ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์

ความเป็นมา

      ในปี พ.ศ. 2435 (ร.ศ.111) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินทั้งในส่วนของราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีการจัดตั้งกระทรวงต่างๆ เพิ่มเติมรวมเป็น 12 กระทรวง และนำรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมาใช้แทนรูปแบบการปกครองหัวเมืองอย่างโบราณ อันเป็นการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองใหม่ ทำให้ระบบการบริหารงานมีความทันสมัยและเป็นเอกภาพ ผลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทำให้เกิดความต้องการจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการในกระทรวงต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ประเพณีนิยมโบราณที่ให้บุคคลผู้ประสงค์จะเป็นขุนนางถวายตัวเป็นมหาดเล็กเสียก่อนยังคงเป็นกระบวนการที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้จักไว้วาง พระราชหฤทัย ส่วนตัวผู้เป็นข้าราชการก็จะทราบพระราชอัธยาศัยและ ทำให้เกิดความจงรักภักดี อีกทั้งได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดินและได้ คุ้นเคยกับเพื่อนมหาดเล็กที่จะไปรับราชการด้วยกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงกราบบังคมทูลความคิดให้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อสอนความรู้เบื้องต้นสำหรับรับราชการพลเรือนในกระทรวงต่างๆ และให้นักเรียนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีโอกาสเข้าเฝ้าให้พระเจ้าแผ่นดินรู้จักและศึกษาขนบธรรมเนียมในราชสำนักไปควบคู่กัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้ง “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ขึ้นในปี พ.ศ. 2442 (ร.ศ. 118) โดยมีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เป็นอธิบดีโรงเรียน

     ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มีหนังสือกราบ บังคมทูล ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120 ) ขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 (ร.ศ. 121)

     ในปี พ.ศ.2453 (ร.ศ.129) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า การที่จะฝึกนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็ก ให้รับราชการในกระทรางมหาดไทยแต่เพียงกระทรวงเดียวเป็นการได้ประโยชน์แต่เพียงในการปกครองหัวเมืองเท่านั้น ควรจะขยายประโยชน์ของโรงเรียนให้แพร่หลายไปถึงราชการพลเรือนฝ่ายอื่นๆ ด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในวันที่ 1 มกราคม 2453 โดยในระยะแรกได้พระราชทานเงินที่คงเหลือ จากการที่ราษฎรเรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมรูปปิยะมหาราชานุสาวรีย์ จำนวน 982,672.47 บาท เป็นทุนในการก่อสร้างโรงเรียน โดยสถานที่สร้างโรงเรียนนั้นได้พระราชทานที่วังกลางทุ่ง ตำบลปทุมวัน ของพระคลังข้างที่ซึ่งมีพื้นที่รวม 1,309 ไร่ โดยด้านตะวันออกจดถนนสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์ ในปัจจุบัน) ด้านตะวันตกจดคลองสวนหลวง ด้านเหนือจดถนนบำรุงเมืองและด้านใต้จดถนนหัวลำโพงนอก (ถนนพระราม 4)

     ทั้งนี้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รวมเอาโรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียน ฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และโรงเรียนกฏหมายเข้ามารวมด้วยส่วนวิชาที่สอนในโรงเรียนมหาดเล็กเดิมนั้นได้จัดสอนในโรงเรียนรัฏฐประศาสนศึกษา อันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ดังกล่าว

     ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศจะต้องมีมหาวิทยาลัยขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 เป็นต้นไป

  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อแรกตั้งนั้นขึ้นอยู่กับกรมมหาวิทยาลัย ในกระทรวงธรรมการ ซึ่งมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่น ไชยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีกรมพระองค์แรก มีพระยาอนุกิจวิธร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยเป็นคนแรก การเรียนการสอนในขณะนั้นแบ่งเป็น 4 คณะ คือ

1. คณะแพทยศาสตร์ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนแพทยาลัย (หรือศิริราชพยาบาล) มีพระยาเวชสิทธิ์ ศรีภิลาส (จรัส วิภาตแพทย์) เป็นคณบดี

2. คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ตึกบัญชาการหรือตึกสร้างใหม่ ถนนสนามม้า มีพระยาวิทยาปรีชามาตย์ (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นคณบดี

3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ ใช้ตึกเดียวกับคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มีพระยานิพัทธกุลพงศ์ (ชิน บุนนาค) เป็นคณบดี

4. คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่ที่วังกลางทุ่ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตกรีฑาสถานแห่งชาติ) มี ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี เป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ทำหน้าที่ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการในกระทรวง กรมต่าง ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2472 คณะ รัฐประศาสนศาสตร์ จึงประสบกับความตกต่ำหรือเสื่อมความนิยมลง เนื่องมาจาก ในปี พ.ศ. 2472 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์เข้ารับราชการในระดับตำแหน่งชั้นราชบุรุษซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 5 ก็สามารถสมัครสอบแข่งขันเข้ารับราชการในตำแหน่งดังกล่าวได้ การที่คณะรัฐประศาสน-ศาสตร์ รับผู้ที่จบชั้นมัธยมปีที่ 6 เข้าศึกษาและต้องศึกษาต่ออีกถึง 3 ปี จึงจะสามารถได้รับประกาศนียบัตร เพื่อไปสอบแข่งขันเข้ารับราชการในตำแหน่งชั้นราชบุรุษนั้น จึงทำให้คณะรัฐประศาสนศาสตร์เสื่อมความนิยมลง จนในที่สุดปี พ.ศ. 2472 มีนักเรียนที่กำลังศึกษาในคณะเหลืออยู่เพียง 35 คน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชานุญาตให้เลิกคณะนี้เสียเมื่อนักเรียนที่เหลืออยู่สำเร็จหมดแล้ว ตามความเห็นที่กระทรวงธรรมการเสนอ

หลังจากที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกยุบเลิกไปได้ก่อให้เกิดปัญหาข้าราชการฝ่ายปกครอง และ สมุหเทศาภิบาลมาร้องทุกข์เป็นอันมาก อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยเอง ก็เห็นถึงการสูญเสียประโยชน์หากขาดนักปกครองจากคณะ รัฐประศาสนศาสตร์ จึงได้มีการประชุมหารือกันระหว่างผู้แทนกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการดำริรูปการมหาวิทยาลัย และผู้แทน ก.ร.พ. (กรรมการพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน) ขึ้น และมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการสอนวิชานี้ต่อไป แต่จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ อีกทั้งปรับปรุงวิธีการรับนิสิตใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังเสนอให้เปลี่ยนชื่อคณะรัฐประศาสนศาสตร์เป็นแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาต ตามข้อเสนอของที่ประชุมและกระทรวงมหาดไทย โดยได้ออกประกาศแจ้งความในวันที่ 25 มกราคม 2474 คณะรัฐประศาสนศาสตร์จึงแปรสภาพเป็นเพียงแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 เป็นต้นมา

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้โอนโรงเรียนกฏหมายมารวมกับแผนกวิชา ข้าราชการพลเรือนแล้วตั้งเป็นคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 2476 และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 อันเป็นพระราชบัญญัติก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ซึ่งมาตราที่ 5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้บัญญัติให้โอนคณะนิติศาสตร์และ รัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปขึ้นต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองก่อนวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2477 โดยนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่สามารถเทียบโอนวิชา เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้ ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการไปศึกษาที่ธรรมศาสตร์ก็สามารรับราชการได้ โดยกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการบรรจุให้เข้ารับราชการ ต่อไป

     ในปี พ.ศ. 2491 ได้มีการเสนอกฏหมายเพื่อขอจัดตั้งคณะ รัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นหนักการสอนในเรื่อง Administration มุ่งผลิตนักบริหารปกครอง ซึ่งแตกต่างจากคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เน้นหนักการสอนเรื่อง Political Science และมุ่งผลิตนักการเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านกฏหมายดังกล่าวและทำให้มีการจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้นมา

     ในช่วงที่เริ่มตั้งคณะรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่งนั้น รัฐประศาสนศาสตร์ เป็นเพียงสาขาวิชาที่สอนอยู่ในแผนกการ ปกครองเท่านั้น กล่าวคือ ในปี 2491 คณะรัฐศาสตร์มีการสอนเพียง 2 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาการปกครองและแผนกวิชานิติศาสตร์ โดยแผนกวิชาการปกครองจะประกอบด้วย 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการปกครอง(การบริหารทั่วไป ) สาขาการบริหารงานคลังและสาขาต่างประเทศ

     รัฐประศาสนศาสตร์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของแผนกวิชาการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เรื่อยมา แม้ว่าในปี 2498 จะมีการขยายแผนกวิชาในคณะรัฐศาสตร์จากเดิม 2 แผนกวิชาเป็น 4 แผนกวิชา โดยเพิ่มแผนกวิชาสังคมวิทยาและยกฐานะของสาขาต่างประเทศ (ในแผนกวิชาการปกครอง) เป็นแผนกวิชาการต่างประเทศและการทูต แต่การศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในแผนกวิชาการปกครองต่อไป จนกระทั่ง ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล ได้เสนอให้มีการจัดตั้งแผนกวิชา รัฐประศาสนศาสตร์ต่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2508 และได้มีประกาศของมหาวิทยาลัยตั้งแผนกวิชา รัฐประศาสนศาสตร์ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2509 พร้อมกันนี้ก็ได้ยกฐานะของสาขาวิชาบริหารงานคลังเป็นแผนกวิชาการคลัง ด้วยเช่นกัน

     ต่อมาในปี 2514 แผนกวิชาการคลังได้แยกไปรวมกับแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีเพื่อตั้งเป็นคณะ เศรษฐศาสตร์ในวันที่ 8 สิงหาคม 2513 หลังจากนั้นแผนกวิชา รัฐประศาสนศาสตร์ได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยมีการสอนในแผนกวิชาถึง 3 ด้านด้วยกันคือ การบริหารทั่วไป การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานคลัง แผนกวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากแผนกวิชาเป็นภาควิชา รัฐประศาสนศาสตร์

     ในปี พ.ศ. 2526 ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ได้เปิดหลักสูตร รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และต่อมาในปี 2530 ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงความ จำเป็นที่จะเป็นแกนนำของสถาบันอุดมศึกษาในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม โดยกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักบริหารที่เป็นข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนทั่วไปได้มีโอกาสมาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐ โดยไม่ต้องทำเรื่องขออนุมัติลาศึกษาต่อจากต้นสังกัดและสามารถนำเอาความรู้ที่ได้ศึกษาไปใช้ประโยชน์ในการทำงาน ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์สำหรับนักบริหาร (Master of Public Administration for Executives) ซึ่งดำเนินการเรียนการสอนนอกเวลาราชการ นับเป็นหลักสูตร “ภาคค่ำ” ทางด้านบริหารงานของรัฐ หลักสูตรแรกที่เปิดสอนในประเทศไทย

Top