เวิร์ลไวด์เว็บ: เครือข่ายใยแมงมุม

เครือข่ายใยแมงมุมอะไร?

เวิร์ลไวด์เว็บ (World Wide Web) หรือเครือข่ายใยแมงมุม (ซึ่งที่จริงควรแปลให้ถูกว่า "ใยแมงมุม
ทั่วโลก" แต่คงฟังดูแปลก) เป็นส่วนของอินเทอร์เน็ตที่ร้อนที่สุดในเวลานี้ และกำลังจะกลืนเอาส่วนอื่นๆ
ของอินเทอร์เน็ตเข้าไปรวมไว้จนหมด ลักษณะของเครือข่ายใยแมงมุมนี้ก็คือว่า เป็นฐานข้อมูลแบบ
หลายสื่อ (multimedia) ที่มีลักษณะเป็น ไฮเปอร์เท็กซ์

เวิร์ลไวด์เว็บถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมีโครงการทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในทวีปยุโรป โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ CERN ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยทางนิวเคลียร์ฟิสิกส์
ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ที่ได้รับเกียรติเป็นบิดาของเวิร์ลไวด์เว็บได้แก่ Tim Berners-Lee
ทิมได้คิดโครงการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารขึ้้นมา โดยใช้ระบบไฮเปอร์เท็กซ์ และโครงการ
ของเขาก็ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยจนเขากลายเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ไป ปัจจุบันนี้ทิมทำงานอยู่ที่
World Wide Web Consortium หรือชื่อย่อว่า W3C ซึ่งเป็นองค์กรศูนย์กลางของเครือข่าย
ใยแมงมุมทำหน้าที่รับรอบมาตรฐานต่างๆของระบบทั้งหมด

*นิสิตสามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเครือข่ายใยแมงมุมโดยละเอียด
ประวัติของเวิร์ลไวด์เว็บ ประวัติของเวิร์ลไวด์เว็บอีกที่หนึ่ง เรียงตามเวลา รวมทั้งทำความรู้จักกับทิม เบอร์เนอร์-ลีได้ที่นี่

ต่อมาการแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ก็แพร่หลายไปในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และในปัจจุบันนี้เวิร์ลไวด์เว็บก็เป็นระบบ
ที่ก้าวหน้าที่สุดบนอินเทอร์เน็ต สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบไฮเปอร์เท็กซ์ ซึ่งทำให้แหล่งข้อมูลต่างๆ
ถูกนำมาเชื่อมต่อกันได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันมากก็ตาม นอกจากนี้ข้อมูลที่มาเชื่อมกันในไฮเปอร์เท็กซ์
ยังรวมไปถึงรูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว ตลอดจนไฟล์คอมพิวเตอร์แบบต่างๆเช่นโปรแกรมหรือไฟล์ของ
โปรแกรมต่างๆ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ระบบไฮเปอร์เท็กซ์มีพลังและง่ายต่อการใช้มาก

ข้อมูลต่างๆบนเวิร์ลไวด์เว็บติดต่อเชื่อมโยงกันได้ด้วยการใช้โปรโตคอลคือ HTTP ซึ่งย่อมาจาก
Hypertext Transport Protocol ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของ
TCP/IP อีกเช่นกัน

ภาษาของเวิร์ลไวด์เว็บ และการกำหนดที่อยู่

ข้อมูลที่มีลักษณะเป็นไฮเปอร์เท็กซ์จะแสดงให้เป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีการตกลงรับรู้กันว่าจะมีการใช้
ลักษณะแบบนี้ ดังนั้นเวิร์ลไวด์เว็บจึงตั้งอยู่บนภาษาพิเศษภาษาหนึ่ง สำหรับใช้จัดการกับไฮเปอร์เท็กซ์
โดยตรง ภาษานี้ชื่อว่า Hypertext Markup Language หรือย่อๆว่า HTML ลักษณะสำคัญของภาษา
นี้ก็คือว่า มีการกำหนดว่าเมื่อจะแสดงข้อมูลหรือ "หน้า" ต่างๆแก่ผู้ใช้ที่กำลังสืนค้นข้อมูลนั้น จะแบ่งส่วน
แสดงข้อมูลนั้นอย่างไร และส่วนใดจะถือว่าเป็นส่วนที่เชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลหรือไฟล์อื่นๆบนอินเทอร์เน็ต หน้า
ที่นิสิตกำลังอ่านอยู่นี้ ก็เขียนด้วยภาษา HTML เช่นเดียวกัน ถ้านิสิตอยากจะเสนอข้อมูลใดๆบนเวิร์ลไวด์เว็บ
ก็จำเป็นที่นิสิตต้องเรียนรู้ภาษานี้

นอกจากนี้ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของเวิร์ลไวด์เว็บก็ได้แก่ การกำหนดที่อยู่ของข้อมูลต่างๆเพื่อที่เราจะ
สามารถไปสืบค้นได้ การกำหนดเช่นนี้ก็มีระบบพิเศษอีกเหมือนกันเรียกว่า URL หรือ Uniform Resource Locator
ลักษณะของ URL จะเป็นเช่นนี้

http://pioneer.chula.ac.th/~hsoraj/net/Internet5.html

ส่วนแรกคือ 'http://' หมายถึงลักษณะของโปรโตคอลที่ใช้ติดต่อกับข้อมูลนี้ 'pioneer.netserv.chula.ac.th' หมาย
ถึงชื่อของเครื่องแม่ข่ายที่ข้อมูลนี้อาศัยอยู่ ส่วน '/~hsoraj/net/' ก็คือชื่อของไดเร็คตอรี่ที่ซ้อนลงมา
เรื่อยๆเพื่อลงมาถึงไฟล์ข้อมูล ซึ่งในที่นี้ได้แก่ 'Internet5.html' จะสังเกตว่าไฟล์ที่มีส่วนขยายหลังจุด
ว่า html หมายความว่าเป็นไฟล์ที่เขียนด้วยภาษาไฮเปอร์เท็กซ์คือ HTML นั่นเอง

การใช้ระบบเครือข่ายใยแมงมุม

ในปัจจุบันเครือข่ายใยแมงมุมมิได้จำกัดตนเองอยู่แต่ในวงวิชาการเท่านั้น แต่ได้แพร่กระจายไปยังส่วน
ต่างๆของสังคม เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดแล้ว เครือข่ายนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในโลกธุรกิจ ดัง
นิสิตจะเห็นได้เวลาดูทีวี จะมีบางช่องคือช่องห้ากับช่องเจ็ด ที่ประกาศตัวเองอยู่บนเวิร์ลไวด์เว็บด้วย
ในการติดต่อกับข้อมูลอันหลากหลายของเวิร์ลไวด์เว็บนี้ เราใช้โปรแกรมที่เรียกว่า browser ซึ่งทำหน้า
ที่ให้เครื่องของเราเหมือนกับเครื่องลูกข่ายที่ติดต่อผ่านระบบเครือข่ายไปยังระบบของเวิร์ลไวด์เว็บโดยตรง

โปรแกรม browser นี้ก็มีให้ใช้ในระบบปฏิบัติการต่างๆกัน แต่ส่วนมากจะมีโปรแกรม
ของบริษัทหรือขององค์กรเดียวกันผลิตที่มีหลายภาคสำหรับใช้กับระบบต่างๆกัน
โปรแกรมที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้จุดประกายความนิยม
ของเวิร์ลไวด์เว็บให้เป็นสิ่งที่ร้อนมากๆในปัจจุบันก็ได้แก่ Mosaic ซึ่งผลิตโดยองค์กร NCSA ย่อมาจาก
Natioal Center for Supercomputing Applications ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เมือง
เออร์บานาและแชมเปญ (ชื่อเมือง ไม่ใช่ชื่อเหล้า) สหรัฐอเมริกา

แต่ต่อมาก็มีโปรแกรมของหน่วยงานอื่นผลิตมาแข่ง และในปัจจุบันนี้ browser ที่ได้ชื่อว่ายอดนิยม
และแข่งขันกันอยู่อย่างรุนแรงได้แก่  Navigator และ  Internet Explorer โดยโปรแกรมแรกเป็นของ
บริษัท Netscape (จึงทำให้คนรู้จักชื่อโปรแกรมนี้ว่า Netscape แต่จริงแล้วเป็นชื่อบริษัท ส่วนโปรแกรม
หลังเป็นของบริษัท Microsoft

*

นิสิตสามารถดูภาพหน้าจอของโปรแกรม Navigator
กับของโปรแกรม Mosaic ได้ที่นี่

ทั้งสามโปรแกรมที่กล่าวมามีลักษณะร่วมกันคือเป็น browser แบบมีรูปภาพ หรือแบบหลายสื่อ
หมายความว่าผู้ใช้สามารถชมรูปภาพ หรือฟังเสียงได้บนเครื่องที่ใช้โปรแกรมเหล่านี้โดยตรง แต่ยังมี
browser อีกแบบหนึ่งที่เป็นแบบตัวอักษรล้วนๆ ซึ่งเหมาะสำหรับเครื่องที่ต่อกับด้วยโปรแกรม
เลียนแบบเทอร์มินัลเท่านั้น โปรแกรมแบบนี้มีรู้จักกันดีได้แก่ lynx ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ไม่มีเครื่องที่มี
ประสิทธิภาพสูง หรือที่ไม่ได้ต่อกับอินเทอร์เน็ตโดยตรงสามารถท่องไปในโลกของเวิร์ลไวด์เว็บได้

[กลับไปหน้าก่อนนี้] [กลับไปหน้าเริ่มต้น]