logos.gif (7470 bytes)สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

LOOKER1.GIF (1665 bytes)

 

บทที่ 7

ความคาดหวังและสภาพความเป็นจริงในการออกฝึกภาคสนาม

 

7.1 ความเป็นมาและความสำคัญ

การออกฝึกภาคสนามนับเป็นวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาวิชาสหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท เพื่อศึกษาถึงสภาพความแตกต่างของวิถีชีวิตระหว่างชุมชนชนบทกับชุมชนเมืองให้มากขึ้น ตลอดจนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างได้ ซึ่งการศึกษาในบทนี้เป็นการประเมินเกี่ยวกับ

    1. ความคาดหวังของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการออกภาคสนาม
    2. สภาพความเป็นจริงของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการออกฝึกภาคสนาม
    3. เพื่อเปรียบเทียบถึงความคาดหวังกับสภาพความเป็นจริงของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการออกฝึกภาคสนาม
    4. ประยุกต์และผสมผสานความรู้จากสาขาในการศึกษาสภาพชนบท
    5. แสดงบทบาทของความเป็นผู้นำและผู้ร่วมงานได้อย่างเหมาะสม
    6. วิเคราะห์องค์ประกอบที่จะทำให้การทำงานในชนบทประสบความสำเร็จ
    7. เพื่อมีแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาการออกฝึกภาคสนามในครั้งต่อไป

โดยคาดว่าจะนำประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาทั้งในด้านความคาดหวัง สภาพความเป็นจริงของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการออกฝึกภาคสนาม สภาพความแตกต่างระหว่างความ คาดหวังกับสภาพความเป็นจริง มาประยุกต์และผสมผสานความรู้จากสาขาในการศึกษาสภาพชนบท ตลอดจนวิเคราะห์องค์ประกอบที่จะทำให้การทำงานในชนบทประสบความสำเร็จ และ นำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาการออกฝึกภาคสนามในครั้งต่อไป

 

 

 

7.2 วิธีดำเนินงาน

1. สำรวจพื้นที่บ้านโนนสำราญ

โดยสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ค่านิยม ตลอดจนความเชื่อต่างๆ เพื่อหาประเด็นศึกษาและเก็บข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

2. ตั้งประเด็นการดำเนินงาน

2.1 การดำเนินงานในส่วนของนิสิต - ได้ตั้งคำถามเพื่อสอบถามนิสิตเกี่ยวกับความคาดหวังและสภาพความเป็นจริงในการออกฝึกภาคสนาม ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ เวลา ค่าใช้จ่าย เครื่องอุปโภคบริโภค สาธารณูปโภค ความปลอดภัย และที่อยู่อาศัย รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อชาวบ้าน คณาจารย์รายวิชาสหสาขาเพื่อการพัฒนาชนบท และความคิดเห็นที่มีต่อการทำงาน

2.2 การดำเนินงานในส่วนอาจารย์ - ได้สัมภาษณ์อาจารย์ที่ร่วมในโครงการออกฝึกภาคสนามเกี่ยวกับความคาดหวังและสภาพความเป็นจริงที่มีนิสิตในเรื่องของการปรับตัว ทั้งในด้านการสื่อสาร และการวางตัวกับชาวบ้าน รวมทั้งในเรื่องของวิธีการดำเนินการศึกษาของนิสิต เช่น การเรียนรู้กระบวนการศึกษา การแบ่งปันความรู้ การแบ่งหน้าที่และการวางแผนในการทำงาน การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การประยุกต์ และการนำความรู้ในสาขาวิชาของตนมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น

2.3 การดำเนินงานในส่วนของชาวบ้าน - ได้สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่คุ้ม ผู้นำด้านศาสนา ผู้นำด้านการศึกษา ตลอดจนชาวบ้านที่รับนิสิตและไม่ได้รับนิสิต เกี่ยวกับความ คาดหวังและสภาพที่เป็นจริงในเรื่องทั่ว ๆ ไป ได้แก่ ในเรื่องของการสื่อสาร อาหาร ค่าใช้จ่าย เครื่องอุปโภค ไฟฟ้า ประปา การจัดสถานที่ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และประเด็นอื่น ๆ ที่ชาวบ้านให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม

3. การเก็บรวบรวมข้อมูล

3.1 จากแบบสอบถามของนิสิตรายวิชาสหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท โดยการสุ่มตัวอย่างนิสิต จำนวน 14 คน จากจำนวน 49 คน

3.2 จากการสัมภาษณ์คณาจารย์ที่ออกฝึกภาคสนาม ณ บ้านโนนสำราญ โดยการสุ่มตัวอย่างอาจารย์ จำนวน 6 คน ดังนี้ ผศ. กล้าหาญ ตันติราษฎร์ ผศ. ดร. ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ รศ. น.สพ. ดร. มานพ ม่วงใหญ่ รศ. ดร. ประพันธ์ เศวตนันท์ ผศ. แจ่มใส สุวรรณศักดิ์ศรี และ รศ. ดร. อรุณี จันทรสนิท นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์กลุ่มชาวบ้าน คือ ผู้นำด้านศาสนา (หลวงพ่อบุญหลาย โฆสโก) ผู้นำด้านการศึกษา (อาจารย์ใหญ่และคณาจารย์โรงเรียนบ้านโนนสำราญ) ผู้นำด้านชุมชน (ผู้ใหญ่บ้านชวน คำยา และผู้ใหญ่คุ้มต่าง ๆ ) ชาวบ้านที่รับนิสิต และชาวบ้านที่ไม่รับนิสิต

หลังจากนั้นจึงได้นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อสรุปผลการดำเนินงานต่อไป

7.3 การเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูล

การเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ นิสิต อาจารย์ และชาวบ้าน

นิสิต

เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของนิสิตตามความคาดหวังและสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับชาวบ้าน ในประเด็นต่าง ๆ แล้วพบว่า นิสิตมีความเห็นว่าชาวบ้านให้การต้อนรับดี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีความจริงใจ มีความซื่อ ใจดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนสภาพความเป็นจริงที่ไม่เป็นไปตามที่นิสิตคาดไว้ คือ ก่อนการฝึกภาคสนามนิสิตมีความเห็นว่าชาวบ้านจะคล้ายคนอีสานทั่วไปที่ยากจนไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ ไม่มีอะไรตื่นเต้นน่าสนใจ แต่ขณะฝึกภาคสนาม นิสิตมีความเห็นว่าชาวบ้านมีทั้งนิสัยดีและไม่ดี พูดเก่ง คุยสนุก ชอบแต่งตัว ให้ความดูแล เอาใจใส่เหมือนลูกหลานจริง ๆ บางครั้งเป็นห่วงจนนอนไม่ได้ และ ให้ความช่วยเหลือในทุกเรื่อง ส่วนสภาพโดยทั่วไป มีทั้งที่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เช่น การอยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นิสิตส่วนใหญ่คาดหวังไว้ไม่สูงนัก ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี

ส่วนความคิดเห็นของนิสิตที่มีต่ออาจารย์นั้น นิสิตเห็นว่าอาจารย์จะให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือดี เอาใจใส่ และคิดว่าอาจารย์ประจำกลุ่มที่มีอายุมากจะปล่อยให้หาข้อมูลกันเอง นอกจากนี้ อาจารย์ส่วนใหญ่มีลักษณะเครียด ทำให้นิสิตเครียดตามในเรื่องงานเพราะมีเวลาศึกษาน้อยอยากให้งานเสร็จทันเวลา และมีคุณภาพ นอกจากนี้อาจารย์ยังคอยให้ความรู้เพิ่มเติมนอกจากหัวข้อที่ศึกษาอีกด้วย

สำหรับความคิดเห็นของนิสิตที่มีต่อวิชาสหสาขาเพื่อการพัฒนาชนบทนั้น ก่อนการฝึกภาคสนามนิสิตได้คาดคิดไว้แล้วว่าสิ่งที่ตนเรียนนั้นเป็นการศึกษากว้าง ๆ เป็นภาพรวมทั่วไปของชนบทในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อฝึกภาคสนามแล้วจึงไม่แตกต่างไปจากความคิด ความคาดหวังก่อนการฝึกภาคสนามมากนัก และเห็นว่าการออกภาคสนามมีสิ่งที่น่าสนใจ น่าศึกษา ทำให้เห็นสิ่งที่แตกต่างจากชีวิตประจำวัน ได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เป็นโอกาสที่จะได้รู้จักชีวิตมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความไม่สอดคล้องระหว่างความคาาดหวังก่อนการออกฝึกภาคสนามกับสภาพความเป็นจริงหลายประเด็นด้วยกัน คือ นิสิตคาดว่าจะได้ใช้ความรู้เนื้อหาที่เรียนในห้องเรียนในการออกฝึกภาคสนาม แต่ตามความเป็นจริงแล้วนิสิตส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นว่า นำความรู้ที่ได้จากการเรียนในห้องเรียน มาใช้ในการออกฝึกภาคสนามได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้นิสิตยังคาดหวังที่จะลงภาคสนามโดยการพัฒนาชนบทอย่างเป็นรูปธรรม ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน แต่วัตถุประสงค์การฝึกภาคสนามตามรายวิชานี้ เป็นการศึกษาเก็บข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรมเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับความคาดหวังของนิสิตที่คิดว่าน่าจะพัฒนาในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ อีกทั้งนิสิตยังคิดว่าเป็นการศึกษาทฤษฎีมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งในการปฏิบัติเป็นเพียงการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลจากชาวบ้านเท่านั้น

สิ่งที่เหมือนกันของนิสิตส่วนใหญ่ในด้านความรู้สึกก่อนการออกฝึกภาคสนามกับขณะที่ฝึกภาคสนามคือ นิสิตส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าตนจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน ๆ ในกลุ่มได้และสามารถทำงานร่วมกันได้ดี เกิดความสามัคคีภายในกลุ่ม และสามารถรับผิดชอบหน้าที่ของตนได้ ส่วนบรรยากาศของการทำงานนิสิตจำนวนมากที่คาดไว้ว่าจะไม่เครียดมากนัก แต่เมื่อออกฝึกภาคสนามต้องปฏิบัติจริงร่วมคิดประเด็นและหาข้อมูลกันอย่างหนัก จนนิสิตจำนวนมากเกิดความเครียด

ถึงแม้ว่าความคาดหวังและความเป็นจริงในการออกฝึกภาคสนามครั้งนี้หลักสำคัญในการทำงานจะมีความสอดคล้องกัน แต่ก็ยังคงมีสิ่งที่ไม่สอดคล้องกันบ้าง เช่น เรื่องการหาข้อมูลโดยการสอบถามจากชาวบ้าน ซึ่งนิสิตบางส่วนเกรงว่าจะไม่สามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้มากนัก แต่เมื่อได้ปฏิบัติแล้วก็สามารถสื่อสารได้ดี นอกจากนี้มีนิสิตบางส่วนไม่คิดว่าการทำงานจะทำให้ทุกคนสนิทสนมกันมาก แต่ก็สามารถทำให้ทุกคนเข้ากันได้เป็นอย่างดี หรือเกรงว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยกล้าแสดงออกทางความคิดเห็นของตน แต่ผลกลับตรงกันข้าม คือนิสิตกล้าแสดงออกทางความคิดของตนมากและมีความพึงพอใจในการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ

อาจารย์

จากการสัมภาษณ์อาจารย์ทั้ง 6 ท่านเกี่ยวกับการออกฝึกภาคสนาม ณ บ้านโนน-สำราญ ส่วนใหญ่แล้วคาดหวังให้นิสิตสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ สามารถนำความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งจากสภาพความเป็นจริง นิสิตและชาวบ้านต่างปรับตัวเข้าหากัน เช่น ด้านการสื่อสาร นิสิตพยายามที่จะฟังภาษาอีสาน ชาวบ้านสูงอายุก็พยายามพูดให้ช้าลง บางครั้งก็พูดซ้ำเพื่อให้นิสิตสามารถเข้าใจได้ยิ่งขึ้น ส่วนเด็กหรือครู ก็มักพูดภาษากลางกับนิสิต ทำให้นิสิตมีความเข้าใจในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น

สำหรับการวางตัวกับชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของบ้านที่นิสิตพักอาศัยอยู่ ซึ่งพบว่านิสิตวางตัวได้ดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้น นิสิตบางคนช่วยงานบ้านบ้าง เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน เป็นต้น กล่าวโดยรวม คือ นิสิตวางตัวกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ควรปรับปรุงเรื่องเวลานอนและการตื่นนอน เนื่องจากว่านิสิตนอนดึก ส่งเสียงดังรบกวนการนอนของชาวบ้าน พ่อแม่ที่บ้านบางคนต้องนอนดึกกว่าปรกติ เพราะนั่งรอนิสิตกลับบ้าน และจากการที่นิสิตนอนดึก ทำให้นิสิตตื่นสายและไม่สามารถมาประชุมตามเวลาที่อาจารย์นัดไว้ได้ทัน

สิ่งที่อาจารย์ส่วนใหญ่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ ความสนิทสนมกันมากขึ้นของนิสิต จะได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างคณะ นิสิตซึ่งอยู่ต่างคณะกันจะสามารถนำความรู้ในแต่ละคณะของตน มาแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกันได้ เกิดความร่วมมือกัน พยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่นำความรู้ของแต่ละมาใช้ในการแก้ปัญหากับชาวบ้าน เนื่องจากยังเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 และ 2 ซึ่งยังไม่มีความรู้ในคณะของตนเองมากพอที่จะแนะนำและแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านได้ อย่างไรก็ตามนิสิตบางคนมีการพัฒนาทางด้านความคิดมากขึ้น มีความกล้าคิดกล้าพูดมากขึ้น และบางคนได้ฝึกการเป็นผู้นำ แบ่งหน้าที่การทำงานได้เป็นอย่างดีตามที่อาจารย์คาดหวัง

ในส่วนของการทำงานกลุ่มนั้น เนื่องจากนิสิตแต่ละคนมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนแสดงออกถึงลักษณะของความเป็นผู้นำ บางคนทำตามหน้าที่ของตนที่ได้รับหมอบหมายเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ ความสนใจของแต่ละบุคคลในหัวข้อของงานที่ทำนั้น และความสามารถของแต่ละบุคคลด้วย นอกจากนี้ จากการที่นิสิตส่วนใหญ่ยังไม่เรียนเกี่ยวกับการทำงานวิจัย การออกศึกษาภาคสนามครั้งนี้ นิสิตจึงเหมือนเป็นการเรียนผิดเรียนถูก เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ค่อยๆ หาวิธีแก้ปัญหาไปทีละขั้น ตลอดจนการเก็บข้อมูล ยังทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากนิสิตส่วนมากยังคงอยู่ในระดับชั้นปีที่ 1 และ 2 ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์ในการเลือกประเด็นศึกษา แต่ในส่วนของเนื้อหา ความรู้ของนิสิต จัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ชาวบ้าน

ในที่นี้แบ่งการศึกษาออกเป็น ผู้นำด้านศาสนา ผู้นำด้านการศึกษา ผู้นำด้านชุมชน รวมไปถึงชาวบ้านที่รับนิสิตเข้าพักอาศัยและชาวบ้านที่ไม่ได้รับนิสิตเข้าพักอาศัย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเกรงว่านิสิตจะไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร หรืออาจเกรงว่านิสิตจะเกิดความรังเกียจสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ บางคนจึงได้จัดเตรียมสถานที่ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกไว้เท่าที่จะทำได้ เช่น การจัดเตรียมที่พักอาศัยให้สะอาดมากขึ้น การจัดเตรียมอาหาร น้ำดื่ม เป็นต้น

แต่จากสภาพความเป็นจริงแล้ว พบว่านิสิตไม่ได้ทำให้ชาวบ้านลำบากใจ หรือเป็นไปอย่างที่ชาวบ้านกลัว เช่น หลวงพ่อบุญหลาย โฆสโก รู้สึกว่านิสิตและอาจารย์ต่างให้ความเคารพนับถือ ไม่รังเกียจในความพิการทางสายตาของท่าน และการทำงานของนิสิตก็ไม่ได้ส่งผลให้เวลาจำวัดของท่านมีการเปลี่ยนแปลง

ชาวบ้านบางคน คาดหวังไว้ว่านิสิตจะมาเรียนรู้เพื่อช่วยพัฒนาหมู่บ้านโนนสำราญให้ดียิ่งขึ้น โดยให้ความรู้และคำแนะนำต่อชาวบ้านในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนนำสภาพแวดล้อมจริง ๆ ของหมู่บ้านเช่น การหากบ หาเขียด เรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีของหมู่บ้านนี้ เพื่อที่จะนำไปเผยแพร่ต่อไป ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กนักเรียนจะยึดถือเป็นแบบ เพราะก่อนที่นิสิตจะมาอาจารย์จะบอกกับเด็กนักเรียนว่าพี่ที่มาเป็นคนดี มีความรู้สูง ให้เด็ก ๆ ดูเป็นแบบอย่าง และนำหนังสือเสริมความรู้ที่นิสิตไม่ได้อ่านแล้วมาบริจาคให้กับทางโรงเรียน นอกจากนี้ ชาวบ้านบางคนยังคาดว่านิสิตจะนำเงินมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญขึ้น เช่น สร้างถนน ปรับปรุงโรงเรียน วัด และโทรศัพท์ เช่น ผู้ใหญ่คุ้มบางคนคาดหวังว่าจะมีนิสิตมาทำถนน บำรุงวัดหรือสร้างโรงเรียนให้กับชุมชน แต่จากสภาพความเป็นจริงแล้ว ไม่เป็นอย่างที่ชาวบ้านคาดหวัง โดยจากการสัมภาษณ์อาจารย์โรงเรียนหมู่บ้านโนนสำราญ ต่างมีความเห็นว่า นิสิตไม่ได้มาพัฒนาหมู่บ้าน เพียงแต่มาศึกษาและเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาในอนาคตเท่านั้น และนิสิตไม่ค่อยได้ให้ความรู้และคำแนะนำ ต่อชาวบ้านมากนักเนื่องจากนิสิตส่วนมากอยู่ในระดับชั้นปี 1 และ 2 ยังไม่มีความรู้มากพอในวิชาสาขาของตนที่จะแนะนำชาวบ้านได้ แต่อย่างไรก็ตาม นิสิตก็ได้มาเรียนรู้สภาพแวดล้อมจริง ๆ ของหมู่บ้านตามที่ได้คาดหวังไว้ อีกทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเด็กนักเรียน มีส่วนช่วยอาจารย์ในโรงเรียนปลูกฝังให้เด็กนักเรียนมีความต้องการเรียนสูง ๆ และยังปลูกฝังกับพ่อแม่ของเด็กนักเรียนด้วย

ส่วนชาวบ้านที่รับนิสิตเข้ามาพักอาศัยในบ้านของตัวเองนั้น มีความรู้สึกว่าภูมิใจ ดีใจอย่างมาก แต่ก็มีความกังวลว่าจะเข้ากับนิสิตไม่ได้ กลัวจะคุยกันไม่รู้เรื่องเนื่องจากเรื่องของภาษา เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่สามารถพูดภาษากลางได้ บ้างก็คิดว่านิสิตจะไม่สามารถรับประทานอาหารพื้นบ้านได้ บ้างก็อยากให้นิสิตได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด ตลอดระยะเวลาที่พักบ้านโนนสำราญ จึงได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภค ไฟฟ้าประปา ตลอดจนจัดสถานที่และดูแลความปลอดภัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งพวกเขาก็พบว่านิสิตส่วนมากสามารถสื่อสาร พูดคุยกับชาวบ้านได้ดีพอสมควร และนิสิตบางคนก็สามารถหัดพูดภาษาอีสานได้เลย ทำให้เกิดความเป็นกันเอง และสนิทสนมกับชาวบ้านมากขึ้น

นอกจากนี้ นิสิตเกือบทั้งหมดก็สามารถรับประทานอาหารพื้นบ้านได้ เช่น ข้าวเหนียว ส้มตำใส่น้ำปลาร้า ลาบเนื้อ ไข่มดแดง เป็นต้น ในช่วงแรก ชาวบ้านจึงพยายามที่จะหาอาหารที่เป็นอาหารของคนภาคกลางมาให้ เช่น ข้าวเจ้า ผัดผักต่างๆ ไก่ทอด หมูพะโล้ เป็นต้น และอาหารก็ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นด้วย แต่ในระยะหลัง ชาวบ้านก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากอาหารของภาคกลางมาเป็นอาหารพื้นบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีนิสิตบางคนที่ไม่สามารถรับประทานอาหารพื้นเมืองบางชนิด ที่ชาวบ้านทำให้ได้ เช่น แกงเขียด เป็นต้น ส่วนในด้านเวลาของการรับประทานนั้น ชาวบ้านต้องเปลี่ยนเวลาของการรับประทานอาหารเช้าให้เร็วขึ้น จากปกติเวลาประมาณ 9.00-10.00 น. ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็น 8.00 น. เพื่อให้ตรงกับตารางเวลาของนิสิต

สำหรับค่าใช้จ่ายนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกว่าไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะอาหารส่วนใหญ่ก็มีอยู่แล้ว และนิสิตก็สามารถรับประทานอาหารพื้นเมืองได้ ส่วนสิ่งที่เปลี่ยนเป็นของใหม่ให้นิสิต ได้แก่ เปลี่ยนฟูกนอน หมอน มุ้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทำความลำบากให้แก่ชาวบ้านก็คือ “น้ำ” ทางหมู่บ้านได้สูบน้ำบาดาลขึ้นไปไว้บนแทงก์น้ำ แล้วก็ปล่อยให้ไหลตามบ้านซึ่งบ้านที่อยู่บริเวณโรงเรียนนั้นจะเป็นที่สุด ซึ่งตามปกติก็ไม่ค่อยไหลอยู่แล้ว เมื่อนิสิตได้เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นผลให้น้ำประปาไม่ไหลเลยในบ้านบริเวณใกล้โรงเรียน ทำให้ชาวบ้านต้องนำรถเข็นไปขนน้ำจากโรงเรียนมาใช้ ซึ่งสร้างความลำบากแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก อีกประการหนึ่งคือเรื่อง “ความปลอดภัย” ในเวลากลางคืน ชาวบ้านต้องรอนิสิตกลับมาถึงบ้าน เนื่องจากนิสิตก็ต้องประชุมกลุ่มกันทุกคืน บางกลุ่มเลิกประมาณเที่ยงคืน หรือตีหนึ่ง บางกลุ่มก็ทำงานถึงเช้ามืด ทำให้ชาวบ้านบางคนนอนไม่หลับ เนื่องจากเป็นห่วงและต้องเปิดบ้านไว้รอจนกว่านิสิตจะกลับมา

ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้รับนิสิตเข้าพักอาศัยนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังอะไรกับการมาเยือนของนิสิต เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการต้อนรับน้อย มักให้ความร่วมมือในด้านสถานที่ส่วนรวม เช่น ความสะอาดภายในหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่ชาวบ้านส่วนนี้ไม่ได้รับนิสิตเข้าพักอาศัยมีหลายประการ เช่น แม่บ้านไม่มีเวลาว่างพอที่จะรับรองนิสิตที่มาเยือนเพราะต้องไปขายของที่ตลาด บางบ้านก็มีเด็กเล็ก ๆ ต้องคอยดูแล และเกรงว่าจะเป็นการรบกวนนิสิต รวมทั้งชาวบ้านบางส่วนเกรงว่าจะคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะพูดภาคกลางไม่ได้ และยังอายในสภาพที่ตนเองอยู่ เนื่องจากคิดว่ามีความพร้อมไม่เพียงพอ ในเรื่องของเครื่องอุปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น พัดลม ที่นอน หมอน มุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบางบ้านที่มีความพร้อมสามารถรับนิสิตเข้ามาอยู่ได้แต่ไม่ได้รับนิสิตเพราะนิสิตมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนบ้านที่พร้อมจะรับ คิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากรับนิสิตมาอยู่ที่บ้านของตนบ้าง

จากการที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านทำให้รู้ว่ามีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในหลายด้าน เช่น วัตถุประสงค์ของการออกฝึกภาคสนามของคณาจารย์และนิสิต โดยชาวบ้านมักเข้าใจว่าคณาจารย์และนิสิตจะมาพัฒนาในด้านใดด้านหนึ่งให้เกิดประโยชน์แก่หมู้บ้านของพวกเขา เช่น คิดว่านิสิตจะมาช่วยสอนหนังสือให้แก่เด็ก ๆ หรือจะมาสร้างถนน และขอโทรศัพท์ให้ เป็นต้น แต่ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ ไปเพื่อศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเท่านั้น

ชาวบ้านมีความเข้าใจว่านิสิตและคณาจารย์ที่มาจากในเมือง อาจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ จึงมีความเป็นกังวลในเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนภาษาที่สื่อสารกัน ซึ่งสาเหตุที่ชาวบ้านมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวของนิสิต อาจเป็นเพราะชาวบ้านได้รับรู้สภาพความเป็นอยู่ในเมืองผ่านทางสื่อต่าง ๆ ที่แสดงให้เป็นถึง สภาพความเป็นอยู่ของคนในเมืองที่แตกต่างจากสภาพความเป็นอยู่ของคนในชนบทอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ชาวบ้านมีความเกรงใจและอาจเกิดการปิดกั้นความคิดที่แท้จริงของตนเอง ในบางเรื่อง แต่โดยรวมแล้วนิสิตและชาวบ้านก็สามารถปรับตัวเข้าหากันได้เป็นอย่างดี ทั้งทางด้านการสื่อสารนิสิตก็สามารถพูดคุยกับชาวบ้านรู้เรื่อง ทั้งยังรับประทานอาหารพื้นเมืองที่ชาวบ้านเตรียมไว้ให้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ชาวบ้านได้เตรียมเครื่องอุปโภคไว้พร้อม เช่น เครื่องนอน ยาสระผม สบู่ เป็นต้น

นอกจากสิ่งที่ชาวบ้านและนิสิตมีความเข้าใจไม่ตรงกันแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นผลกระทบต่อชาวบ้านในแง่ลบจากการออกฝึกภาคสนามด้วย ในประเด็นต่างๆต่อไปนี้

1. การใช้เวลาของชาวบ้าน - ในบ้านที่มีนิสิตมาพักด้วย ต้องปรับเปลี่ยนเวลาในการรับประทานอาหารจากปกติในช่วงเวลา 9.00-10.00 น. มาเป็นเวลา 8.00 น. นอกจากนี้ ชาวบ้านยังต้องนอนดึกมากขึ้น เพราะเป็นห่วงนิสิต ต้องรอนิสิตกลับบ้านก่อนจึงจะเข้านอน ซึ่งนิสิตก็ต้องทำงานกันจนดึก บางกลุ่มก็ทำงานกันจนเช้ามืด จึงกลับบ้าน แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ยินดีที่จะทำให้นิสิตได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด พร้อมทั้งให้การดูแลเอาใจใส่นิสิตเป็นอย่างดี ราวกับว่าเป็นลูกหลานของเขา

2. น้ำประปา - เมื่อนิสิตเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้ต้องใช้น้ำในปริมาณที่มากขึ้น จึงส่งผลให้บ้านบริเวณโรงเรียน ซึ่งน้ำไม่ค่อยไหลอยู่แล้ว ต้องนำรถเข็นไปขนน้ำจากโรงเรียนมาใช้ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่สร้างความยากลำบากให้แก่ชาวบ้าน

แม้ว่าการออกภาคสนามจะก่อให้เกิดปัญหากับชาวบ้านบ้าง แต่พวกเขาก็ไม่เคยตำหนิติเตียน หรือเรียกร้องสิ่งใด แต่กลับสร้างความดีใจ ภูมิใจให้กับพวกเขา และพร้อมที่จะหยิบยื่นไมตรีและยินดีต้อนรับพวกเราตลอดเวลาที่ต้องการจะมาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะบ้านที่ไม่ได้รับนิสิตคิดว่าถ้ามีโอกาสครั้งต่อไป อยากให้นิสิตมาอยู่บ้านของตนบ้าง

7.4 สรุป

จากการศึกษาพบว่ามีความสอดคล้องสัมพันธ์กันในเรื่องของความคาดหวังและสภาพความเป็นจริง ในการออกศึกษาภาคสนาม ณ หมู่บ้านโนนสำราญ ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1. จากการที่สอบถามนิสิต อาจารย์ รวมทั้งชาวบ้าน ทำให้ทราบว่านิสิตโดยส่วนใหญ่แล้ว สามารถเรียนรู้และรู้จักปรับตนเอง ให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของชนบทได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสาร การวางตัว อาหาร และที่อยู่อาศัย

2. นิสิตรู้จักนำวิชาความรู้ และหลักการทำงานเป็นกลุ่มมาใช้ในการศึกษาชุมชนชนบท โดยที่นิสิตมีการแบ่งหน้าที่และวางแผนในการทำงาน มีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งรู้จักประเด็นศึกษาได้อย่างเหมาะสม แต่สำหรับการนำความรู้ในสาขาวิชาของแต่ละคนมาใช้ประโยชน์ยังมีไม่มากนัก โดยอาจารย์ให้ความเห็นไว้ว่าเป็นเพราะนิสิตส่วนใหญ่ยังเรียนอยู่ในชั้นปี 1 และ 2 จึงไม่มีทักษะและมีความรู้ที่เพียงพอต่อการวิจัย

3. นิสิตมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน และร่วมมือกันทำงานจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

4. ภาพรวมของการออกฝึกภาคสนาม ณ บ้านโนนสำราญ ในครั้งนี้ดำเนินงานได้อย่างบรรลุวัตถุประสงค์ตรงตามเป้าหมายของรายวิชาสหสาขาศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท