ฟิลเตอร์ (Filter) หรือแว่นกรองแสง
ฟิลเตอร์ คือ อุปกรณ์ ซึ่งใช้สวมครอบหน้าเลนส์ เพื่อเพิ่มผลพิเศษทางการถ่ายภาพและทำให้ควบคุมผลทางการถ่ายภาพได้มากขึ้น
ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไปของฟิลเตอร์ เป็นแว่นกลม ๆ พื้นเรียบนูน มีกรอบเป็นเกลียวสำหรับสวมครอบ มีขนาดใหญ่เล็กหลายขนาด หรืออาจเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ทำด้วยแก้วชนิดละเอียด แต่บางชนิดก็ทำด้วย เยลาติน (Gelatin) และเซลลูโลส (Cellulose) แผ่นบาง ๆ แล้วย้อมให้เป็นสีต่าง ๆ

คุณภาพของฟิลเตอร์ประเภทต่าง ๆ
1. ฟิลเตอร์ชนิดมีคุณภาพด เป็นฟิลเตอร์ที่จะผสมสีลงไปในเนื้อแก้ว ทำให้เนื้อแก้วเป็นกระจกสี เนื้อละเอียด ขัดหน้ากระจกเลนส์ให้เรียบ เคลือบด้วยน้ำยากันแสงสะท้อนบนเลนส์
2. ฟิลเตอร์ชนิดมีคุณภาพพอใช้ เป็นฟิลเตอร์ที่ทำด้วยกระจกขาวใสธรรมดา เนื้อแก้วไม่มีสีผสมภายใน สีที่เห็นเป็นสีที่ย้อมหรือทาเคลือบผิวกระจก เมื่อใช้ไปนาน ๆ สีจะซีดจางได้ เมื่อเป็นริ้วรอยก็เห็นได้ชัดเจน คุณภาพก็จะลดลง จึงไม่เหมาะสำหรับงานในระดับมืออาชีพ
3. ฟิลเตอร์ชนิดที่ทำด้วยเยลาตินและเซลลูโลส มีคุณภาพดี แต่ต้องระมัดระวังในการใช้งานและบำรุงรักษา เพราะมีความคงทนน้อย ทั้งสองชนิดนี้เป็นแผ่นบาง ๆ เวลาใช้ให้สอดไว้ใน tray ใส่เท่านั้น เมื่อไม่ใช้ต้องเก็บ
ฟิลเตอร์นั้น โดยทั่วไปแล้ว ใช้เพื่อทำให้เกิดผลพิเศษไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ มักจะเปลี่ยนไปเพื่อให้ภาพที่ได้มีคุณค่ามากขึ้น และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

หลักการของฟิลเตอร์
การถ่ายภาพนั้นแท้จริงก็คือการบังคับแสงให้ไปกระทบฟิล์มตามต้องการ "แสงสว่าง" จึงเป็นตัวการสำคัญ ในการสร้างภาพบนฟิล์มขึ้นมา
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแสงสว่างก็คือ แสงสว่างจะมีสีอยู่ 7 สี และการที่เราเห็นวัตถุมีสีต่าง ๆ กันก็เพราะ สีได้ถูกดูดซึม Absorb ส่วนสีที่สะท้อน (Reflect) นั้นจะเป็นสีเดียวกันกับวัตถุ
ในกรณีของฟิล์มถ่ายรูป นั้น ฟิล์มที่เรานิยมใช้กันมากคือ ฟิล์มแพนโครเมติก (Panchromatic Film) ซึ่งมีความไวต่อแสงสีทุกแสงในแสงสีขาว แต่ความไวของฟิล์มต่อแสงสีนั้น ไวต่อแสงสีไม่เท่ากันตัวอย่างธรรมดา ๆ ที่พบกันมากก็คือ ฟิล์มแพนโครเมติกนั้นไม่ไวต่อแสงสีเขียว จึงเรียกฟิล์มนี้ว่า ฟิล์มเขียว
ในทางปฏิบัติ เมื่อเราใช้ฟิล์มนี้ถ่ายรูปผลที่ได้ก็คือทำให้ฟิล์มส่วนที่รับสีเขียว อ่อนลงไปกว่าความเป็นจริง ภาพที่ผลิตได้ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงของวัตถุ จึงต้องใส่ฟิลเตอร์เพื่อเพิ่มแสงสีเขียวลงไป ภาพที่ได้ก็จะดูดีขึ้น

ชนิดของฟิลเตอร
1. ฟิลเตอร์ สำหรับฟิล์มประเภทขาวดำ งานถ่ายภาพขาวดำยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่มากโดยเฉพาะกลุ่มถ่ายรูปนิยมภาพพิคโทเรียล (Pictorial) มักนิยมถ่ายรูปโดยฟิล์มถ่ายภาพขาวดำ ในงานค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และงานเก็บเอกสารอ้างอิงก็นิยมรูปภาพขาวดำ

ฟิลเตอร์ ในการถ่ายภาพขาวดำมีด้วยกัน 2 ประเภทคือ
1.1 ฟิลเตอร์แก้ค่าโทนสีให้ถูกต้อง
1.2 ฟิลเตอร์เพิ่มค่าของโทนสีให้ตัดกัน

1.1 ฟิลเตอร์แก้ค่าโทนสีให้ถูกต้อง
สำหรับฟิล์มขาวดำ แพนโครเมติก (Panchromatic) นั้น มีความไวต่อแสงสีทุกสีในแสงสว่างสีขาว แต่มีความไวต่อแสงสีไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อเวลาถ่ายภาพ แสงสีที่ฟิล์มไม่ไว เช่น สีเขียวก็จะบันทึกลงในฟิล์มน้อย ดังนั้นน้ำหนักของโทนสี-ขาว-ดำ จึงไม่เหมือนกับสีในธรรมชาติจริง จึงนิยมใช้ฟิลเตอร์สีเหลือง Y2 สวมหน้าเลนส์ เพื่อลดแสง UV และแสงสีน้ำเงินไว้ แสงสีเขียวก็จะเข้าไป อัตราส่วนของแสงสีในฟิล์มก็จะดีขึ้น น้ำหนักของโทนสี ขาวเทา - ดำก็จะดีขึ้น ในกรณีกลับกัน หากใช้ไฟจำพวกไฟทังสเตน กับฟิล์มขาวดำถ่ายภาพ แสงไฟทังสเตนจะมีสีแดงปนมาก จึงควรใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองปนสีเขียว เพิ่มสีสองสีนี้ลงในภาพด้วย
1.2 ฟิลเตอร์เพิ่มค่าของโทนสีให้ตัดกัน
การเพิ่มค่าของโทนสีให้ตัดกันก็เพื่อเน้นน้ำหนักของสีในภาพ ภาพขาวดำนั้นมักปรากฏอยู่เสมอ ๆ ว่ามีน้ำหนักของโทนสีเทาใกล้เคียงกันอยู่มาก ภาพจึงไม่เด่นหรือไม่อาจเน้นจุดสำคัญได้ตามที่ต้องการ
การใช้ฟิลเตอร์เพิ่มค่าของโทนสีตัดกัน จึงเป็นการเน้นให้สีส่วนหนึ่งสว่างขึ้นอีกส่วนหนึ่งเข้มมืดลง เช่น การถ่ายภาพดอกไม้สีแดง ใบสีเขียว นิยมใส่ฟิลเตอร์สีแดง เพื่อให้แสงสีแดงเข้าไปมาก ๆ ขณะเดียวกันสีเขียวของใบไม้ จะถูกดูดกลืนเอาไว้ ภาพที่ได้ก็จะปรากฏว่า ดอกไม้บนฟิล์มเนกาตีฟขาวดำนั้น ทึบหนา เวลานำฟิล์มไปอัดขยายเป็นภาพ ก็จะได้ดอกไม้ขาวขึ้นกว่าใบซึ่งมีสีเข้ม