Radiation Oncology Chulolongkorn University

ความไวของมะเร็งปากมดลูกต่อรังสี


[Previous Page][Next Page][Up][Home Page]


ปริมาณรังสีที่ใช้เพื่อควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกชนิด squamous cell carcinoma นั้น แตกต่างกัน
มาก บางครั้งปริมาณรังสีเพียง 4,000-5,000 cGy ก็พบว่าสามารถทำลายมะเร็งปฐมภูมิได้ แต่เป็นเปอร์เซ็นต์
ที่ต่ำ หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยบางรายได้รับปริมาณรังสี 20,000-30,000 cGy ที่ตัวมะเร็งปฐมภูมิ บางครั้งก็ยังพบ
ว่าไม่สามารถควบคุมโรคไว้ได้ มีการศึกษาถึงการให้ปริมาณรังสีที่เหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาที่ใช้ในการ
รักษา11-15 (optimum dose time level) ในปัจจุบันนี้มีหลักฐานยืนยันว่า อัตราการควบคุมโรคจะสูงมากขึ้นตาม
ปริมาณรังสีที่สูงขึ้นจนกระทั่งถึงระดับที่เนื้อเยื่อ ปกติในอุ้งเชิงกรานจะทนทานได้ ถ้าหากว่าให้ปริมาณรังสี
เกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้นี้ จะสามารถควบคุมโรคมะเร็งปฐมภูมิได้ดีขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่จะก่อ
ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ดังนั้นปริมาณรังสีที่แนะนำให้ใช้ต่อมะเร็งปฐมภูมิจึงถูก
จำกัดไว้ในปริมาณที่ลำไส้ใหญ่กระเพาะปัสสาวะและลำไส้เล็กจะรับได้
สำหรับความไวของมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก
นั้น พบว่าการใช้ปริมาณรังสีขนาด 4,500-5,000 cGy ในระยะเวลา 5-6 สัปดาห์ จะสามารถควบคุม
microscopic tumor ได้ แต่ถ้าขนาดของมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นแต่ขนาดไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร การให้
ปริมาณรังสีขนาด 6,000 cGy ในระยะเวลา 6-7 สัปดาห์ ก็จะสามารถควบคุมโรคได้ดี แต่ถ้าต่อมน้ำเหลือง
มีขนาด 2-4 เซ็นติเมตร ก็ต้องใช้ปริมาณรังสีที่สูงขึ้น อาจต้องใช้ปริมาณรังสีสูงถึง 7,500 cGy ในระยะเวลา
8 สัปดาห์ แต่โดยความเป็นจริงการจะประเมินขนาดของต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานทำได้ไม่ง่ายนักจาก
การตรวจร่างกาย ปริมาณรังสีที่แนะนำให้ใช้ต้องพยายามไม่ให้เกินกว่าความทนทานต่อรังสีของอวัยวะปกติ
ในอุ้งเชิงกราน โดยทั่วไปแล้วปริมาณรังสีที่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานได้จากการใส่แร่ในโพรงมดลูก
(intracavitary brachytherapy) 1,500-2,000 cGy ในระยะเวลา 5-6 วัน และ 3,000-5,000 cGy ในระยะเวลา
4-6 สัปดาห์ จากการฉายรังสีจากภายนอก (external pelvic irradiation)
ส่วนใหญ่แล้วรังสีรักษามีประสิทธิภาพที่ดีในการควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกที่แพร่กระจายมาที่
ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน พบว่าการใช้รังสีรักษาอย่างเดียว เทียบกับการใช้รังสีรักษาร่วมกับการผ่าตัดต่อม
น้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (Pelvic lymphadenectomy) ไม่พบว่าจะมีการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในทุกระยะของ
โรค16 แต่จะมีอุบัติการของภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นในกลุ่มที่ใช้รังสีร่วมกับการผ่าตัด ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้
ใช้การผ่าตัดร่วมด้วยในภาวะปกติทั่วไป นอกจากนี้แล้วประสิทธิภาพของรังสีต่อมะเร็งปากมดลูกที่แพร่
กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลือง ยังแสดงได้จากโรคในระยะที่ 1 ซึ่งมีการแพร่กระจายของโรคมาที่ต่อมน้ำเหลือง
ประมาณ 15%17 หลังจากการรักษาด้วยรังสีพบว่ามีการล้มเหลวในอุ้งเชิงกรานเพียง 2-6% เท่านั้น18
สำหรับกรณีที่พบว่ามีการแพร่กระจายของโรคมาที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง (Paraaortic lymph nodes) ก็อาจพิจารณาใช้รังสีขนาด 4,000-6,000 cGy ในระยะเวลา 5-7 สัปดาห์ โดยใช้รังสีที่มีพลังงานสูง
(high energy photon beam 6-25 MV) โดยอาจใช้ลำรังสี 2-4 ทิศทางเพื่อให้ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น
จากการรักษาให้น้อยที่สุด19-21
Adenocarcinoma of the cervix ซึ่งมักจะเกิดที่บริเวณ endocervix ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พบ
อุบัติการประมาณ 10% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด22 นอกจากนี้ก็มี mixed adenosquamous
carcinoma และ carcinoma อื่น ๆ ซึ่งพบน้อยมาก มีบางรายงานพบว่าผู้ป่วยที่เป็น adenocarcinoma of the
cervix มีอัตราการรอดชีวิตหลังการรักษาต่ำกว่าผู้ป่วยที่เป็น squamous cell carcinoma23-25 แต่บางรายงาน
ก็ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันในอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ทั้ง 2 ชนิด26-30 นอกจากนี้การใช้การผ่าตัด
ร่วมด้วย ก็ไม่มีผลในการเพิ่มอัตราการมีชีวิตรอดแต่อย่างไร26,30
ในบางครั้ง adenocarcinoma ของมะเร็งปากมดลูก จะมีก้อนขนาดใหญ่ ดังที่เรียกกันว่า Barrel-
shaped cervix (รูปที่ 1) และส่วนมากจะพบว่ามีการลุกลามของโรคเข้าสู่ชั้น endometrium ในภาวะการ
ลุกลามเช่นนี้ การใช้วิธีการฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัด อาจจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ว่า
เป็น adenocarcinoma หรือ squamous cell carcinoma ของมะเร็งปากมดลูกสามารถตอบสนองต่อรังสีรักษา
ใกล้เคียงกัน การให้การรักษาจึงไม่แตกต่างกันในแต่ละระยะของโรค


[Previous]

Radiation Tolerance of Pelvic organ

[Next]

รังสีรักษา (Radiation Therapy)

[Up]

รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

[Home]

Home Page

Last modified on 25 October 1996