Transportation Engineering
 
 

>>Misc.>>Mobilty Management

Mobility Management:
ทางเลือกสำหรับการบรรเทาปัญหาการจราจร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกษม ชูจารุกุล

Bangkok Traffic Congestion

ในปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ในระดับภูมิภาคของประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล การพัฒนาและปรับปรุงเพียงอุปทานของการขนส่งเพียงด้านเดียว ไม่อาจตอบสนองตามการเติบโตของอุปสงค์ได้ทัน จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องหันมาพิจารณาถึง รูปแบบของการจัดการอุปสงค์ในการเดินทาง ที่จะช่วยให้ลดปัญหาจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรการที่ใช้จัดการอุปสงค์ในการเดินทางและช่วยแก้ไขปัญหาด้านการจราจร อาจจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการแบบ “Push” หรือมาตรการเชิงบังคับ และ มาตรการแบบ “Pull” หรือมาตรการเชิงจูงใจ มาตรการกลุ่มแรกเป็นแนวทางในการลดผลประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เช่น การเก็บค่าผ่านทาง ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่านทางบนทางพิเศษ หรือค่าผ่านทางสำหรับการเดินทางเข้าเขตเมือง ในทางตรงกันข้าม มาตรการแบบ Pull จะเป็นมาตรการหรือนโยบาย ที่ช่วยดึงดูดให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนมาใช้รูปแบบการเดินทาง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การปรับปรุงและเพิ่มคุณภาพในการให้บริการ ของรถโดยสารประจำทาง หรือการใช้มาตรการช่วยเหลือด้านราคาค่าโดยสารรถสาธารณะ เป็นต้น

Mobility Management หรือ MM ที่จะกล่าวถึงในที่นี้เป็นหนึ่งในมาตรการแบบ Pull ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ในต่างประเทศ ที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพในการจัดการการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล โดยมีแนวคิดหลักได้แก่ การให้ความรู้หรือการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางผ่านทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ  ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือหรือมาตรการที่จะช่วยสนับสนุนหรือส่งเสริม ให้ผู้ขับขี่เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมในการเดินทางได้เอง (Voluntary Behavior Change) ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่รูปแบบการเดินทางที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทาง เป็นต้น

ตัวอย่างหนึ่งของแนวคิด MM ได้แก่การให้ข้อมูลพื้นฐานและคำแนะนำแก่ผู้เดินทาง โดยมีสมมติฐานว่า หากผู้เดินทางไม่ทราบถึงรูปแบบการเดินทางที่เป็นไปได้ ที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่อาจก่อให้เกิดการใช้รูปแบบการเดินทางนั้นขึ้นมาได้จริง ในกรณีนี้ การดึงดูดให้ผู้เดินทางหันมาใช้รูปแบบการขนส่งสาธารณะมากขึ้น อาจดำเนินการได้โดยการจัดหาข้อมูลเส้นทาง ราคาค่าโดยสารและลักษณะของการให้บริการ รวมไปถึงทางเลือกในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ สำหรับผู้เดินทางที่ยังไม่เคยใช้มาบริการมาก่อน โดยอาจประยุกต์ใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดที่เหมาะสมควบคู่กัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการเชิงบังคับ หรือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ผลประโยชน์ของมาตรการ MM อีกด้านหนึ่ง คือทางด้านจิตวิทยา ได้แก่ การปรับกระบวนแนวคิดและทัศนคติของผู้เดินทาง การใช้มาตรการ MM ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้เดินทางเกิดทัศนคติ (Attitude) และการรับรู้ (Perception) ที่ดีขึ้นต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งตามทฤษฎีจิตวิทยา หากสามารถปรับปัจจัยด้านจิตวิทยาของผู้เดินทางได้ ก็จะส่งผลช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเดินทางได้เช่นเดียวกัน

หลายท่านอาจเกิดคำถามขึ้นว่าการใช้เพียงมาตรการ MM ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเกิดประสิทธิภาพได้จริงหรือไม่ จากประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศ พบว่า มีโครงการที่ได้ดำเนินการมาตรการ MM และประสบความสำเร็จเป็นจำนวนไม่น้อย อาทิเช่น โครงการ Travel Smart และ Travel Blending ในประเทศออสเตรเลีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงกล่าวดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการการเดินทาง ซึ่งส่งผลให้ปัญหาด้านการจราจรคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง เกิดการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากยานยนต์ และนำไปสู่การพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืน

สำหรับกรุงเทพมหานคร จากงานวิจัยในอดีตพบว่า มีผู้เดินทางจำนวนไม่น้อยที่มีพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นประจำ จนติดเป็นนิสัย (Habit) หรือแม้กระทั่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง ก็ประกอบด้วยนิสิตและบุคลากรในประชาคมเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ถึงแม้จะสามารถเดินทางมายังมหาวิทยาลัยได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ แต่ก็ยังใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นประจำ ในการศึกษามาตรการ MM เบื้องต้น ผู้เขียนได้ดำเนินการวิจัยโดยทดลองใช้มาตรการจูงใจด้านราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอส สำหรับกลุ่มตัวอย่างในประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สามารถเดินทางจากที่พักอาศัยมายังมหาวิทยาลัยได้ แต่ปัจจุบันยังคงใช้รถยนต์ส่วนตัวตลอดเวลา ผลการศึกษาพบว่า การให้สิ่งจูงใจด้านราคา ได้แก่การลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าครึ่งราคา และให้ทดลองเดินทางด้วยรถไฟฟ้าฟรี เป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่งผลให้ผู้ที่ไม่เคยใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางมาก่อนหันมาใช้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เมื่อยุติมาตรการดังกล่าวแล้ว กลุ่มตัวอย่างมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะในทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ พบว่ากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวได้เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง โดยหันมาใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการลดราคาค่าโดยสารแล้วก็ตาม

โดยสรุปแล้ว ภายใต้สภาวะวิกฤตพลังงานเช่นปัจจุบัน สมควรอย่างยิ่งที่ภาครัฐควรเร่งศึกษานโยบายดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวบุคคล ผ่านทางข้อมูลข่าวสารและการให้ความรู้เกี่ยวกับการเดินทาง แม้ว่าการดำเนินการในระยะแรก จะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางได้ทั้งหมด หากเกิดการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือมีการเปลี่ยนการเดินทางไปสู่รูปแบบการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง ก็คงทำให้ปัญหาการจราจรสามารถบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง

 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • พุทธิพันธุ์ เศรณีปราการ, เกริกฤทธิ์ ศรีรุ่งวิกรัย และ เกษม ชูจารุกุล. “การจูงใจด้านราคาค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะ มีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางหรือไม่: ผลเบื้องต้นจากการศึกษาแบบต่อเนื่อง ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”เอกสารรวมบทความวิชาการ การประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 13, พฤษภาคม 2551, หน้า TRP155-TRP161.
 
 
       
  © Copyright 2008, K. Choocharukul, Last Updated: June 25, 2008 .