บทที่ 1

บทนำ

ประวัติ

จุดมุ่งหมาย

สมมุติฐาน

สถานที่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภูมิหลัง

การเลี้ยงหอยนางรมในประเทศไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2485 จนปัจจุบัน พบว่า หอยนางรมที่เลี้ยงกันอยู่มี 3 ชนิด คือ หอยตะโกรมกรามขาว Crassostrea belcheri (Sowerby, 1871) หอยตะโกรมกรามดำ Crassostrea lugubris (Sowerby, 1871) และหอยนางรมปากจีบ(Saccostrea cuccullata) หอยตะโกรมกรามขาวเลี้ยงกันมากทางภาคใต้ชายฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชายทะเลฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดตรังและจังหวัดสตูล เป็นต้น จังหวัดที่เลี้ยงหอยตะโกรมกรามขาวกันมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนภาคตะวันออกของอ่าวไทยเลี้ยงหอยตะโกรมกรามขาวกันอยู่บ้างที่จังหวัดระยอง นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำเอาลูกหอยจากภาคใต้มาเลี้ยงกันบ้างเล็กน้อยในเขตจังหวัดชลบุรี เช่น ตำบลอ่างศิลาและตำบลแหลมแท่น แต่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เลี้ยงหอยนางรมพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ หอยนางรมปากจีบ(มัณฑนา ภิรมย์นิ่ม. 2523, ไพโรจน์ พรหมานนท์. 2526 , เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ และคณะ.2528, บรรจง เทียนส่งรัศมี. 2540 )

 

หอยตะโกรมกรามขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crassostrea belcheri เป็นหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่เป็นที่รู้จักกันกันดีแพร่หลายทั่วไป เนื้อมีรสชาดดี มีคุณค่าทางโภชนาการและยังสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด( กรมประมง. 2536 ) จึงจัดว่าเป็นหอยทะเลที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากชนิดหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชุมชนใกล้เคียงหรืออยู่ติดกับชายฝั่งทะเล ทั้งนี้เพราะสามารถนำหอยตะโกรมกรามขาวมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งใช้เป็นอาหารโดยตรง ใช้ในอุตสาหะกรรมการผลิตอาหารและอุตสาหะกรรมการก่อสร้างได้อีกด้วย

( ณิฏฐารัตน์ ปภาวสิทธิ์ และคณะ. 2536 )

หอยตะโกรมกรามขาวอาศัยอยู่ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำตลอดไปจนถึงบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงความเค็มในช่วงกว้าง มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น ความขุ่นใสของน้ำอันเนื่องจากสารแขวนลอยประเภทสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์อยู่ตลอดเวลา

( Piyakarnchana et al. 1990, Burrell. 1985 ) หอยตะโกรมกรามขาวจึงมีความสามารถปรับตัวเข้า

กับสภาพแวดล้อมและมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ

(ศุภพงศ์ ภูวพัฒนะพันธ์. 2532 )ทำให้หอยตะโกรมกรามขาวเป็นหอยนางรมที่มีศักยภาพสำหรับการนำมาเพาะเลี้ยงในลักษณะครบวงจร

อุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยนางรมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนับว่ามีการขยายตัวค่อนข้างช้าเนื่องจากไม่มีสิ่งกระตุ้นในการลงทุนเท่าที่ควร โดยในปี พ.ศ. 2518 มีพื้นที่การเลี้ยงหอยนางรมโดยรวม 2,042 ไร่ ผลผลิต 5,457 ตันต่อปี ส่วนในปี พ.ศ. 2528 มีพื้นที่การเลี้ยงโดยรวมเพิ่มมากขึ้นเป็น

6,053 ไร่ ในขณะที่ได้ผลผลิตเพียง 5,241 ตันต่อปีเท่านั้น (กรมประมง. 2536) จนกระทั่งในช่วงระยะหลังจากปี พ.ศ. 2531 การเลี้ยงหอยนางรมเริ่มได้รับการสนใจจากชาวประมงที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ตามเขตจังหวัดชายทะเลเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่การเลี้ยงหอยนางรมขยายเพิ่มมากขึ้นประมาณในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ผลผลิตที่ได้จากฟาร์มเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 73 ต่อปี และปัจจุบันมีผู้เลี้ยงหอยนางรมอยู่ประมาณ 4,745 ราย เนื้อที่การเลี้ยง 8,184 ไร่ ผลิตหอยนางรมได้ประมาณปีละ 19,274 ตัน ( บรรจง เทียนส่งรัศมี. 2540 )

จากการสำรวจของผู้เขียนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2542 พบว่า หอยตะโกรมกรามขาวเป็นทั้งเปลือกซื้อจากฟาร์มในท้องที่การเลี้ยงทางภาคใต้ราคา 12-16 บาท เมื่อเทียบกับผลผลิตประมาณ 5,000 - 6,000 ตัวต่อไร่ จะได้ค่าตอบแทนประมาณ 60,000.- 96,000. บาทต่อไร่และราคาขายเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 หอยตะโกรมกรามขาวสดซื้อขายกันในเขตจังหวัดชลบุรีจะมีราคาตัวละประมาณ 18-19 บาท (ร้านกังวาลพาณิชย์ ตลาดหนองมน บางแสน ชลบุรี)

ปัจจุบันชาวประมงผู้เลี้ยงหอยนางรมเป็นจำนวนมากต้องประสบกับปัญหาการเลี้ยงเนื่องจากเกิดการขาดแคลนลูกหอยนางรม และเกิดความสูญเสียอันเนื่องมาจากการตายของหอยนางรมทั้งลูกหอยและพ่อแม่พันธุ์ ปัญหาการมีลูกหอยน้อยในธรรมชาติ ปัญหาคุณภาพน้ำหรือปัญหาน้ำเสียและปัญหาที่เกิดจากการสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลง จนทำให้หอยนางรมมีอัตราการตายสูง ทำให้ชาวประมงต้องเลิกทำการเลี้ยงหอยนางรมแล้วเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นแทนเป็นจำนวนมาก (บรรจง เทียนส่งรัศมี. 2540 , ทรงชัย สหวัชรินทร์ และคณะ. 2532)

จากปัญหาการขาดแคลนลูกหอยและสาเหตุทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อการเลี้ยงหอยนางรมอย่างรุนแรง เป็นแรงจูงใจให้ผู้วิจัยมีความคิดว่าสมควรที่จะต้องทำการศึกษาค้นคว้าหาเทคนิคและวิธีการที่จะสามารถผลิตหรือเพาะเลี้ยงลูกหอยนางรมขึ้นทดแทนลูกหอยในธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยตะโกรมกรามขาวซึ่งปัจจุบันเกิดปัญหาขาดแคลนทั้งพ่อแม่พันธุ์และลูกหอยในขั้นวิกฤต

 

 

 

 

 

ความมุ่งหมายของการศึกษาวิจัย

 

ศึกษาสรีระวิทยาพื้นฐานของหอยตะโกรมกรามขาว เพื่อหาสภาพที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยง รวมทั้งศึกษาพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงหอยพ่อแม่พันธุ์ เพื่อสามารถเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หอยตะโกรมกรามขาวให้เซลล์สืบพันธุ์เจริญและพัฒนายิ่งขึ้น สามารถใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการเพาะพันธุ์ลูกหอยได้ต่อไป

ความสำคัญของการศึกษาวิจัย

ได้ทราบสภาพที่เหมาะสมในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หอยตะโกรมกรามขาว เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเพาะพันธุ์หอยตะโกรมกรามขาวภายในโรงเพาะเลี้ยง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมมุติฐานของการศึกษาวิจัย

 

สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการขุนพ่อแม่พันธุ์ได้โดยการดัดแปลงสรีรวิทยาของหอยด้านการกินและการย่อยอาหาร

ขอบเขตของการศึกษาวิจัย

 

ศึกษาผลของความเข้มข้นจำนวนเซลล์ของสาหร่ายเซลล์เดียวที่เหมาะสมต่อการกรองกินและการเกิดอุจจาระเทียม ผลของความเค็มที่มีต่ออัตราการกรอง การหายใจ และการขับถ่ายแอมโมเนีย ทั้งนี้เพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดในการขุนหอยตะโกรมกรามขาว ศึกษาผลของดินสอพองที่มีต่อประสิทธิภาพการดูดซึมอาหารและผลต่อเวลาในการเคลื่อนที่ของอาหารในระบบทางเดินอาหาร ศึกษาการเจริญและการพัฒนาของเซลล์สืบพันธุ์ในพ่อแม่พันธุ์หอยตะโกรมกรามขาว เมื่อเลี้ยงหอยตะโกรมกรามขาวด้วยดินสอพองร่วมกับ Chaetoceros sp.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สถานที่และระยะเวลาการศึกษาวิจัย

ทำการทดลองที่โรงเพาะเลี้ยงของภาควิชาวาริชศาสตร์ เริ่มทดลองเดือนมกราคม 2539 ถึงเดือนตุลาคม 2540