรียนไกลๆความปลอดภัยสูงกว่า

ปัญหาการขาดแคลนทุนทรัพย์ของครอบครัวในชุมชน

จากการศึกษาพบว่า ผู้ปกครองต้องเริ่มที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนเมื่อลูกจบชั้นประถมศึกษาขึ้นไป เมื่อนักเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ทางเลือกในการเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาจะมี 2 ทาง คือ โรงเรียนบรบือ (โรงเรียนประจำอำเภอ) และโรงเรียนบรบือวิทยาการ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายซึ่งชาวบ้านต้องเสียเพิ่มเติม ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่ารถสำหรับเดินทาง อุปกรณ์การเรียนต่างๆ และเสื้อผ้า ชุดนักเรียน เมื่อรวมแล้วจะเห็นว่าเป็นเงินจำนวนมากพอสมควร อย่างไรก็ตามเงินจำนวนนี้ชาวบ้านจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยจะจัดงานเลี้ยงให้เด็กทุกปีสำหรับเด็กที่จบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านโนนสำราญ โดยเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนออกมาแสดงความสามารถพิเศษของตนเล็กน้อย และจะให้ทุนเล่าเรียนต่อ เป็นรางวัลตอบแทนจากการแสดงนั้นๆ

 

 

โครงการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

เป็นการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลที่มีนโยบายให้เด็กนักเรียนที่ครอบครัวประสบปัญหา การขาดแคลนทุนทรัพย์ มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนต่อ การคัดเลือกเด็กที่ได้รับทุนนั้น ทำโดยเด็กจะส่งประวัติตนเองพร้อมคำร้องผ่านทางโรงเรียนไปและทางโรงเรียนจะพิจารณาขอทุนให้ โดย

ในระดับชั้นมัธยมศึกษา มีวงเงินทุนให้เป็นจำนวน 70,000 บาท ซึ่งจะจัดสรรให้เด็กนักเรียนประมาณ 1,000 บาทต่อเดือนต่อคน

ในระดับชั้นอุดมศึกษา จะจัดสรรให้เด็กนักเรียนประมาณ 3,500 บาทต่อเดือนต่อคน

สองปีแรกรัฐบาลจะไม่คิดดอกเบี้ย หลังจากนั้นจะคิดอัตราร้อยละ 1 ใช้เงินคืนในระยะเวลา 2 ปี หลังจากจบการศึกษาและมีอาชีพการงานทำ และสามารถผ่อนผันได้ 17 ปี โดยใช้คืนเดือนละประมาณ 500 บาท

6.7 สรุป

จากการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในท้องถิ่น พบว่าพ่อหรือแม่ที่มีการศึกษาสูงก็มีค่านิยมให้ลูกหลานเรียนสูง ส่วนพ่อหรือแม่ที่มีการศึกษาต่ำจะมีค่านิยมในการศึกษาต่อของลูกหลานแตกต่างกันไป อาทิ อยากให้เรียนสูงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ไม่อยากให้เรียนสูงเพราะเกรงว่าจะไม่มีเงินพอส่ง หรือหางานทำไม่ได้ แต่น่าสังเกตว่าพ่อหรือแม่ที่มีระดับการศึกษาน้อยแม้จะต้องการให้ลูกเรียนสูง แต่ก็ไม่ได้ปลูกฝังให้ลูกรักการเรียน ไม่สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ลูกได้ หรือแม้แต่การแนะนำลูกเรื่องการศึกษาต่อได้ นอกจากนี้ยังพบว่า อาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องใช้การศึกษา บางครั้งเด็กจึงยึดรูปแบบวิธีตามพ่อแม่มากกว่าและเห็นว่าการศึกษาไม่มีผลต่อการประกอบอาชีพ

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับการละทิ้งถิ่นฐานนั้นพบว่า ในปัจจุบันเมื่อชาวบ้านมีการศึกษามากขึ้น ทำให้มีทัศนคติกว้างไกลขึ้น ประกอบกับความเจริญของสังคมเมือง เทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นแรงจูงใจให้ประชากรละทิ้งถิ่นฐานไปประกอบอาชีพในท้องที่อื่น โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เช่น เงินเดือนรายได้ดีกว่า หรือ การศึกษาที่มากขึ้นอาชีพไม่สอดคล้องกับการศึกษา ฯลฯ แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ละทิ้งถิ่นฐานก็ยังคงมีอยู่ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับการศึกษาน้อย ต้องการพัฒนาท้องถิ่น และรักถิ่นฐานต้องการดูแลครอบครัว ฯลฯ ซึ่งส่วนมากที่ยังคงอยู่ในท้องถิ่นนั้นมักประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนกลุ่มที่มีการศึกษาสูงในท้องที่นี้มีเพียงกลุ่มเดียวคือ ครู กลุ่มนี้มีเป้าหมายพัฒนาด้านการศึกษา และมีความผูกพันกับท้องถิ่น ต้องการดูแลครอบครัวเป็นหลัก