Radiation Oncology Chulolongkorn University

Preoperative radiation and chemotherapy


[Previous Page] [Next Page] [Up] [Home Page]


เนื่องจากผลการศึกษาของการใช้ adjuvant postoperative radiation ร่วมกับ chemotherapy ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วน rectum ที่เป็น randomized trial25,26 แสดงให้เห็นว่าสามารถลดอัตราการกำเริบของโรคเฉพาะที่ลง และยังเพิ่มอัตราการปลอดโรคและอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ ทำให้มีการศึกษาการใช้ preoperative radiation ร่วมกับ chemotherapy ทั้งนี้โดยอาศัยข้อดีของการให้ preoperative radiation ที่เหนือกว่า postoperative radiation ดังที่เคยกล่าวมาแล้วข้างต้น คือการใช้ preoperative radiation จะช่วยลดการลุกลามของโรคในขณะทำการผ่าตัดลงได้ และเซลล์มะเร็งจะมีความไวต่อรังสีที่ดีกว่า เนื่องจากมีเลือดและอ๊อกซิเจนมาเลี้ยงมากกว่า เพิ่มโอกาสในการทำผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือเปลี่ยนสภาพ
จากที่ผ่าตัดไม่ได้ ทำให้สามารถผ่าตัดออกได้ นอกจากนี้อาจจะทำการผ่าตัดแบบ sphincter sparing ให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรายนั้น ๆ มีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น และพบว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนต่อลำไส้เล็กลดลง เนื่องจากไม่มีลำไส้เล็กมาติดอยู่ในอุ้งเชิงกรานขณะฉายรังสี และประการสำคัญคือ พบว่ายาเคมีบำบัดโดยเฉพาะ 5FU สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีในการทำลายเซลล์มะเร็ง27,28 จึงทำให้มีการนำวิธีการนี้มาใช้ แต่เนื่องจากการศึกษานี้เพิ่มเริ่มในระยะไม่กี่ปีหลังนี้เอง จึงทำให้มีประสบการณ์จำกัด เช่น การศึกษาของ Wong et al,29 Haghbin et al,30 Frykholm et al31 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ bolus 5FU based chemotherapy ร่วมกับการฉายรังสี 40-45 Gy ก่อนการทำผ่าตัด นอกจากนี้ก็มีการศึกษาของ EORTC32 ซึ่งเป็น randomized study ในผู้ป่วย 247 ราย ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วน rectum ที่สามารถทำผ่าตัดออกได้ โดยการใช้การฉายรังสีก่อนการทำผ่าตัดร่วมกับยาเคมีบำบัด 5FU (375 mg/m2 bolus day 1-4) เปรียบเทียบกับการฉายรังสีอย่างเดียวก่อนการทำผ่าตัด แต่ปริมาณรังสีที่ใช้ในการศึกษานี้ใช้เพียง 3,450 cGy และ 230 cGy/fraction และเว้นช่วงระยะเวลาทำผ่าตัดเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการรักษาตามแบบปกติธรรมดา (unconventional) ที่โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ปริมาณรังสีตั้งแต่ 4,500 cGy ขึ้นไป (180-200 cGy/fraction) ในระยะเวลา 5-6 สัปดาห์ และมีช่วงห่างระหว่างการฉายรังสีกับการทำผ่าตัด 4-6 สัปดาห์ ซึ่งผลการศึกษานี้ ไม่พบมีความแตกต่างในการควบคุมโรคเฉพาะที่ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการรักษาทั้งการฉายรังสีและเคมีบำบัดร่วมกันก่อนทำการผ่าตัดพบว่ามีการแพร่กระจายของโรคไปที่ตับ
ลดลง (8% VS 18%) แต่ไม่พบว่ามีประโยชน์ต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย
จากความเชื่อที่ว่าการใช้ continuous infusion ของ 5FU อาจจะได้ประโยชน์มากกว่าการใช้ bolus 5FU33 Rich34 จากสถาบัน M.D. Anderson Hospital จึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการฉายรังสี
4,500 cGy/25 fraction ในระยะเวลา 5 สัปดาห์ ร่วมกับการใช้ continuous infusion ของ 5FU
(250 mg/m2/d) ตลอดช่วงระยะเวลาของการฉายรังสี แล้วจึงตามด้วยการทำผ่าตัด ซึ่งกำลังรวบรวมผลการศึกษาอยู่ และคงจะทราบคำตอบในช่วงเวลาอันใกล้นี้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจาก MSKCC35,36 ที่ใช้การฉายรังสีร่วมกับ 5FU และ low-dose leucovorin ก่อนทำผ่าตัด ซึ่งพบว่ามีการตอบสนองอย่างสมบูรณ์ (complete response) ถึง 19% และทำให้มีอัตราการทำผ่าตัดออกได้หมด 100% แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือพบมีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่เป็น grade 3 toxicity ทั้งหมด 20% ที่พบบ่อยคือ ท้องเสีย (diarrhea), ปวดท้องปวดเบ่งรุนแรง (tenesmus) และผิวหนังเปื่อยแดง (erythema)
จากข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ชี้แนะว่าการฉายรังสีร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัดก่อนทำการ
ผ่าตัด จะเพิ่มโอกาสของการทำผ่าตัดอย่างสมบูรณ์ (complete resection) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในภาวะที่ไม่สามารถทำผ่าตัดได้ตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเป็นผลจากการที่มีการตอบสนองที่ดีของการรักษาก่อนการทำผ่าตัด และพบอุบัติการของการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองลดลง ทำให้มีการควบคุมโรคเฉพาะที่ได้ดีขึ้น แต่อัตราการรอดชีวิตนั้นยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด ซึ่งยังคงต้องมีการติดตามผลการศึกษาต่อไป


[Previous] Toxicity
[Next] Combined Pre and Postoperative Radiation
[Up] Preoperative Radiotherapy in Rectal Adenocarcinoma
[Home] Home Page

Last modified on 25 October 1996