Radiation Oncology Chulolongkorn University

การดูแลผู้ป่วยภายหลังการรักษาด้วยรังสี


[Previous Page][Next Page][Up][Home Page]


การดูแลผู้ป่วยภายหลังการรักษาด้วยรังสีมีความสำคัญมาก เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข
เหมือนภาวะคนปกติทั่วไป และ/หรือ ป้องกันรักษาอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น การดูแลผู้ป่วย
หลังการรักษาโดยทั่ว ๆ ไป คือ
1. ภายหลังเอาแร่ออกใหม่ ๆ ผู้ป่วยมักมีอาการตกขาวปนเลือด และมีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอด
แนะนำให้ผู้ป่วยสวนล้างช่องคลอดเองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น dettol ผสมน้ำสวนล้างช่องคลอด โดยใช้
ลูกสูบยาง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จนกว่าอาการหายไป ถ้ามีการอับเสบมากอาจต้องให้ยาปฏิชีวนะด้วย
2. ตรวจภายในหลังเสร็จสิ้นการรักษา 4-6 สัปดาห์ เพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษา กรณีที่มะเร็ง
ยุบหมดควรพิจารณาทำ Vaginal cytologic study ด้วย นอกจากนี้จะต้องตรวจร่างกายส่วนอื่นอย่างละเอียด
ด้วย เช่น ตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ตับ และต่อมน้ำเหลืองที่ไหลปลาร้าทั้ง 2 ข้าง และ
อาจทำการตรวจเอ็กซเรย์ของปอด (chest x-ray) เป็นครั้งคราว ในผู้ป่วยที่มี atrophy ของผนังช่องคลอด
และมี adhesion ของช่องคลอดส่วนบน ควรใช้นิ้วแยกออก เพื่อป้องกันไม่ให้ช่องคลอดตีบตัน สะดวก
แก่การตรวจดูว่ามีมะเร็งกำเริบขึ้นใหม่หรือไม่ รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการร่วมเพศ
การติดตามผู้ป่วยหลังการรักษา ควรทำทุกเดือนในระยะ 6-12 เดือนแรก ต่อไปอาจทำทุก
3-4 เดือนในปีที่ 2 ทุก 4-6 เดือนในปีที่ 3 และ ทุก 6 เดือนหลังจาก 3 ปีแล้ว ทั้งนี้อาศัยหลักการและ
เหตุผลที่ว่าส่วนใหญ่ของการกำเริบของโรคจะเกิดขึ้นภายใน 3 ปีแรกหลังการรักษา 5,33,40,41
3. เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคแล้ว ควรแนะนำให้ร่วมเพศกับสามีได้ตามปกติ โดยทั่วไปประมาณ
3 เดือน หลังจากการรักษาด้วยรังสีครบแล้ว เนื่องจากเนื้อเยื่อมะเร็งจะสลายตัวหมดแล้วในช่วงนี้ และ
ปฏิกริยาต่าง ๆ ในระยะเฉียบพลันก็ฟื้นตัวเต็มที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องอธิบายให้สามีผู้ป่วยทราบ
เพราะทั้งคนไข้และสามีมักจะกังวลกลัวคิดว่าเป็นโรคติดต่อ กลัวเจ็บหรือกลัวว่าจะมีผลทำให้โรคกำเริบ
แต่การร่วมเพศต้องไม่ใช้วิธีที่รุนแรง เนื่องจากตัวช่องคลอดในภาวะหลังการรักษาด้วยรังสีแล้วจะมี
ความยืดหยุ่นตัวน้อย บางครั้งอาจต้องใช้ครีมหล่อลื่นช่วย ผู้เขียนมักพบเสมอว่า สามีหนีไปแต่งงานหรือ
มีแฟนใหม่ อาจเกิดจากรังเกียจกลัวติดต่อหรือไม่สามารถร่วมเพศกับภรรยา หรือในบางครั้งฝ่ายผู้ป่วย
เองยินยอมให้สามีไปมีแฟนใหม่ ทำให้มีปัญหาครอบครัวแตกแยกขึ้นมาได้ ทั้งนี้ควรอธิบายให้ผู้ป่วย
และสามี มีความเข้าใจตั้งแต่ต้น ก่อนเริ่มการรักษาด้วยรังสี เพื่อความสุขของครอบครัวต่อไปในอนาคต
4. แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งให้ยาบำรุงประเภท multivitamin
และแร่เหล็กเพื่อแก้ภาวะเลือดจาง หากซีดมากควรให้เลือดทดแทน


[Previous]

ภาวะแทรกซ้อนของรังสีรักษาและการดูแลรักษา

[Next]

Carcinoma of the cervical stump

[Up]

รังสีรักษา (Radiation Therapy)

[Home]

Home Page

Last modified on 25 October 1996